การยกเลิกความผิดอาญาเกี่ยวกับการใช้เช็ค แค่ไหนถึงเหมาะสม
ในรายงานของสำนักงานศาลยุติธรรมประจำปี 2547-2551 พบว่า ผลการสุ่มตัวอย่างคดีในช่วงเวลาดังกล่าว 52 คดี พบว่า คดีเช็ค 17.6% ถูกจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากคู่ความไกล่เกลี่ยและยอมความกัน และ 49% ถูกจำหน่ายคดีชั่วคราว
ความผิดเกี่ยวกับการใช้เช็ค มักถูกหยิบขึ้นเป็นมาเป็นตัวอย่าง ของปัญหาการนำคดีขึ้นสู่ศาลเป็นจำนวนมาก และการใช้โทษทางอาญา ไม่เหมาะสมกับความผิดอยู่เสมอๆ
ในอดีต "เช็ค" ถือเป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมชำระหนี้ที่มีความแพร่หลายมากที่สุดวิธีหนึ่ง ปริมาณการใช้เช็คเคยมีอัตราสูงมากถึง 130 ล้านฉบับต่อปี เนื่องจากเช็คมีส่วนสำคัญในการทำธุรกิจการค้า แม้ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีเข้ามาแทนนี้ ปริมาณการใช้เช็คลดลงเรื่อยๆ แต่การกำหนดให้ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาทำให้ในแต่ละปี มีจำนวนคดีความผิดดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหลักพันหลักหมื่นคดี
ตัวเลขที่ยืนยันชัด ปี 2559 มีสถิติคดีอาญา ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2559 พบ ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับเช็คถึง 9,709 คดี
ขณะที่สถิติความผิดเกี่ยวกับเช็ค ที่มีการฟ้องคดีต่อศาล 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2555-2559) พบว่า
ปี 2555 มีปริมาณข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นจำนวน 8,355 คดี ขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ 728 คดี และศาลฏีกา 213 คดี
ปี 2556 มีปริมาณข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นจำนวน 9,530 คดี ขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ 724 คดี และศาลฏีกา 177 คดี
ปี 2557 มีปริมาณข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นจำนวน 10,365 คดี ขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ 745 คดี และศาลฏีกา 164 คดี
ปี 2558 มีปริมาณข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นจำนวน 11,609 คดี ขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ 774 คดี และศาลฏีกา 112 คดี
ปี 2559 (มกราคม-สิงหาคม) มีปริมาณข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นจำนวน 5,154 คดี ยังไม่มีคดีขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ และศาลฏีกา
อีกทั้ง ในรายงานของสำนักงานศาลยุติธรรมประจำปี 2547-2551 พบว่า ผลการสุ่มตัวอย่างคดีในช่วงเวลาดังกล่าว จำนวน 52 คดี พบว่า คดีเช็ค 17.6% ถูกจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากคู่ความไกล่เกลี่ยและยอมความกัน และ49% ถูกจำหน่ายคดีชั่วคราว
ทั้งหมดนี้ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณที่มาจากเงินภาษีของประชาชน เป็นค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรม เพื่อการติดตามทวงหนี้ของเอกชน
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตั้ง “คณะอนุกรรมการดำเนินการศึกษาและปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้ประโยชน์จากโทษอาญาตามกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย” คำสั่งที่ 2/2559 มีดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน โดยฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ออกบทวิเคราะห์ความเหมาะสมของการกำหนดโทษอาญา ของพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับเช็คไว้อย่างน่าสนใจ
ในบทวิเคราะห์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหา ศึกษากฎหมายของต่างประเทศ ทั้งประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ความเหมาะสมของการกำหนดโทษอาญา และมาตรการอื่นที่อาจนำมาใช้ทดแทน “โทษอาญา” มีดังนี้
1.มาตรการห้ามทำธุรกรรมทางการเงินเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยห้ามทำธุรกรรมเกี่ยวกับธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด เป็นระยะเวลา 5 ปี แต่หากผู้ออกเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการใช้เงินชำระหนี้ตามเช็คครบถ้วนแล้วก่อนระยะเวลา 5 ปี สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงินจากธนาคารจึงจะคืนดังเดิม
2. มาตรการภายในของธนาคารพาณิชย์ ถือเป็นมาตรการเบื้องต้นที่ใช้กลั่นกรองคุณภาพลูกค้าที่เข้ามาเปิดบัญชีกระแสรายวัน ถือเป็นมาตรการสอดส่องดูแลการใช้เช็ค ซึ่งมาตรการนี้จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ร่วมมือกันกำหนดมาตรการบังคับนี้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในทางธุรกิจ
3. มาตรการภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 โดยนำมาใช้เพื่อพิจารณาอนุมัติการใช้เช็คของลูกค้าธนาคาร ซึ่งต้องประกาศให้การใช้เช็ค เป็น “สินเชื่อ” ตามมาตรา 3 แห่งพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตฯ หรือแก้ไขบทนิยามคำว่า “ข้อมูลเครดิต” ให้รวมถึง “ข้อมูลประวัติการใช้เช็คหรือเช็คที่ถูกปฏิเสธ อันเนื่องมาจากไม่มีเงินเพียงพอในบัญชีด้วย” โดยประเทศที่กำหนดให้ข้อมูลเครดิตครอบคลุมถึงประวัติการใช้เช็คด้วย เช่น ออสเตรเลีย และแคนนาดา
ท้ายๆ บทวิเคราะห์ เห็นว่า ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คควรกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะ กรณีที่ผู้กระทำมีเจตนาทุจริตเท่านั้น ส่วนกรณีไม่มีเจตนาทุจริต อาจใช้มาตรการอื่นแทนได้
ขอบคุณภาพจาก:https://news.steuerfinder.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: