เผยสอบสตง.ปมอธิการฯมรภ.สุราษฏร์ เอื้อปย.หจก.ขายแอร์100ตัว ถึงมือป.ป.ช.แล้ว
โชว์หนังสือสตง.ฉบับเต็ม ส่งผลสอบปมอธิการฯมรภ.สุราษฏร์ เอื้อปย.หจก.ขายแอร์100ตัว ถึงมือป.ป.ช.แล้ว ระบุข้อกล่าวหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ฮั้ว -เผยล่าสุดเจ้าตัวดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา ระหว่างรอโปรดเกล้าฯ นั่งเก้าอี้ต่ออีก 1 สมัย
จากกรณี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่ลงมติชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงและดำเนินคดีตามกฎหมายกับ ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี (มรส.) กรณีการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศพร้อมติดตั้งจำนวน 100 เครื่อง ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 33/2552 ลงวันที่ 24 กันยายน 2552 กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) คฤหภัณฑ์สุราษฎ์ธานี วงเงิน 3,7000,000 บาท ซึ่งไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ และมีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคา กระทำการโดยมุ่งหวังมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม (อ่านประกอบ : จัดซื้อแอร์100ตัวพ่นพิษ!คตง.ชี้มูล'อธิการฯมรภ.สุราษฎร์'ผิดวินัยร้ายแรง-คดีฮั้ว, ล้วงผลสอบ สตง.ชี้พฤติการณ์ 'อธิการฯมรภ.สุราษฏร์' เอื้อปย.หจก.ขายแอร์100ตัว)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงต้นเดือนเม.ย.2560 ที่ผ่านมา สตง. ได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศพร้อมติดตั้งจำนวน 100 เครื่อง ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี (มรส.) ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี (มรส.) ในข้อกล่าวหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นทางการแล้ว
โดยสตง.ระบุว่า ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์การกระทำความผิดว่า สตง. โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 13 (จังหวัด สุราษฎร์ธานี) ได้ตรวจสอบสืบสวนมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กรณีจัดซื้อเครื่องปรับอากาศพร้อมติดตั้ง จำนวน 100 เครื่อง ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 33/2552 ลงวันที่ 24 กันยายน 2552 กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์ สุราษฎร์ธานี วงเงิน 3,700,000.- บาท พบว่าการจัดซื้อไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ และมีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคา กระทำการโดยมุ่งหวังมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม โดยมหาวิทยาลัยได้จัดซื้อเครื่องปรับอากาศพร้อมติดตั้ง จำนวน 100 เครื่อง โดยวิธีการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 มีผู้ยื่นซองเอกสารประกวดราคา 5 ราย แต่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นเพียงรายเดียว คือ บริษัท เอ็มกรุ๊ป เซอร์วิส แอนด์ ซัพพลาย จำกัด คณะกรรมการประกวดราคา เห็นว่า มีผู้ผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียวทำให้ไม่มีการแข่งขันทางด้านราคา จึงเห็นควรยกเลิกการประกวดราคา
ต่อมามหาวิทยาลัยได้ประกาศประกวดราคาจัดซื้อเป็นครั้งที่ 2 ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 มีผู้ยื่นซองเอกสารประกวดราคา จำนวน 2 ราย แต่ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้นเพียงรายเดียว คือ บริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ คณะกรรมการประกวดราคาจึงมีความเห็นให้เชิญบริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ มาต่อรองราคา แต่ ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสั่งการว่ามีผู้เสนอน้อยรายทำให้มหาวิทยาลัยมีข้อจำกัดในการเลือกสินค้าย่อมไม่เป็นผลดีต่อทางราชการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจึงให้ยกเลิกการประกาศประกวดราคาในครั้งที่ 2
ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2552 เจ้าหน้าที่พัสดุได้ขออนุมัติจัดซื้อโดยพิเศษ โดยอ้างเหตุว่าได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะ (TOR) ของเครื่องปรับอากาศให้สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมและดียิ่งขึ้นและมหาวิทยาลัยได้เปิดใช้อาคารแล้วแต่ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศจึงจำเป็นต้องจัดซื้ออย่างเร่งด่วน เมื่อ ผศ.ดร.ณรงค์ฯ อนุมัติให้มีการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษเจ้าหน้าที่พัสดุได้ทำหนังสือเชิญผู้ค้าให้ ผศ.ดร.ณรงค์ฯ ลงนามโดยหนังสือเชิญไม่มีการระบุชื่อของผู้ค้าที่จะเชิญ โดย ผศ.ดร.ณรงค์ฯ ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่พัสดุเชิญผู้ค้าที่เคยขายเครื่องปรับอากาศให้มหาวิทยาลัยครั้งก่อน ๆ เข้ามาเสนอราคาด้วย เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่พัสดุมีหนังสือเชิญห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์สุราษฎร์ธานี ซึ่งเคยเป็นคู่สัญญาขายเครื่องปรับอากาศให้กับมหาวิทยาลัยให้เข้าเสนอราคาในครั้งนี้ด้วย โดยเจ้าหน้าที่พัสดุได้เชิญผู้ค้า จำนวน 3 ราย มาเสนอราคาในวันที่ 4 กันยายน 2552 ซึ่งประกอบด้วย
1.บริษัท เอ็มกรุ๊ป เซอร์วิส แอนด์ ซัพพลาย จำกัด เสนอเครื่องปรับอากาศ ยี่ห้อ AMENA เสนอราคา 3,999,000 บาท
2. บริษัท ส.พันแสน จำกัด เสนอเครื่องปรับอากาศยี่ห้อ FOCUS เสนอราคา 3,774,425.-บาท
3. ห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์สุราษฎร์ธานี เสนอเครื่องปรับอากาศ ยี่ห้อ SAIJO DENKI เสนอราคา 4,221,000.- บาท
คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษได้พิจารณาด้านคุณสมบัติ รายละเอียดคุณลักษณะครุภัณฑ์และราคาแล้วเห็นว่า บริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ และบริษัท ส.พันแสน จำกัด เสนอรายละเอียดและคุณลักษณะไม่ตรงตามประกาศ จึงมีมติเห็นควรจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องปรับอากาศยี่ห้อ SAIJO DENKI จำนวน 100 เครื่อง จากห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์สุราษฎร์ธานี
แต่บริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ คัดค้านว่าบริษัทฯ มีคุณสมบัติถูกต้อง โดยได้มีหนังสือลงวันที่ 7 กันยายน 2552 ขอให้ทบทวนการพิจารณา
ต่อมาวันที่ 8 กันยายน 2552 คณะกรรมการจัดซื้อฯ ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าบริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ เสนอรายละเอียดครุภัณฑ์ถูกต้อง จึงพิจารณาให้มีสิทธิเสนอราคาในวันเดียวกัน บริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ ได้ส่งเอกสารทางโทรสารเสนอขายเครื่องปรับอากาศ ยี่ห้อ SAIJO DENKI เป็นเงิน 3,700,000.- บาท คณะกรรมการจัดซื้อฯ จึงมีความเห็นให้เชิญ บริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ และห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์สุราษฎร์ธานี มาเสนอราคาใหม่ในวันที่ 11 กันยายน 2552 ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ เนื่องจากขั้นตอนการเสนอราคา โดยวิธีพิเศษได้ดำเนินการเสร็จสินแล้วตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2552 การเสนอราคาในวันที่ 11 กันยายน 2552 ทั้งสองรายเสนอเครื่องปรับอากาศ ยี่ห้อ SAIJO DENKI โดยบริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ เสนอราคา 4,215,000.- บาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์สุราษฎร์ธานี เสนอราคา 4,220,000.-บาท คณะกรรมการจัดซื้อฯ จึงมีความเห็นควรจัดซื้อเครื่องปรับอากาศจากบริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดโดยบริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ ยินดีลดราคาให้คงเหลือ 3,898,000.- บาท
แต่ ผศ.ดร.ณรงค์ฯ กลับสั่งการให้ทบทวน คณะกรรมการจัดซื้อฯ จึงได้ไปต่อรองราคากับห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์สุราษฎร์ธานี ลดราคา ให้คงเหลือ 3, 700,000.- บาท และมีความเห็นควรจัดซื้อจากห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์สุราษฎร์ธานี โดย ผศ.ดร.ณรงค์ฯ ลงนามเห็นชอบและในวันถัดไปมหาวิทยาลัยได้ทำสัญญาซื้อขายเลขที่ 33/2552 ลงวันที่ 24 กันยายน 2552 ซื้อเครื่องปรับอากาศ ยี่ห้อ SAIJO DENKI พร้อมติดตั้ง จำนวน 100 เครื่อง จากห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์ สุราษฎร์ธานี ราคา 3,700,000.- บาท แต่ระหว่างการติดตั้งเครื่องปรับอากาศบางส่วนผู้ขายไม่สามารถติดตั้งได้เนื่องจากอาคารบางหลัง ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง จึงได้มีการแก้ไขสัญญาเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ
จากกรณีดังกล่าว สตง. เห็นว่าการที่มหาวิทยาลัยดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ โดยอ้างเหตุจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากมีความจำเป็นเร่งด่วนจริงตามที่กล่าวอ้างที่มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศได้ตั้งแต่การดำเนินการจัดซื้อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ครั้งที่ 1 หรือ ครั้งที่ 2 ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ 0506/ว 333 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2551 เรื่อง ขอขยายระยะเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ที่กำหนดไว้ว่าหากมีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว และคณะกรรมการประกวดราคามีเหตุผลสมควรที่จะดำเนินการต่อไป ให้คณะกรรมการต่อรองราคากับผู้เสนอราคานั้นเพื่อดำเนินการต่อไป การที่มหาวิทยาลัยจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องปรับอากาศโดยทางอิเล็กทรอนิกส์ 2 ครั้ง โดยมีบริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นทั้งสองครั้ง ซึ่งในการจัดซื้อครั้งที่ 2 คณะกรรมการประกวดราคาได้มีความเห็นควรจัดซื้อจากบริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ แต่ ผศ.ดร.ณรงค์ฯ กลับมีคำสั่งให้ยกเลิกเพื่อนำมาเป็นสาเหตุเพื่อจัดซื้อโดยวิธีพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นข้อ 23 (8) กรณีจัดซื้อโดยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลดี การที่คณะกรรมการจัดซื้อฯมีความเห็นควรจัดซื้อจากบริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ แต่ ผศ.ดร.ณรงค์ฯกลับสั่งให้ทบทวนเป็นสาเหตุให้คณะกรรมการจัดซื้อฯเรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์สุราษฎร์ธานี ต่อรองราคาและมีความเห็นควรจัดซื้อเครื่องปรับอากาศจากห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์ สุราษฎร์ธานี
จากพฤติการณ์ดังกล่าวน่าเชื่อว่า ผศ.ดร.ณรงค์ฯ กระทำการใดๆโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและกระทำการใดๆ เพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่ห้างหุ้นส่วน จำกัด คฤหภัณฑ์ สุราษฎร์ธานี ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต (ดูหนังสือ สตง.ฉบับเต็มประกอบ)
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริงของป.ป.ช. ยังไม่มีการชี้มูลความผิด ผศ.ดร.ณรงค์ จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี (มรส.) มีรองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ เอกเพชร ทำหน้าที่รักษาราชการแทนอธิการบดีฯ อยู่ ส่วนผศ.ดร.ณรงค์ อยู่ระหว่างรอโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี (มรส.) อีก 1 วาระ โดยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอธิการบดีอยู่ในขณะนี้