- Home
- Isranews
- เรื่องเด่น - สำนักข่าวอิศรา
- ล้วงผลสอบ สตง.ชี้พฤติการณ์ 'อธิการฯมรภ.สุราษฏร์' เอื้อปย.หจก.ขายแอร์100ตัว
ล้วงผลสอบ สตง.ชี้พฤติการณ์ 'อธิการฯมรภ.สุราษฏร์' เอื้อปย.หจก.ขายแอร์100ตัว
"...ในหนังสือสตง.ที่แจ้งถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว มีการระบุว่า ทราบว่าปัจจุบันผศ.ดร.ณรงค์ ได้รับการสรรหาให้กลับเข้าตำแหน่งอธิการบดี อีกวาระหนึ่งเพื่อรับโปรดเกล้าแต่งตั้ง จึงเห็นสมควรแจ้งเรื่องนี้ให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับทราบเพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนการดำเนินการต่อไปตามควรแก่กรณีด้วย.."
ปัญหาการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศพร้อมติดตั้งจำนวน 100 เครื่อง วงเงิน 3.7 ล้านบาท ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี (มรส.) ช่วงปี 2552 กำลังถูกจับตามอง!
ภายหลังจากที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่ลงมติชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงและดำเนินคดีตามกฎหมายกับ ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี (มรส.) (ช่วงปี 2552 ) ฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จากกรณีการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศพร้อมติดตั้งจำนวน 100 เครื่อง ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 33/2552 ลงวันที่ 24 กันยายน 2552 กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) คฤหภัณฑ์สุราษฎ์ธานี วงเงิน 3,7000,000 บาท ซึ่งไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ และมีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคา กระทำการโดยมุ่งหวังมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม โดยเบื้องต้น สตง.ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว
(อ่านประกอบ : จัดซื้อแอร์100ตัวพ่นพิษ!คตง.ชี้มูล'อธิการฯมรภ.สุราษฎร์'ผิดวินัยร้ายแรง-คดีฮั้ว)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลปัญหาการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศพร้อมติดตั้งจำนวน 100 เครื่อง ของ มรส. ดังกล่าว พบว่า มีจุดเริ่มต้นจากการที่ สตง. โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 13 (จังหวัด สุราษฎร์ธานี) ได้ตรวจสอบสืบสวนมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กรณีจัดซื้อเครื่องปรับอากาศพร้อมติดตั้ง จำนวน 100 เครื่อง ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 33/2552 ลงวันที่ 24 กันยายน 2552 กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์ สุราษฎร์ธานี วงเงิน 3,700,000.- บาท พบว่าการจัดซื้อไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ และมีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคา กระทำการโดยมุ่งหวังมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม โดยมหาวิทยาลัยได้จัดซื้อเครื่องปรับอากาศพร้อมติดตั้ง จำนวน 100 เครื่อง โดยวิธีการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 มีผู้ยื่นซองเอกสารประกวดราคา 5 ราย แต่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นเพียงรายเดียว คือ บริษัท เอ็มกรุ๊ป เซอร์วิส แอนด์ ซัพพลาย จำกัด คณะกรรมการประกวดราคา เห็นว่า มีผู้ผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียวทำให้ไม่มีการแข่งขันทางด้านราคา จึงเห็นควรยกเลิกการประกวดราคา
ต่อมามหาวิทยาลัยได้ประกาศประกวดราคาจัดซื้อเป็นครั้งที่ 2 ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 มีผู้ยื่นซองเอกสารประกวดราคา จำนวน 2 ราย แต่ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้นเพียงรายเดียว คือ บริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ คณะกรรมการประกวดราคาจึงมีความเห็นให้เชิญบริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ มาต่อรองราคา แต่ ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสั่งการว่ามีผู้เสนอน้อยรายทำให้มหาวิทยาลัยมีข้อจำกัดในการเลือกสินค้าย่อมไม่เป็นผลดีต่อทางราชการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจึงให้ยกเลิกการประกาศประกวดราคาในครั้งที่ 2
ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2552 เจ้าหน้าที่พัสดุได้ขออนุมัติจัดซื้อโดยพิเศษ โดยอ้างเหตุว่าได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะ (TOR) ของเครื่องปรับอากาศให้สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมและดียิ่งขึ้นและมหาวิทยาลัยได้เปิดใช้อาคารแล้วแต่ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศจึงจำเป็นต้องจัดซื้ออย่างเร่งด่วน เมื่อ ผศ.ดร.ณรงค์ฯ อนุมัติให้มีการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษเจ้าหน้าที่พัสดุได้ทำหนังสือเชิญผู้ค้าให้ ผศ.ดร.ณรงค์ฯ ลงนามโดยหนังสือเชิญไม่มีการระบุชื่อของผู้ค้าที่จะเชิญ โดย ผศ.ดร.ณรงค์ฯ ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่พัสดุเชิญผู้ค้าที่เคยขายเครื่องปรับอากาศให้มหาวิทยาลัยครั้งก่อน ๆ เข้ามาเสนอราคาด้วย เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่พัสดุมีหนังสือเชิญห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์สุราษฎร์ธานี ซึ่งเคยเป็นคู่สัญญาขายเครื่องปรับอากาศให้กับมหาวิทยาลัยให้เข้าเสนอราคาในครั้งนี้ด้วย โดยเจ้าหน้าที่พัสดุได้เชิญผู้ค้า จำนวน 3 ราย มาเสนอราคาในวันที่ 4 กันยายน 2552 ซึ่งประกอบด้วย
1.บริษัท เอ็มกรุ๊ป เซอร์วิส แอนด์ ซัพพลาย จำกัด เสนอเครื่องปรับอากาศ ยี่ห้อ AMENA เสนอราคา 3,999,000 บาท
2. บริษัท ส.พันแสน จำกัด เสนอเครื่องปรับอากาศยี่ห้อ FOCUS เสนอราคา 3,774,425.-บาท
3. ห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์สุราษฎร์ธานี เสนอเครื่องปรับอากาศ ยี่ห้อ SAIJO DENKI เสนอราคา 4,221,000.- บาท
คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษได้พิจารณาด้านคุณสมบัติ รายละเอียดคุณลักษณะครุภัณฑ์และราคาแล้วเห็นว่า บริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ และบริษัท ส.พันแสน จำกัด เสนอรายละเอียดและคุณลักษณะไม่ตรงตามประกาศ จึงมีมติเห็นควรจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องปรับอากาศยี่ห้อ SAIJO DENKI จำนวน 100 เครื่อง จากห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์สุราษฎร์ธานี
แต่บริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ คัดค้านว่าบริษัทฯ มีคุณสมบัติถูกต้อง โดยได้มีหนังสือลงวันที่ 7 กันยายน 2552 ขอให้ทบทวนการพิจารณา
ต่อมาวันที่ 8 กันยายน 2552 คณะกรรมการจัดซื้อฯ ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าบริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ เสนอรายละเอียดครุภัณฑ์ถูกต้อง จึงพิจารณาให้มีสิทธิเสนอราคาในวันเดียวกัน บริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ ได้ส่งเอกสารทางโทรสารเสนอขายเครื่องปรับอากาศ ยี่ห้อ SAIJO DENKI เป็นเงิน 3,700,000.- บาท คณะกรรมการจัดซื้อฯ จึงมีความเห็นให้เชิญ บริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ และห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์สุราษฎร์ธานี มาเสนอราคาใหม่ในวันที่ 11 กันยายน 2552 ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ เนื่องจากขั้นตอนการเสนอราคา โดยวิธีพิเศษได้ดำเนินการเสร็จสินแล้วตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2552 การเสนอราคาในวันที่ 11 กันยายน 2552 ทั้งสองรายเสนอเครื่องปรับอากาศ ยี่ห้อ SAIJO DENKI โดยบริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ เสนอราคา 4,215,000.- บาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์สุราษฎร์ธานี เสนอราคา 4,220,000.-บาท คณะกรรมการจัดซื้อฯ จึงมีความเห็นควรจัดซื้อเครื่องปรับอากาศจากบริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดโดยบริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ ยินดีลดราคาให้คงเหลือ 3,898,000.- บาท
แต่ ผศ.ดร.ณรงค์ฯ กลับสั่งการให้ทบทวน คณะกรรมการจัดซื้อฯ จึงได้ไปต่อรองราคากับห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์สุราษฎร์ธานี ลดราคา ให้คงเหลือ 3, 700,000.- บาท และมีความเห็นควรจัดซื้อจากห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์สุราษฎร์ธานี โดย ผศ.ดร.ณรงค์ฯ ลงนามเห็นชอบและในวันถัดไปมหาวิทยาลัยได้ทำสัญญาซื้อขายเลขที่ 33/2552 ลงวันที่ 24 กันยายน 2552 ซื้อเครื่องปรับอากาศ ยี่ห้อ SAIJO DENKI พร้อมติดตั้ง จำนวน 100 เครื่อง จากห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์ สุราษฎร์ธานี ราคา 3,700,000.- บาท แต่ระหว่างการติดตั้งเครื่องปรับอากาศบางส่วนผู้ขายไม่สามารถติดตั้งได้เนื่องจากอาคารบางหลัง ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง จึงได้มีการแก้ไขสัญญาเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ
จากกรณีดังกล่าว สตง. เห็นว่าการที่มหาวิทยาลัยดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ โดยอ้างเหตุจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากมีความจำเป็นเร่งด่วนจริงตามที่กล่าวอ้างที่มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศได้ตั้งแต่การดำเนินการจัดซื้อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ครั้งที่ 1 หรือ ครั้งที่ 2 ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ 0506/ว 333 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2551 เรื่อง ขอขยายระยะเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ที่กำหนดไว้ว่าหากมีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว และคณะกรรมการประกวดราคามีเหตุผลสมควรที่จะดำเนินการต่อไป ให้คณะกรรมการต่อรองราคากับผู้เสนอราคานั้นเพื่อดำเนินการต่อไป การที่มหาวิทยาลัยจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องปรับอากาศโดยทางอิเล็กทรอนิกส์ 2 ครั้ง โดยมีบริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นทั้งสองครั้ง ซึ่งในการจัดซื้อครั้งที่ 2 คณะกรรมการประกวดราคาได้มีความเห็นควรจัดซื้อจากบริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ แต่ ผศ.ดร.ณรงค์ฯ กลับมีคำสั่งให้ยกเลิกเพื่อนำมาเป็นสาเหตุเพื่อจัดซื้อโดยวิธีพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นข้อ 23 (8) กรณีจัดซื้อโดยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลดี การที่คณะกรรมการจัดซื้อฯมีความเห็นควรจัดซื้อจากบริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ แต่ ผศ.ดร.ณรงค์ฯกลับสั่งให้ทบทวนเป็นสาเหตุให้คณะกรรมการจัดซื้อฯเรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์สุราษฎร์ธานี ต่อรองราคาและมีความเห็นควรจัดซื้อเครื่องปรับอากาศจากห้างหุ้นส่วนจำกัด คฤหภัณฑ์ สุราษฎร์ธานี
จากพฤติการณ์ดังกล่าวน่าเชื่อว่า ผศ.ดร.ณรงค์ฯ กระทำการใดๆโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและกระทำการใดๆ เพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่ห้างหุ้นส่วน จำกัด คฤหภัณฑ์ สุราษฎร์ธานี ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในการประชุม ครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 และมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบกับผลการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินให้ดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงและดำเนินคดีตามกฎหมายกับ ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุราษฎร์ธานี ฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2524 และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ในหนังสือสตง.ที่แจ้งถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว มีการระบุว่า ทราบว่าปัจจุบันผศ.ดร.ณรงค์ ดังกล่าวได้รับการสรรหาให้กลับเข้าตำแหน่งอธิการบดี อีกวาระหนึ่งเพื่อรับโปรดเกล้าแต่งตั้ง จึงเห็นสมควรแจ้งเรื่องนี้ให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับทราบเพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนการดำเนินการต่อไปตามควรแก่กรณีด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2560 ได้ติดต่อไปยังสำนักงานอธิการมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี (มรส.) เพื่อติดต่อ ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้ติดต่อไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่สามารถติดต่อได้
อย่างไรก็ตาม การติดต่อไปครั้งนี้ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ ว่า ผศ.ดร.ณรงค์ ไม่ได้อยู่ที่นี่ และไม่มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ
“ตอนนี้เราดูแลแค่รักษาการอธิการบดีเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ท่านรักษาการติดภารกิจอยู่ และไม่สะดวกให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ”
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ผศ.ดร.ณรงค์ ถูกชี้มูลความผิดในช่วงดำรงตำแหน่งตำแหน่งอธิการบดี เมื่อปี 2552 ปัจจุบัน ผศ.ดร.ณรงค์ อยู่ระหว่างรอโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งเป็น อธิการมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี (มรส.) สมัยที่ 2 โดยมี ผศ.สมทรง นุ่มนวล ทำหน้าที่รักษาราชการแทนอธิการบดีอยู่
ส่วนกรณีนี้ จะมีผลต่อการขึ้นตำแหน่งอธิการบดี มรส.อีกหนึ่งสมัย ของ ผศ.ดร.ณรงค์ หรือไม่ และ ผศ.ดร.ณรงค์ จะสามารถชี้แจงยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง ในชั้นการตรวจสอบไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. จนหลุดพ้นข้อกล่าวหาได้หรือไม่
คงต้องจับตามองกันต่อไปแบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด!