นักวิชาการ ชี้ใช้คำ ‘เบงกาลี’ เรียกโรฮิงญา เป็นการจงใจทำลายประวัติศาสตร์พื้นที่
นักวิชาการ ชี้ ประเด็นใช้คำ ‘เบงกาลี’ แทนโรฮิงญา เป็นการจงใจทำลายประวัติศาสตร์ของพื้นที่ สร้างความชอบธรรม ขับไล่กลุ่มชาติพันธุ์ออกจากพื้นที่ แนะมองให้พ้นวาทกรรม ดูที่ความเป็นมนุษย์ เพื่อแก้ปัญหาละเมิดมนุษยธรรม
(ภาพประกอบจาก REUTERS)
เมื่อวันที่ 08 ก.ย. 60 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี จัดเสวนา “เข้าใจโรฮิงญา : ปัญหาความมั่นคงหรือวิกฤตมนุษยธรรม?”
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวถึงปัญหากลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญาว่า เราจะเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่าเบงกาลี หรือโรฮิงญา แต่สิ่งที่สำคัญที่รัฐบาลเมียนมา เสนอว่า พวกเขาเป็นเบงกาลีที่อพยพมา เกิดขึ้นมาจากเหตุผลที่ว่า ถ้าหากว่าคนทั่วโลก มองว่าคนเหล่านี้คือ ‘เบงกาลี’ ตามความเข้าใจของรัฐเมียนมา ซึ่งหมายความว่าคือคนเหล่านี้ไม่ใช่คนพม่า ตามวิธีคิดของเมียนมา คือให้เรียกว่า ‘เบงกาลี’ รัฐเมียนมาก็จะมีอ้างความชอบธรรม ในการไล่คนเหล่านี้ นั่นคือกรณีแรก
ในส่วนมุมหนึ่ง ดร.ศราวุฒิ กล่าวว่า แต่หากถ้ารัฐเมียนมายอมรับความเป็น ‘เบงกาลี’ ตามนิยามคือยอมรับในความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่คนเหล่านี้ก็คือ พลเมืองพม่า การสร้างคำเหล่านี้ เป็นคำที่มีโครงสร้างทางการเมือง คือมีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่
"แต่ในบริบทโลกกลับมองไปทางเดียวกัน นั่นคือคนเหล่านี้ คือชาติพันธุ์ ‘โรฮิงญา’ ในรายงานของสหประชาชาติ (UN) หน่วยงานและมหาวิทยาลัยทั่วโลกเรียกเหมือนกันหมด ดังนั้นเมื่อคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิทธิทางพลเมือง คนเหล่านี้ที่เป็นเหมือนร่างที่เปลื่อยเปล่า ก็ถูกทำร้ายกดขี่ มีหลายรายงานชี้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ดร.ศราวุฒิ กล่าว และว่า หนึ่งในสัญลักษณ์ที่ว่า คือความพยายามในการลบล้างประวัติศาสตร์ชางโรฮิงญา ของรัฐบาลเมียนมา จากความพยายามที่เรียกว่า ‘เบงกาลี’ เป็นหนึ่งในการลบล้างประวัติศาสตร์ในดินแดนอารกัน
ด้าน ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อ.ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ล่าสุดทางผู้นำเมียนมา พบรองนายกรัฐมนตรีของไทย ขอให้เรียก ‘เบงกาลี’ แล้วรองนายกฯ ไทยก็แสดงท่าทีตอบรับ สิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมผู้นำอาเซียนเพื่อพูดคุยเรื่องนี้ แต่เลี่ยงการใช้คำว่า ‘โรฮิงญา’ ว่าเป็นภาวะ ‘การเคลื่อนย้ายไม่ปกติ และการค้ามนุษย์’ กลายเป็นว่า ประเด็นปัญหาโรฮิงญาไม่ได้ถูกรับการแก้ไข
ดร.ศรีประภา กล่าวถึงปัญหารากเหง้า คือ การเลือกปฏิบัติต่อโรฮิงญา การไม่ให้สัญชาติ สมัยปี 1982 ที่เริ่มมีการยึดอำนาจและออกกฎหมายเรื่องสัญชาติ เลยไม่ได้มองความรุนแรงว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรง แต่สิ่งที่ต้องถอดออกไปมองไปคือ เรื่องของ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ความเป็นมนุษย์ คือไม่ว่าจะเป็นโรฮิงญาหรือเบงกาลี ตามที่รัฐบาลเมียนมาอ้าง การละเมิดด้านมนุษยธรรมก็ไม่ควรเกิดขึ้น ขณะที่UNHCR พูดชัดเจนว่า นี่เป็นการก่ออาชญกรรมกับมนุษยชาติ
“ไม่ว่าเราจะพูดเรื่องปัญหาความมั่นคงแค่ไหน แต่หากมีการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องการลี้ภัยออกมา ยังคงอยู่ต่อไปและความรุนแรงที่เกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุด มีส่วนเกี่ยวข้องกับสามประเทศ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ทางรัฐบาลไทย เราต้องเตรียมตัว คนนับแสนคนที่หนีไป หลังจากมรสุม เดือนตุลาคม พฤจิกายน จะมีสิ่งที่เรียกว่า การอพยพทางทะเล ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเตรียม” ดร.ศรีประภา กล่าว และว่า ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ สมัยเป็นเลขาธิการอาเซียน เคยบอกว่า ในกรณีเรื่องโรฮิงญา ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องภายในประเทศเมียนมา แต่ผลกระทบขยายออกไปยังประเทศอื่นๆ เป็นปัญหาความมั่นคงโดยเฉพาะรัฐที่ได้รับผลกระทบ ในขณะเดียวกันก็เป็นวิกฤตทางด้านมนุษยธรรมด้วย
ด้านนายศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ CRSP กล่าวว่า ข้อกล่าวหาที่รัฐบาลเมียนมาระบุว่า มีกลุ่มก่อการร้าย มีการปะทะกลับกลุ่มสองกลุ่ม แต่หากนับตั้งแต่มีการปฏิวัติ รัฐเมียนมามีการปะทะกับกลุ่มชาติพันธุ์มาโดยตลอด ทั้งปัญหากะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐฉาน เห็นได้จากกลุ่มคนลี้ภัยตามชายแดนไทยที่มีมาหลายสิบปี ดังนั้น การจับอาวุธมาสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ก็เพื่อความจำเป็น เพื่อมีที่ยืนในสังคมการเมืองเมียนมา
นายศิววงศ์ กล่าวด้วยว่า ในสำนึกของคนโรฮิงญา เขาคือคนที่นั่น ไม่ใช่เบงกาลี หากพิจารณาข้อเรียกร้องที่ถูกจำกัด ภายใต้เงื่อนไข สังคมการเมือง เขาต้องการอยู่ที่เมียนมา ในฐานะบ้านเกิด
“การใช้อาวุธความรุนแรง เป็นสิ่งที่เรายอมรับได้อย่างลำบาก รัฐมีหน้าที่คุ้มครองพลเมืองในรัฐของตน การใช้ความรุนแรงต่อพลเมืองไม่ใช่การปราบปรามก่อการร้าย การกล่าวหาว่า คนที่หนีออก เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นการเหมารวมที่ไร้ศีลธรรมเกินไป มิหน่ำซ้ำยังจะหาทางออกได้ยาก” นายศิววงศ์ กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โรฮิงญาอพยพพุ่ง 90,000 คน - "ซูจี" ถูกนานาชาติกดดันหนัก
หยุดปฏิบัติการทางทหารของพม่าต่อพลเรือนชาวโรฮิงญา
ฮิวแมนไรต์โชว์ภาพดาวเทียม ไหม้วอด 700 หลังบ้านชาวโรฮิงญา
เตือนบทบาทไทยกรณี "โรฮิงญา" รับลูก "เมียนมา" เสี่ยงหลายมิติ
รัฐบาลเมียนมา ปฏิเสธให้ยูเอ็นเข้าตรวจสอบประเด็นฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุโรฮิงยา
กลุ่มผู้หญิงโรฮิงยาเผยกับสื่อ ชาวบ้านโดนทรมานสารพัดช่วงทหารกวาดล้าง