จี้ฝ่ายบริหารแก้ไขด่วน!เผยผลสำรวจสตง.ชำแหละสคบ.-สัมภาษณ์ปชช.529คนกว่าครึ่งตอบ'ไม่รู้จัก'
เผยผลสอบ สตง. ชำแหละ สคบ. พบการเสริมสร้างภาคีเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จ ขณะที่ผลสำรวจความเห็น ประชาชนจำนวน 529 ราย คำตอบกว่าครึ่งไม่รู้จักองค์กรนี้ ส่วนประเด็นเรื่องสิทธิของผู้บริโภคกว่า74.29% ไม่เคยทราบเช่นกัน จี้ฝ่ายบริหารปรับปรุงแนวทางดำเนินการใหม่
จากกรณี สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภค ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักนายกรัฐมนตรี พบปัญหาการดำเนินงานจำนวนมาก อาทิ การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนล่าช้า การติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจยังไม่ครอบคลุม การดำเนินงานของศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัยยังประสบปัญหาบางประการ เป็นต้น โดยในส่วนของการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของ สคบ. ตั้งแต่ปี 2551-2559 ข้อมูล ณ วันที่ 26 ส.ค.2559 พบว่าสคบ.ยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคได้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแนวทางการปฏิบัติงาน เมื่อพิจารณาถึงสถานภาพของเรื่องร้องเรียนก่อนปีงบประมาณ 2559 ที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินงาน พบว่า เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่คงค้างอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ 2,109 เรื่อง รองลงมาเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยชั้นเจ้าหน้าที่ 1,230 เรื่อง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างรอให้ผู้ประกอบธุรกิจชี้แจงข้อเท็จจริง/แนวทางการแก้ไขปัญหาจำนวน 725 เรื่อง และอยู่ระหว่างรอให้ผู้ร้องส่งเอกสาร/ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจำนวน 700 เรื่อง (อ่านประกอบ : ยอดร้องเรียนค้าง2พันเรื่อง!สตง.ชี้ผลดำเนินงานสคบ.ปัญหาเพียบ-จี้ปกป้องสิทธิผู้บริโภค)
แหล่งข่าวจาก สตง. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า ในรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานที่สตง.แจ้งถึงผู้บริหาร สคบ. ให้รับทราบและพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานให้ดีขึ้นนั้น มีการระบุถึงข้อตรวจสอบเกี่ยวกับ การเสริมสร้างภาคีเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่สามารถขยายเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนได้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจากการตรวจสอบ พบว่า มีเพียงเครือข่ายในสถานศึกษาที่ สคบ.ได้ดำเนินการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ขณะที่การส่งเสริมเครือข่ายภาคประชาชน สคบ. มีการส่งเสริม ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากการสุ่มตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมชมรมคุ้มครองผู้บริโภคในสถานศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 44 แห่ง ในพื้นที่ 10 จังหวัด พบว่า โรงเรียนที่สุ่มตรวจสอบส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งชมรม โดยมีโรงเรียน 16 แห่ง ที่ยังคงดำเนินกิจกรรมชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันดำเนินการเพียงกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น
ขณะที่จากการสัมภาษณ์ประชาชนของ สตง. จำนวน 529 คน ในพื้นที่จังหวัดที่สุ่มตรวจสอบ 10 จังหวัด พบว่า ประชาชนจำนวน 393 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 74.29 ไม่ทราบถึงสิทธิของผู้บริโภคขณะที่ประชาชนจำนวน 265 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 50.09 ไม่รู้จัก สคบ. และประชาชนที่ถูกสัมภาษณ์ ส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงสิทธิผู้บริโภคของตนเองเมื่อถูกละเมิด โดยประชาชนจำนวน 220 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 75.60 ของประชาชนที่ถูกสัมภาษณ์ที่เคยถูกละเมิดสิทธิ
นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์ประชาชนในประเด็นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค พบว่า มีประชาชน247 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 46.69 ที่เคยได้รับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค และมีประชาชนเพียง 30 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.67 ที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคจากช่องทางของ สคบ.
เบื้องต้น สตง.ได้แจ้งข้อเสนอแนะให้ฝ่ายบริหาร สคบ. พิจารณารวบรวมและจัดทำข้อมูลเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการจัดกิจกรรมส่งเสริมและขยายเครือข่ายการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน รวมถึงพิจารณาปรับปรุงการดำเนินการส่งเสริมชมรมคุ้มครองผู้บริโภคในสถานศึกษา ให้สอดคล้องกับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สพฐ.และปรับปรุงฐานข้อมูลชมรมคุ้มครองผู้บริโภคในสถานศึกษาให้เป็นปัจจุบัน กรณีที่ สคบ. มีแนวนโยบายปรับปรุงรูปแบบการส่งเสริมชมรมคุ้มครองผู้บริโภคในสถานศึกษา ควรพิจารณาทบทวนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สพฐ. ในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของชมรมคุ้มครองผู้บริโภคในสถานศึกษาเพื่อให้เป็นในทิศทางเดียวกับแนวทางการดำเนินงานของ สคบ. เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ยั่งยืน และควรปรับปรุงข้อมูลการดำเนินงานของชมรมฯ ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อทราบถึงการดำเนินการอยู่หรือยุติการดำเนินงานแล้ว เพื่อประกอบการนำไปใช้ส่งเสริมเครือข่ายในอนาคต
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก เดลินิวส์