ฎีกาไม่ให้ประกันตัว'สรยุทธ-พวก'หลังยื่น4ล.-ศาลอุทธรณ์ยืนคุก13ปี4เดือนคดีไร่ส้ม
อ้างคุณงามความดีไม่เกี่ยวกับการกระทำผิด! ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น สั่งจำคุก 'สรยุทธ สุทัศนะจินดา' 13 ปี 4 เดือน เช่นเดียวจำเลยคนอื่น ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัว 4 ล้าน แต่ศาลฎีกาไม่ให้ประกันตัว คุมตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รอยื่นประกันครั้งหน้า
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560 ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.พิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงานบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกรนักเล่าข่าวชื่อดัง บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และ น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงานบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-4 กรณีถูกกล่าวหายักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ อสมท กว่า 138 ล้านบาท
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุกนายสรยุทธ เป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน เช่นเดียวกับจำเลยคนอื่นๆ ขณะที่นายสรยุทธ ได้ทำเรื่องยื่นขอสู้คดีต่อในชั้นฎีกาทันที
รายงานข่าวแจ้งว่า นายสรยุทธ กับพวก ได้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินสด และเงินฝาก รวม 4 ล้านบาท ต่อศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อย่างไรก็ดีศาลอาญาแผนกคดีทุจริตฯได้ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา และได้ออกหมายขังนายสรยุทธกับพวกไว้ก่อน ขณะนี้กำลังนำตัวส่งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้หากเอกสารหลักฐานครบ ศาลฎีกาจึงจะพิจารณาว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่
ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. วันเดียวกัน ศาลฏีกาได้มีคำสั่งเกี่ยวกับการประกันตัวถึงศาลอาญาแผนกคดีทุจริตฯที่นายสรยุทธ กับพวก จำเลยที่ 1-4 ที่ได้ยื่นคำร้องหลักทรัพย์คนละ 4 ล้านบาท เพื่อขอประกันตัวสู้คดีนั้น นายมนต์อนันต์ เรืองจรัส ทนายความของนายสรยุทธ และคณะได้เข้าฟังคำสังของศาลฏีกา ซึ่งศาลฏีกาได้พิเคราะห์คำร้องและหลักทรัพย์ในการประกันตัวของจำเลยทั้ง 3 รายเเล้ว มีคำสั่งยังไม่ให้ประกันตัวจำเลยในชั้นนี้ จึงให้ยกคำร้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการยื่นคำร้องประกันตัวใหม่นั้น จำเลยทั้ง3สามารถยื่นได้ในเวลาต่อไปจนกว่าคดีจะมีคำพิพากษาศาลฏีกาในคดีหลักออกมา เพีงแต่การยื่นคำร้องใหม่นั้นจำเลยจะต้องระบุเหตุและข้อเท็จจริงใหม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมของศาลฏีกาซึ่งเป็นศาลสูง
ในการพิจารณาคดีครั้งนี้ ฝ่ายจำเลยที่ยกข้อกฎหมายจำนวนกว่า 10 ข้อ ขึ้นมาโต้แย้งฝ่ายโจทก์ เช่น ไม่มีอำนาจฟ้อง แต่ศาลพิเคราะห์เห็นว่าข้อต่อสู้ที่ยกมาฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นลงโทษ น.ส.พิชชาภา จำคุก 20 ปี บริษัท ไร่ส้มฯ สั่งปรับเงิน 8 หมื่นบาท ส่วนนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ
โดยศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า นางพิชชาภา (จำเลยที่ 1) เป็นผู้ดำเนินการจัดทำคิว และทราบความเป็นไปของรายละเอียดการโฆษณามาตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นสามัญสำนึกในหน้าที่จะต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของรัฐ จะอ้างว่ามีช่องว่างทางการตรวจสอบไม่ได้ เมื่อการโฆษณากินส่วนต้องเสียค่าโฆษณา แต่กลับใช้น้ำยาลบคำผิดในใบคิวโฆษณาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด (จำเลยที่ 2) แม้ข้ออ้างว่าทำไปเพราะตกใจกลัวจะต้องรับผิดก็เป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนัก อุทธรณ์ของนางพิชชาภาฟังไม่ขึ้น
ส่วนนายสรยุทธ (จำเลยที่ 3) เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ซึ่งร่วมกระทำผิดกับนางพิชชาภา จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้ แม้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และนายสรยุทธ จะอ้างว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลบรายการในใบคิวโฆษณาของนางพิชชาภา เห็นว่า นางพิชชาภา ให้การยอมรับเกี่ยวกับเหตุผลในการลบรายการในใบคิว และอ้างว่า ได้รับการร้องขอจากนายสรยุทธ ในขณะที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และนายสรยุทธ กล่าวอ้างลอย ๆ จึงไม่น่าเชื่อถือ ส่วนคุณงามความดีของนายสรยุทธที่กล่าวอ้างนั้น เป็นเรื่องประวัติและความดีของนายสรยุทธ เป็นคนละส่วนกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด ซึ่งศาลต้องพิเคราะห์ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏจากการไต่สวน
ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่า จำเลยทั้งสี่ กระทำความผิดหลายกรรมด้วยการมอบเช็ค 6 ฉบับตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ศาลอาญา (ชั้นต้น) มีคำพิพากษาว่า การกระทำของ น.ส.พิชชาภา มีความผิดตามมาตรา 6, 8 และ 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ให้ลงโทษตามมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุก 30 ปี นำสืบเป็นประโยชน์ลดโทษเหลือ 20 ปี บริษัท ไร่ส้มฯ สั่งปรับเงิน 1.2 แสนบาท ลดเหลือ 8 หมื่นบาท ส่วนนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา มีความผิดฐานสนับสนุนตามมาตรา 6, 8 และ 11 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้ลงโทษตามมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุก 20 ปี ทั้งนี้นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา นำสืบเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ อย่างไรก็ดี น.ส.พิชชาภา นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เงินสดรายละ 2 ล้านบาท พร้อมกับยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าว ทั้งนี้ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้ออกนอกประเทศ และต้องมารายงานตัวทุก 30 วัน (อ่านประกอบ : ไม่รอลงอาญา! ศาลสั่งจำคุก 'สรยุทธ-พวก' 13 ปี 4 เดือน คดีไร่ส้ม)
สำหรับคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2555 ว่าการกระทำของนางพิชชาภา มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามมาตรา 6, 8, 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 การกระทำของนางอัญญา อู่ไทย ซึ่งเป็นหนัวหน้างานและเป็นผู้บังคับบัญชาในฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้า สำนักกลยุทธการตลาด อสมท. มีมูลความผิดทางวินัย
การกระทำของนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ซึ่งได้ใช้ให้นางพิชชาภา ไม่ต้องรายงานการโฆษณาเกินเวลาที่กำหนดในสัญญา ให้กับผู้บังคับบัญชาทราบ และบริษัท ไร่ส้มฯ (ในฐานะนิติบุคคล) มีมูลความผิดฐานสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดตามมาตรา 6, 8, 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 (อ่านประกอบ : ย้อนข้อมูล 10 ปี! คดี‘สรยุทธ-ไร่ส้ม’ก่อนศาลนัดอ่านคำพิพากษา)
อ่านประกอบ :
ถ้าทุจริตคงไม่ร่วมมือ อสมท สอบ! คำต่อคำ‘สรยุทธ’หลังศาลอุทธรณ์จำหน่ายคดีปลอมเอกสาร
ศาลอุทธรณ์ตัดสินคดี‘สรยุทธ’โฆษณาเกินเวลา 29 ส.ค.-ยืนชั้นต้นจำหน่ายคดีปลอมเอกสาร
ชัด ๆ คำพิพากษาศาล! คดี‘สรยุทธ-พวก’โฆษณาเกินเวลา 138 ล.
ไม่รอลงอาญา! ศาลสั่งจำคุก‘สรยุทธ-พวก’ 13 ปี 4 เดือนคดีไร่ส้ม
ช่อง 3 โยน บ.ไร่ส้ม ตัดสินใจ เปลี่ยนพิธีกร 'เรื่องเล่าเช้านี้'