ยุติทางการ เรือเหาะ 350 ล.! ผบ.ทบ.ชำแหละ เอากล้องตรวจการณ์ไปใช้ ปย.อย่างอื่น
กองทัพบก ปลดประจำการเรือเหาะตรวจการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชำแหละชิ้นส่วน บอลลูนหมดอายุการใช้งาน ส่วนกล้องตรวจการณ์ยังสามารถใช้งานได้ เตรียมนำไปติดกับอากาศยานอื่น หลังจัดซื้อ 350 ล. ช่วงปี 2552 ขึ้นบินไม่ได้ตามข้อกำหนดในสัญญา จอดเก็บมานาน เรียกค่าปรับเอกชน
พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงความคืบหน้าการใช้เรือเหาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีข่าวการนำรถลากบอลลูนเรือเหาะ ไปประมูลจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว ว่า ยังไม่ทราบ แต่รู้เพียงว่าในขณะนี้เรือเหาะที่เป็นตัวบอลลูน หมดอายุการใช้งานแล้ว แต่กล้องตรวจการณ์ที่ติดอยู่ในเรือเหาะยังสามารถใช้การได้ ก็จะนำมาประยุกต์และปรับการใช้งานให้เหมาะสม ซึ่งอาจจะเป็นการใช้ติดกับอากาศยาน โดยทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กำลังดำเนินการ ทั้งนี้กล้องตรวจการณ์ คือหัวใจสำคัญของการทำงานของบอลลูนและยังสามารถใช้การได้ ก็จะเอาไปใช้ประโยชน์ต่อไป ดังนั้นปัจจุบันเท่ากับว่าเป็นการยุติการใช้เรือเหาะตรวจการณ์ ในพื้นที่สามจังหวัดใช้แดนภาคใต้แล้ว ส่วนรถลากตัวบอลลูน ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทหารบก เป็นผู้พิจารณา ว่าจะทำอย่างไรอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2557 (หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557) พล.ต.พรชัย ดวงเนตร เจ้ากรมการขนส่งทหารบก ทำการแทน ผู้บัญชาการทหารบก (ขณะนั้น) ได้ทำหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา แจ้งสงวนสิทธิเรียกค่าปรับ กรณีบริษัทปฏิบัติตามสัญญาไม่ครบถ้วน ระบุสาระสำคัญว่า กรมการขนส่งทหารทางบก ได้จ้างปรนนิบัติและซ่อมบำรุงเรือเหาะ Aeros 40D มีกำหนดเวลา 1 ปี ในราคายกเว้นค่าอากรทางศุลกากรแต่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นเงินทั้งสิ้น 943,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา กับบริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีกำหนดการปฏิบัติบำรุงและซ่อมบำรุงเรือเหาะตามสัญญาและกำหนดการชำระเงินเป็น 6 ห้วง
บริษัทฯ ได้มาปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาห้วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2557 ถึง 16 พฤษภาคม 2557 งวดการจ่ายเงินงวดที่ 2 วงเงิน 157,300.00 เหรียญสหรัฐอเมริกา หักภาษีมูลค่าเพิ่ม 10,290.65 เหรียญสหรัฐอเมริกา ผู้รับจ้างคงรับเงิน 147,009.35 เหรียญสหรัฐอเมริกา เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ปฏิบัติงานตามห้วงเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาฯ แต่ไม่สามารถทำการบินโดยเฉลี่ย 125 ชั่วโมงบินต่อเดือน รวม 2 เดือนเป็น 250 ชั่วโมงบิน แต่บริษัทฯ ทำความพร้อมบินได้ 93.5 ชั่วโมงบินใน 2 เดือน ซึ่งไม่เป็นไปตามสัญญาจำนวน 156.5 ชั่วโมงบิน (250-93.5) ตามเงื่อนไข ข้อ 5 ดังนั้น บริษัทฯ จะต้องถูกปรับในอัตราชั่วโมงละ 105.00 เหรียญสหรัฐอเมริกา จำนวน 157 ชั่วโมงบิน
เรือเหาะของกองทัพบก ในยุค พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. จัดซื้อตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 มี.ค 2552 ประชุมเห็นชอบอนุมัติงบประมาณจำนวน 350 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดหา ‘ระบบเรือเหาะ’ พร้อมกล้องตรวจการณ์ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อใช้ในกิจการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในภารกิจตรวจการณ์ทางอากาศ อันเป็นหนึ่งในยุทธการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ราคาจัดซื้อแบ่งเป็น ตัวเรือบอลลูนราคา 260 ล้านบาท กล้องส่องกลางวันและกลางคืน ราคาประมาณ 70 ล้านบาท ส่วนอีก 20 ล้านบาทเป็นอุปกรณ์สื่อสารภาคพื้น ซึ่งทั้งหมดรวมเป็นระบบเรือเหาะ 1 ชุด โดยวิธีพิเศษว่าจะทำอย่างไรอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อ่านประกอบ :
จัดซื้อรถว้านบอลลูน 11.3 ล.-เป็นเอกชนรายเดียวผู้สืบราคาแลกเปลี่ยนรถ 128 คัน
ก่อนจอดเก็บ!เปิดหนังสือ ทบ.เรียกค่าปรับ บ.ซ่อมเรือเหาะ ผิดสัญญา บินได้ 93.5 ชม.ใน 2 เดือน