เผื่อใจถูกเซ็ตซีโร่!ปธ.ป.ป.ช.รับ กม.ลูกใหม่อาจส่งผล 7 กก.พ้นเก้าอี้หลังชงขออยู่ต่อ
ปธ.ป.ป.ช. รับกฎหมายลูกฉบับใหม่ อาจส่งผลให้ กก.ชุดปัจจุบันพ้นตำแหน่งถึง 7 ราย ยันยอมรับกติกา เผื่อใจให้ กก.สรรหาเป็นคนตัดสิน หลังชงในบทเฉพาะกาลขอให้อยู่ต่อ
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2560 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณายกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ .. พ.ศ. …. ว่า เท่าที่เห็นเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ตามที่ กรธ. เสนอมา คิดว่าคงไม่มีผลกระทบอะไรกับ ป.ป.ช. มากนัก เชื่อว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากขึ้น เช่น กำหนดให้ใช้ระยะเวลาไต่สวนแต่ละคดีไม่เกิน 2 ปี เป็นสิ่งที่ ป.ป.ช. เคยเสนอต่อ กรธ. ถึงแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานไปแล้ว แต่ยังห่วงใยว่า บางคดีที่มีพยานหลักฐานมากมาย หรือเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือทางอาญา อาจต้องใช้เวลานานขึ้น เรื่องการเร่งการไต่สวนคดี ป.ป.ช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามปรับปรุงระเบียบการไต่สวน การแสวงหาข้อเท็จจริงมาตลอดให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ยอมรับว่าร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช. อย่างเข้มงวด อาจมีผลทำให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งถึง 7 ราย แต่ผู้ที่จะชี้ขาดจริง ๆ ว่า กรรมการ ป.ป.ช. รายใดบ้างที่จะพ้นตำแหน่งคือ คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ จึงต้องรอดูมติดังกล่าวก่อน
เมื่อถามว่า หากสุดท้ายสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบเนื้อหา พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ตามที่ กรธ. เสนอมา จะขอโต้แย้งเพื่อให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมฯหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะยังเป็นเรื่องอีกไกล ขอรอดูมติ สนช. ก่อนว่า จะให้เหตุผลเช่นใด แต่สุดท้ายไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ป.ป.ช. ยินดีรับกติกาฉบับใหม่ ถ้าต้องพ้นจริง ๆ ถือว่าได้พักผ่อน
อนึ่ง เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา กรธ. ได้ประชุมนอกสถานที่เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับ รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ด้วย โดยนายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. ยืนยันว่า ที่ประชุมพิจารณาหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่แล้ว จะยึดอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเป็นหลัก สำหรับการดำรงอยู่ของกรรมการ ป.ป.ช. นั้น กรธ. จะยึดตามหลักการเดิม คือให้ดำรงอยู่เฉพาะบุคคลที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ (อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอให้ กรธ. พิจารณานั้น ระบุบทเฉพาะกาล มาตรา 219 ให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับนี้ใช้บังคับ ซึ่งไดรับการสรรหาและการแต่งตั้งโดยอาศัยคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปจนกว่าจะถึงคราวออกตามวาระ หรือดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบ 9 ปี โดยไม่นำบทบัญญัติมาตรา 216 และมาตรา 218 แห่งรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับ
ในกรณีที่ตำแหน่งดังกล่าวว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระหรือมีอายุครบกำหนด 70 ปีบริบูรณ์ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติ ให้ดำเนินการสรรหาประธานกรรมการ ป.ป.ช. หรือกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับนี้ต่อไป
และมาตรา 220 ให้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน และในวันที่ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับนี้ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบตำแหน่งตามวาระที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2542
อ่านประกอบ : ข้อมูล-กม.‘เซตซีโร่’องค์กรอิสระ-จับตา ป.ป.ช. ซ้ำรอย กกต. หรือรอดเพราะ‘บทเฉพาะกาล’?
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก คมชัดลึกออนไลน์