เปิดสถิติคดีอาญาในชั้นตำรวจ ปี’59 พุ่งกว่า 8.5 แสนคดี
กฎหมายที่ไม่มีคุณภาพสร้างภาระให้กับประชาชนเกินเหตุ และสร้างภาระต้นทุนที่ไม่จำเป็นให้กับการประกอบการของภาคเอกชน และยังกระทบกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 ได้กำหนดกลไกการปฏิรูปด้านกฎหมายไว้อย่างเป็นระบบ โดยกำหนดให้รัฐพึงมีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น ดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่าย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (Checklist) ก่อนการตรากฎหมาย และจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายหลังมีการบังคับใช้แล้ว
ที่สำคัญยังได้กำหนด ควบคุมเนื้อหาของกฎหมาย โดยให้มีระบบอนุญาต ระบบคณะกรรมการ และการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะการกำหนดโทษอาญาในกฎหมายพึงทำได้เฉพาะความผิดร้ายแรงเท่านั้น (อ่านประกอบ:กฤษฎีกา เปิดเวทีวิเคราะห์ผลกระทบก่อนออกกม. เล็งเสนอลดโทษอาญา ใช้โทษทางเลือกแทน)
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตรากฎหมาย นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้ให้เห็นว่า กฎหมายที่ไม่มีคุณภาพสร้างภาระให้กับประชาชนเกินเหตุ และสร้างภาระต้นทุนที่ไม่จำเป็นให้กับการประกอบการของภาคเอกชน และยังกระทบกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
“ขณะนี้เราได้ศึกษาเนื้อหาทางวิชาการเรื่องต่างๆ ออกมาเผยแพร่ และรับฟังการวิพากษ์การตอบสนองของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคสังคม ให้เข้ามาดูว่า การปรับปรุงกฎหมายต่างๆ เหล่านี้ เห็นอย่างไร”
การใช้โทษทางอาญาในการบังคับใช้กฎหมาย เป็นประเด็น 1 ใน 4 ของสิ่งที่เป็นโครงสร้างในอดีต คาดว่า อดใจรออีกไม่นานเราน่าจะเห็นเป็นรูปธรรมกฎหมายแบบไหนยังต้องคงโทษทางอาญาไว้ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของสังคม และหากไม่ใช้โทษทางอาญา กฎหมายฉบับใหม่ ๆ ที่จะออกมา จะใช้โทษอะไรแทน
ซึ่งจากการศึกษา ของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เบื้องต้นพบว่า หลักเกณฑ์การกำหนดโทษอาญาในการตรากฎหมาย มีทางเลือกหลายทาง เช่น โทษปรับทางแพ่ง อย่างกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือใช้โทษปรับทางปกครองแทน เป็นต้น
เพื่อแสดงให้เห็นตัวเลขชัด บ้านเราชอบมีการใช้โทษอาญาเกินความจำเป็น เหมือนกับที่ดร.คณิต ณ นคร กรรมการกฤษฎีกา และอดีตอัยการสูงสุด เปรียบเทียบกฎหมายอาญา เหมือนยาหม่อง ปวดหัวทาขมับ ปวดท้องทาท้อง โดยข้อมูลของ “คณะอนุกรรมการดำเนินการศึกษาและปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้ประโยชน์จากโทษอาญาตามกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย” ที่มีดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้รวบรวมสถิติคดีอาญาคดีอาญาในชั้นศาล อัยการ และตำรวจ 5 ปีย้อนหลังไว้อย่างน่าสนใจ
สำนักข่าวอิศรา หยิบยกมาเพียง “สถิติคดีอาญาที่อยู่ในการดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2555-2559” มานำเสนอ พบว่า มีกฎหมายที่ดำเนินการโดยตำรวจรวม 175 ฉบับ
ปี 2559 มีสถิติคดีอาญาในชั้นตำรวจ กว่า 8.5 แสนคดี
ปี 2558 มีสถิติคดีอาญาในชั้นตำรวจ กว่า 6.7 แสนคดี
ปี 2557 มีสถิติคดีอาญาในชั้นตำรวจ กว่า 7.4 แสนคดี
ปี 2556 มีสถิติคดีอาญาในชั้นตำรวจ กว่า 7.9 แสนคดี
และ ปี 2555 มีสถิติคดีอาญาในชั้นตำรวจ กว่า 7.1 แสนคดี
เมื่อไล่ดูตัวกฎหมายของการกระทำความผิด จนเป็นคดีอาญาในชั้นตำรวจ 5 อันดับแรก ปี 2559 พบว่า มีผู้กระทำผิดกฎหมายอาวุธปืน พ.ศ.2490 นำโด่งขึ้นอันดับ 1 ถึง 273,918 คดี อันดับสอง มีผู้กระทำผิดกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2522 จำนวน 243,221 คดี อันดับสาม มีผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรทางบก พ.ศ.2522 จำนวน 126,682 คดี อันดับสี่ มีผู้กระทำความผิดกฎหมายการพนัน พ.ศ.2478 จำนวน 60,691 คดี และอันดับห้า มีผู้กระทำความผิดกฎหมายคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 30,048 คดี
ที่เหลือ เป็นกฎหมายการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 กฎหมายลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2528 เป็นต้น
นี่คือต้นทางกระบวนการยุติธรรม เห็นชัดถึงสภาวการณ์กฎหมายอาญาเฟ้อ (over-criminalisation) สร้างผลเสีย เกิดคดีล้นศาล นักโทษล้นคุก จนมีอัตราส่วนผู้ต้องขังต่อประชากรมาก ติดอันดับเก้าของโลก...