กฤษฎีกา เปิดเวทีวิเคราะห์ผลกระทบก่อนออกกม. เล็งเสนอลดโทษอาญา ใช้โทษทางเลือกแทน
กฤษฎีกา เปิดเวทีอภิปราย-วิพากษ์ "หลักเกณฑ์การกำหนดโทษอาญาในการตรากฎหมาย" ดิสทัต โหตระกิตย์ ชี้สภาพการณ์บังคับใช้กฎหมายมีความรุนแรง ส่งผลภาครัฐใช้ทรัพยากรจำนวนมาก กระทบประชาชน กระทั่่งนักโทษล้นคุก ดร.คณิต แนะก่อนปรับปรุงกฎหมายใดๆ ให้สำรวจกฎหมายอาญาก่อนมีอะไรบ้างดี ไม่ดี ยันหลายมาตราควรยกเลิก
วันที่ 13 กันยายน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จัดสัมมนาเรื่อง "หลักเกณฑ์การกำหนดโทษอาญาในการตรากฎหมาย" หนึ่งในโครงการสัมมนาการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและถ่ายทอดประสบการณ์ของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการจัดทำร่างกฎหมายและให้คำปรึกษากฎหมาย ณ โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ โดยมีนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวเปิดการสัมมนา
นายดิสทัต กล่าวตอนหนึ่งถึงมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ซึ่งรัฐต้องดำเนินการให้มีกลไกปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้มีประสิทธิภาพ จัดให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น ไม่เป็นภาระแก่ประชาชน และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตรากฎหมาย
“ที่ผ่านมาจากการศึกษากฎหมาย พบว่า สภาพการณ์บังคับใช้กฎหมายมีความรุนแรง ตัวอย่างที่มีการพูดถึงการใช้โทษทางอาญา ไม่เหมาะสมกับความผิด เช่น ความผิดเกี่ยวกับการใช้เช็ค ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ทำให้ภาครัฐใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็กระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชน ส่งผลปริมาณนักโทษล้นคุก” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าว และว่า นี่คือสาเหตุที่ทำให้ต้องมาทบทวนกันเรื่องการกำหนดโทษอาญาของกฎหมาย ทั้งกฎหมายเศรษฐกิจ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสังคม แม้หลายๆ ฉบับเริ่มมีโทษปรับทางแพ่ง และทางปกครองมาใช้แล้วก็ตาม
ด้านนายวรรณชัย บุญบำรุง รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงการกำหนดโทษทางอาญา กรณีในต่างประเทศ อิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส จะมีเกณฑ์ตัวชี้วัด เกณฑ์ความร้ายแรงของการกระทำความผิด จากนั้นนำค่าคะแนนมารวมกัน และจัดกลุ่มอัตราโทษทางอาญา
“การยกร่างกฎหมายของไทย ผู้ร่างกฎหมาย หน่วยงานของรัฐ นิติกรกฤษฎีกาจะดูแต่เพียงว่า มีกลุ่มกฎหมายต่างประเทศอะไรบ้างที่มีโทษใกล้เคียง และนำมากำหนดอัตราโทษ โดยยังไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี ไม่มีการวิเคราะห์เหมือนต่างประเทศที่มีการจัดกลุ่มอัตราโทษ วางเกณฑ์อัตราโทษให้เหมาะสม กลายเป็นว่า วันนี้ผู้ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์สังคมแล้วแต่คุณโชคดีหรือโชคร้าย ไปเจอกฎหมายเบาก็โชคดีไป”
นายวรรณชัย กล่าวถึงการพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐต้องใช้ระบบอนุญาตเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน แต่ที่ผ่านมาพบว่า ใบอนุญาต หรือใบแทน ไม่มี ก็มีโทษทางอาญาแล้ว
“วันนี้ประเทศไทยก้าวหน้าไปอย่างมาก มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรคสาม บัญญัติว่า รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น พึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง ซึ่งสอดคล้องกับสากล”
ขณะที่ดร.คณิต ณ นคร กรรมการกฤษฎีกา และอดีตอัยการสูงสุด กล่าวถึงกฎหมายอาญา เหมือนยาหม่อง ปวดหัวทาขมับ ปวดท้องทาท้อง กฎหมายอาญาดีๆ ถูกแก้จนเสียหายหมด โดยเฉพาะ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ให้นิยามคำว่า “เจตนา ประมาท” ผิดหมด หรือมาตรา 61 วรรคท้าย แทบไม่มีความจำเป็นต้องมีอยู่ควรต้องยกเลิก เพราะหากเราเข้าใจเรื่องเจตนาชัดเจน ก็ไม่ต้องมีมาตรา 61 รวมถึงมาตรา 62 วรรคท้ายด้วย
“ การจะปรับปรุงกฎหมายใดๆ ขอให้สำรวจกฎหมายอาญาก่อนมีอะไรบ้างดี ไม่ดี เช่น พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการจี้เครื่องบิน ซึ่งการจี้เครื่องบินกระทบต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ มีหลักในกฎหมายอาญาแล้ว แต่เราไปออกกฎหมายอื่นๆ เพื่อตั้งองค์กรมาดูแลเรื่องนี้”
ดร.คณิต กล่าวถึงเกณฑ์กำหนดโทษอาญาในรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 บัญญัติให้พึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรงนั้น มองว่า ปัญหาของเราอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม คนล้นคุก และเรื่องการเรียกหลักประกัน โดยเฉพาะเรื่องการเรียกหลักประกันที่ปฏิบัติกันอยู่นั้น ผิดหมด เพราะวิอาญา มาตรา 110 ไม่ได้เรียกร้องหลักประกัน จะเรียกหลักประกัน กลัวคนหนี ยุ่งเหยิง หรือทำผิดอย่างอื่น แต่บ้านเรากระบวนการยุติธรรมกลายเป็นที่ทำมาหากินขององค์กรต่างๆ บริษัทประกันภัย เราต้องมาดูตรงนี้และทำให้ถูกต้อง
“การปรับปรุงโทษทางอาญา ต้องคิดกว้างกว่าเลยไปถึงว่า จะปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมกันอย่างไรด้วย หากทำได้กฎหมายเราจะไม่เฟ้อ”
ด้านดร.ปกป้อง ศรีสนิท กรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา และอนุกรรมการดำเนินการศึกษาและปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้ประโยชน์จากโทษทางอาญาตามกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายเยอะแยะมากมายหลายพันฉบับ หากรวมอนุบัญญัติก็ไม่ต่ำกว่าหมื่นฉบับ ทั้งๆที่ความจริงกฎหมายควรมีเท่าที่จำเป็น
“กฎหมายอาญาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของคนในสังคม หากมีการบังคับใช้ได้อย่างจริงจังสังคมก็จะสงบสุข แต่หากกฎหมายอาญาใดก็ตามออกมาโดยไม่จำเป็น บางเรื่องไม่ควรเป็นอาญา ไม่ควรกำหนดความรับผิด โทษจำคุก โทษปรับ ก็ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย”
ดร.ปกป้อง กล่าวถึงมาตรา 77 วรรคท้าย ในรัฐธรรมนูญ กำหนดความผิดอาญาควรมีเฉพาะกรณีร้ายแรงเท่านั้น ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญใดมาก่อน ในอดีตหน่วยราชการจะกำหนดกฎหมายใหม่ๆ ให้มีโทษทางอาญา เรื่องร้ายแรง เรื่องไม่ร้ายแรงกำหนดโทษทางอาญาจำคุกต่ำหมด เพราะเราถนัดอาญาเป็นหลัก
“วันนี้รัฐธรรมนูญคล้ายๆ จะบอกว่า เรื่องไม่ร้ายแรงให้ไปใช้สภาพบังคับอื่นที่ไม่ใช่ทางอาญา”
ดร.ปกป้อง กล่าวอีกว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้ง “คณะอนุกรรมการดำเนินการศึกษาและปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้ประโยชน์จากโทษอาญาตามกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย” คำสั่งที่ 2/2559 มีดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เบื้องต้นคณะอนุกรรมการชุดนี้มีมติเห็นว่า สภาวการณ์กฎหมายอาญาเฟ้อ (over-criminalisation) สร้างผลเสีย เช่น กฎหมายขาดสภาพบังคับ ทำให้คนไม่เคารพกฎหมาย คดีล้นศาล นักโทษล้นเรือนจำ ประวัติอาชญากรติดตัวไปโดยไม่จำเป็น ล้วนเป็นต้นทุนของสังคม
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในเวทีมีการอภิปรายและวิพากษ์เกณฑ์การกำหนดโทษอาญาในการตรากฎหมาย โดยมีการเสนอแนวกำหนดความผิด อย่างการทุจริตสอบ ควรกำหนดเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ รวมถึงกัญชา ใบกระท่อม ต้องเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ รวมไปถึงกรณีเมาไม่ขับ การห้ามขับรถจะได้ผลมากกว่ากำหนดโทษทางอาญา จำคุก หรือมีการเป่าตรวจวัดแอลกอฮอล์ พร้อมกันนี้มีการเสนอให้ผู้มีหน้าที่โดยตรงบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพิ่มโทษทางเลือก กำหนดอัตราโทษที่เหมาะสม รวมถึงค่าปรับ ควรปรับให้เหมาะกับภาวะเงินเฟ้อ ปรับตามรายได้ เป็นต้น