ข้อต่อสู้‘สมชาย-บิ๊กจิ๋ว-พัชรวาท’คดีสลายพธม.ไขคำตอบ ป.ป.ช.อุทธรณ์ ‘สุชาติ’รายเดียว?
“…หากพิจารณาถึงข้อต่อสู้ของจำเลยทั้ง 4 รายในกรณีนี้แล้ว มีเพียงจำเลยรายเดียวคือ พล.ต.ท.สุชาติ ที่เอ่ยปากว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธที่จะต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ส่งผลให้ต้องใช้แก๊สน้ำตาในการควบคุมฝูงชนดังกล่าว…”
คดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อปี 2551 กลับมาได้รับความสนใจจากสาธารณชนอีกครั้ง
ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเสียงข้างมากอุทธรณ์ผลคำพิพากษาคดีดังกล่าว จากกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้องจำเลย 1-4 ได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.
เฉพาะแค่กรณีของ พล.ต.ท.สุชาติ เท่านั้น ส่วนนายสมชาย พล.อ.ชวลิต และ พล.ต.อ.พัชรวาท รอดบ่วง ไม่ถูกอุทธรณ์ด้วยแต่อย่างใด ?
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2560 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. อธิบายสาเหตุดังกล่าวว่า จากการพิจารณาผลคำพิพากษากลางฉบับเต็ม และคำวินิจฉัยส่วนตัวขององค์คณะผู้พิพากษาคดีดังกล่าวทั้ง 9 รายแล้ว เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาฯเฉพาะกรณีจำเลยที่ 1-3 ไม่ต้องส่งอุทธรณ์ แต่กรณีจำเลยที่ 4 เห็นว่า เป็นผู้ปฏิบัติ และยินยอมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้แก๊สน้ำตา โดยไม่ยับยั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงให้อุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 4
“ส่วนที่ ป.ป.ช. ชุดที่แล้วเคยมีมติเอาผิดจำเลยทั้ง 4 ราย แต่ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน กลับเลือกอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 4 เพียงคนเดียวนั้น ถือเป็นคนละขั้นตอนกัน นำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ ยืนยันว่า ประเด็นที่ ป.ป.ช. อุทธรณ์ พิจารณาดูแล้ว เฉพาะประเด็นที่จะน่าประสบความสำเร็จเท่านั้น เพราะเราต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เราทำ” เป็นคำยืนยันของ พล.ต.อ.วัชรพล
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจมีการ ‘อุ้ม’ จำเลยบางรายให้รอดจากสถานการณ์นี้ แต่ พล.ต.อ.วัชรพล ก็ยืนยันว่า ไม่มี ทุกอย่างพิจารณาตามกฎหมาย (อ่านประกอบ : อุทธรณ์เฉพาะประเด็นที่ประสบความสำเร็จ!ปธ.ป.ป.ช.ปัดอุ้ม‘พัชรวาท’คดีสลาย พธม., ‘สมชาย-บิ๊กจิ๋ว-พัชรวาท’รอด!ป.ป.ช. ยื่นอุทธรณ์คดีสลาย พธม.แค่‘สุชาติ’รายเดียว)
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อเท็จจริงมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org หยิบยกข้อต่อสู้ของจำเลยทั้ง 4 รายในชั้นการไต่สวนของศาลฎีกาฯ สรุปได้ดังนี้
จำเลยที่ 1 (นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์)
ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบความผิดทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจเข้าใจข้อกล่าวหาได้ถูกต้อง และโจทก์อาศัยข้อเท็จจริงส่วนนี้เป็นสาระสำคัญขององค์ประกอบความผิดในการชี้มูลความผิดของจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากกระบวนการไต่สวนของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปกปิดข้อมูลข่าวสารในสำนวนการไต่สวนไม่ให้จำเลยที่ 1 ทราบ รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 ต่อสู้คดี เพิกเฉยไม่เรียกไต่สวนพยานบุคคลและพยานเอกสารที่จำเลยที่ 1 อ้างเป็นพยาน
จำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้าพนักงานที่มีอำนาจโดยตรง การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังผลักดันผู้ชุมนุมเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ไม่ใช่ผลโดยตรงที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะการเข้าแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ประธานรัฐสภาได้กำหนดระเบียบวาระการประชุมไว้แล้ว หากคณะรัฐมนตรีไม่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาก็ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ)
ให้การว่า คดีไม่ใช่ฐานความผิดตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะพิจารณาพิพากษา จำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงาน และคณะรัฐมนตรียังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบหน่วยงานใด จำเลยที่ 2 จึงยังไม่มีอำนาจตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
การใช้แก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของกฎหมาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่นอกเหนือจากการสั่งการและควบคุมของจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจหน้าที่สั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ปฏิบัติการ ทั้งแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 (พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ)
ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ได้บรรยายว่า จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับผู้ชุมนุมซึ่งกระทำผิดกฎหมายอย่างไร การที่จำเลยที่ 3 จะสั่งยับยั้งเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่จำเลยที่ 3 ต้องปฏิบัติหรือไม่ และไม่บรรยายว่า จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างไร การกระทำของจำเลยที่ 3 ในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 คดีสำหรับจำเลยที่ 3 จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
การที่จำเลยที่ 3 ไม่สั่งให้หยุดใช้แก๊สน้ำตา เพราะการที่จำเลยที่ 1 คณะรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมประชุมการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่คุ้มครองดูแลความปลอดภัยให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานที่มีผู้ชุมนุมเป็นดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาในที่เกิดเหตุ โดยยึดหลักไม่ใช้อาวุธและความรุนแรง
หากจำเลยที่ 3 สั่งยับยั้งจะเป็นผลทำให้คณะรัฐมนตรีไม่สามารถแถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งคณะรัฐมนตรี และต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่ตกอยู่ในความคุกคามของผู้ชุมนุม การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) จึงเป็นการปฏิบัติตามระเบียบหรือคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มิใช่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 (พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว)
ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ เนื่องจากคณะกรรมการร่วมระหว่างอัยการสูงสุด (อสส.) และโจกท์ มีมติร่วมกันมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยที่ 4 แล้ว การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ มีการปลุกระดม ยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง และสร้างความวุ่นายขึ้นในบ้านเมือง จึงไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย การควบคุมฝูงชนเป็นการกระทำด้วยความจำเป็น และป้องกันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 67 และ 68 ทั้งแก๊สน้ำตาก็เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมฝูงชนตามหลักสากล ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและร่างกายของบุคคล การบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นมิได้เป็นผลมาจากการใช้แก๊สน้ำตา การกระทำของจำเลยที่ 4 ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
หากพิจารณาถึงข้อต่อสู้ของจำเลยทั้ง 4 รายในกรณีนี้แล้ว มีเพียงจำเลยรายเดียวคือ พล.ต.ท.สุชาติ ที่เอ่ยปากว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธที่จะต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ส่งผลให้ต้องใช้แก๊สน้ำตาในการควบคุมฝูงชนดังกล่าว
นำไปสู่เงื่อนปมสำคัญในคดีนี้คือ การสลายการชุมนุมปฏิบัติโดยชอบหรือไม่ และการใช้แก๊สน้ำตาทำให้บาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือไม่ ?
ประเด็นเหล่านี้ ศาลฎีกาฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่กลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา โดยปิดล้อมประตูทางเข้าออกไว้ทุกด้านถือว่าเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ และมิได้เป็นการชุมนุมที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) โดยใช้มาตรการควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนักแล้ว เท่าที่จะทำได้ในสถานการณ์ขณะนั้น
เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามแผนกรกฎ/48 แล้ว มีการใช้มาตรการเบาไปหาหนัก ใช้รถกระจายเสียงเพื่อเตือนมวลชน แต่ไม่สามารถใช้รถฉีดน้ำเพื่อมาฉีดไล่มวลชนได้ เนื่องจากรถฉีดน้ำดังกล่าวติดอยู่ในรัฐสภา ทำให้ต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อช่วยเหลือดังกล่าว
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานฝ่ายโจทก์ และพยานฝ่ายจำเลย ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแก๊สน้ำตามีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับผลอันเกิดจากการใช้แก๊สน้ำตา จึงไม่อาจสรุปได้ว่า แก๊สน้ำตาจะทำให้เกิดเหตุผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้ในสถานการณ์วันดังกล่าว เป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะทราบว่า แก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเช่นนั้น เมื่อเหตุการณ์ชุมนุมยังไม่สงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของทางราชการ
ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ไม่อาจคาดเห็นได้ว่า แก๊สน้ำตาจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุมได้ และข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1, 3 และ 4 มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายและเสียชีวิต จำเลยที่ 1 และ 3 จึงไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจำเลยที่ 4 ไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
พิพากษายกฟ้อง
ท้ายสุดกลุ่มพันธมิตรฯที่เป็นผู้เสียหายโดยตรง และลุ้นผลคำพิพากษาคดีนี้นานเกือบ 10 ปี แม้ว่าศาลฎีกาฯจะยกฟ้องจำเลยทั้ง 4 ราย กลุ่มพันธมิตรฯก็ยอมรับ แต่ไม่เห็นพ้องด้วย จึงจี้ให้ ป.ป.ช. อุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยเร็ว ทว่า ป.ป.ช. กลับอุทธรณ์แค่กรณี พล.ต.ท.สุชาติ รายเดียว ส่วนจำเลยสำคัญอย่างนายสมชาย พล.อ.ชวลิต และ พล.ต.อ.พัชรวาท กลับรอดบ่วงไปได้ ?
จะออกโรงเคลื่อนไหวเพื่อทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับกรณีนี้หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ถกอุทธรณ์คดีสลาย พธม. 29 ส.ค. -ขอ 'วัชรพล'ถอนตัวหวั่นถูกวิจารณ์มีส่วนได้เสีย
เจาะคำวินิจฉัยผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยคดีสลาย พธม. แก๊สน้ำตารุนแรงทำคนเจ็บ-ตายได้?
ผู้ชุมนุมขว้างน็อต-มีระเบิดปิงปอง!คำพิพากษาฉบับเต็มชี้ใช้แก๊สน้ำตาสลาย พธม.ชอบแล้ว
'สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ' รอด! ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯปี 51
คลอดคำวินิจฉัย 40 หน้า คดีสลายพันธมิตรฯ-ไม่มีเจตนาพิเศษให้ ตร.ทำร้ายผู้ชุมนุม
‘วัชรพล’รับสัมพันธ์‘วงษ์สุวรรณ’คือจุดอ่อนชีวิต! ยันตอบสังคมได้ปมอุทธรณ์คดีสลาย พธม.
ยื่น ป.ป.ช.อุทธรณ์คดีสลาย พธม.-‘วีระ’ ย้อน’บิ๊กตู่’คสช.เคยฉีก รธน.ผิดไหม
7 ส.ค.พธม.ยื่น ป.ป.ช.จี้อุทธรณ์คดีสลายชุมนุม-‘วิชา’ยันศาล ปค.ชี้แล้ว จนท.รัฐทำโดยมิชอบ
9ปีรูดม่านคดีสลาย พธม. เจาะคำพิพากษาศาลไฉนยกฟ้อง‘สมชาย-บิ๊กจิ๋ว-พัชรวาท-สุชาติ’?
'สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ' รอด! ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯปี 51
เคารพคำพิพากษาแต่ไม่เห็นพ้อง!มติ พธม.ยื่น ป.ป.ช.อุทธรณ์คดีสลายชุมนุมปี'51
ยังไม่ได้ข้อสรุปอุทธรณ์คดีสลาย พธม.!ป.ป.ช.สั่ง จนท.ดูคำพิพากษา-เชื่อทันกรอบ รธน.
‘สมชาย’แถลงปิดคดีปัดสั่งสลายชุมนุม เผย‘พัชรวาท-สุชาติ’ออกหน้าดูเอง–พิพากษา 2 ส.ค.
เบื้องหลัง!ความพยายามสู้นอกศาลของ ‘สมชาย-พวก’ก่อนรูดม่านปิดคดีสลาย พธม.?
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.ต.ท.สุชาติ จาก ผู้จัดการออนไลน์