นักวิชาการชี้ ‘ซูจี’ ไร้อำนาจเบ็ดเสร็จแก้ปมโรฮิงญา
จุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 9 คุยปมวิกฤติโรฮิงญา ผู้เชี่ยวชาญเมียนมา เผยความขัดแย้งมีมานาน ชี้จุดอ่อน ‘ซูจี’ แก้ปัญหาไม่ได้ สวมหมวกนักการเมือง ไม่ใช่เจ้าของโนเบล หวั่นถูกต้าน เหตุกองทัพ-พรรครัฐอาระกัน ไม่เอาด้วย ‘ดร.นฤมล’ ขอให้ระวังเหตุบานปลายเป็นวิกฤติศาสนา
วันที่ 13 ก.ย. 2560 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 9 เรื่อง โรฮิงญา:เรื่องที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เมียนมา กล่าวถึงความเข้าใจในปัญหาโรฮิงญาในระดับชาติและนานาชาติ พบมุมมองส่วนใหญ่เป็นกรณีเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง รวมถึงท่าทีของนางอองซอน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ที่ได้รับแรงกดดันสูงมากอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน และการกระทำเกินกว่าเหตุของกองทัพ จะเห็นได้ว่าเป็นมุมมองจากภายนอกพม่า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ผิด เพียงแต่ว่า การมองปัญหาต้องมองให้รอบด้านกว่านี้ หากมุ่งหวังจะแก้ไขปัญหา
“ปัญหาความขัดแย้งโรฮิงญาเกิดขึ้นมาช้านาน ไม่ใช่แค่เหตุการณ์อพยพเมื่อปี 2012 แต่เก่าแก่กว่านั้น เพียงแต่เราไม่ได้รับข้อมูล เพราะในอดีตพม่าปิดประเทศ อีกทั้งข้อมูลข่าวสารไม่เปิดกว้างเหมือนปัจจุบัน แต่ยืนยันว่า ความรุนแรงใกล้เคียงกัน”
ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เมียนมา กล่าวต่อว่า พรรคแอลเอดี ในฐานะรัฐบาลเสียงข้างมาก จะปฏิเสธความรับผิดชอบเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาได้ยาก ขณะเดียวกันหากแสดงท่าทีเห็นอกเห็นใจอาจถูกต่อต้านจากประชาชนที่เป็นฐานเสียงของกองทัพ ซึ่งมีสถานะเป็นพรรคการเมือง รวมถึงพรรคการเมืองและชาวพุทธในรัฐอาระกันที่มีนโยบายต่อต้านโรฮิงญา สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นความสลับซับซ้อนในมิติการเมืองและสังคม ที่สำคัญ อย่าลืมว่า นางออง ซาน ซูจี กำลังสวมหมวกนักการเมืองไม่ใช่ผู้ชนะรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ
ด้านผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะผอ.ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า นางออง ซาน ซูจี มีเพียงฐานมวลชนเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจควบคุมทิศทางการขับเคลื่อนประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ และหากไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ พรรคยูเอสดีพี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของกองทัพอาจจะได้กลับมาบริหารประเทศในอนาคต
ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังไม่ให้ประเด็นความขัดแย้งโรฮิงญากลายเป็นวิกฤติศาสนา เพราะพม่ามีหลากหลายชาติพันธุ์ จึงเป็นเรื่องท้าทาย ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนต่างออกมาแสดงท่าทีต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่เห็นรัฐบาลในประเทศใดรับโรฮิงญาไปอยู่ด้วย ยกเว้น รัฐอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นนโยบายในระดับท้องถิ่นเท่านั้น .
อ่านประกอบ:ยูเอ็นชี้วิกฤติโรฮิงญา เป็นตัวอย่างตำราฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
นักวิชาการ ชี้ใช้คำ ‘เบงกาลี’ เรียกโรฮิงญา เป็นการจงใจทำลายประวัติศาสตร์พื้นที่
โรฮิงญาอพยพพุ่ง 90,000 คน - "ซูจี" ถูกนานาชาติกดดันหนัก
หยุดปฏิบัติการทางทหารของพม่าต่อพลเรือนชาวโรฮิงญา
ฮิวแมนไรต์โชว์ภาพดาวเทียม ไหม้วอด 700 หลังบ้านชาวโรฮิงญา
เตือนบทบาทไทยกรณี "โรฮิงญา" รับลูก "เมียนมา" เสี่ยงหลายมิติ
รัฐบาลเมียนมา ปฏิเสธให้ยูเอ็นเข้าตรวจสอบประเด็นฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุโรฮิงยา
กลุ่มผู้หญิงโรฮิงยาเผยกับสื่อ ชาวบ้านโดนทรมานสารพัดช่วงทหารกวาดล้าง