พลิกคำเบิกความ‘สุรนันท์’ยันตั้ง‘หมอโด่ง’ โปร่งใส-ก่อน‘บุญทรง’เก็บความลับ“ตายก็พูดไม่ได้”?
“…ตอนเบิกความในศาล นายสุรนันทน์ ยืนยันถึงความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน และการแต่งตั้งบุคคลต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวจีทูจี โดยเฉพาะการตั้ง ‘หมอโด่ง’ ให้เป็นเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (นายบุญทรง) ทว่าเมื่อศาลฎีกาฯพิพากษาคดีดังกล่าว นายสุรนันทน์กลับเขียนเล่าเรื่องราวถึงความ ‘ลึกลับดำมืด’ ที่ดู ‘น่ากลัว’ ในบางโครงการที่อยู่ในมือของนายบุญทรงเสียเอง…”
ภายหลังวันตัดสินคดีประวัติศาสตร์ทางการเมือง 2 คดีสำคัญ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ปิดฉากไปแค่ 1 คดี นั่นคือคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งหมด 15 ราย สั่งปรับเอกชน 2 ราย ยกฟ้อง 8 ราย และออกหมายจับ 3 ราย
โดยเฉพาะจำเลยสำคัญ เช่น นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ 36 ปี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ 42 ปี นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 40 ปี นายอภิชาติ จันทร์สุกลพร อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง 48 ปี รวมถึงให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด นายอภิชาติ และนายนิมล รักดี (โจ) ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 1.69 หมื่นล้านบาท (อ่านประกอบ : รูดม่านคดีจีทูจีเก๊ชาติเจ๊งหมื่นล.!คำพิพากษาชำแหละ‘ภูมิ-บุญทรง-บิ๊ก ขรก.-ก๊วนเปี๋ยง’, INFO:จำแนกครบ17จำเลย-โทษเรียงคนคดีทุจริตข้าวจีทูจีเจ๊งหมื่นล.ยกฟ้อง 8-ออกหมายจับ3)
ส่วนอีกคดีหนึ่งคือ คดีที่ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ฐานปฎิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157 กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯขอเลื่อนฟังคำพิพากษา โดยอ้างว่าป่วย เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แต่ศาลฎีกาฯไม่เชื่อว่าป่วยจริง มีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมขณะนี้นั้น (อ่านประกอบ : ไม่อยู่-ไม่มีใครรู้ไปไหน!ทนายเผยไปบ้าน‘ปู’ทันทีหลังศาลออกหมายจับ-ยังไม่ถกอุทธรณ์, ออกหมายจับ 'ยิ่งลักษณ์' ไม่มาศาล อ้างป่วยน้ำในหูไม่เท่ากัน-นัดใหม่ 27 ก.ย.นี้)
บรรดานักการเมืองซีก ‘เพื่อไทย’ และนักวิชาการ รวมถึงมวลชน และอดีตสื่อมวลชนบางส่วน แสดงความคิดเห็นในเชิงสาธารณะ เห็นอกเห็นใจ และให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ต่อสู้คดีท่ามกลางข้อครหาหลายประการ โดยเฉพาะการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมภายใต้รัฐบาล ‘ท็อปบู้ต’ ชุดนี้ จึงจำเป็นต้องหลบหนีออกนอกประเทศไป
ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เป็นดุลยพินิจของสังคมที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเสรี ภายใต้รัฐธรรมนูญ และข้อกฎหมาย
แต่นอกเหนือจากการให้กำลังใจ ‘นารีขี่ม้าขาว’ แล้ว แทบไม่มีนักการเมืองรายใด หรือนักวิชาการคนไหน เอ่ยถึงคดีของนายบุญทรง นายภูมิ หรือจำเลยคนอื่น ๆ ในคดีระบายข้าวแบบจีทูจีบ้างเลย ?
ในวันที่ 25 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันนัดพิพากษาคดีระบายข้าวจีทูจีดังกล่าว เท่าที่มองหาแกนนำ-เซเลป-นักการเมืองซีก ‘สีแดง’ และพรรคเพื่อไทยแล้ว ไม่เห็นนักการเมือง ‘กลุ่มวังบัวบาน’ แม้แต่คนเดียวที่มาให้กำลังใจนายบุญทรง
ณ ขณะนี้ (27 ส.ค. 2560) มีเพียงนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์) เท่านั้น ที่ออกมาแสดงความเป็นห่วง ‘เพื่อน’ ในทางสาธารณะ คือ นายบุญทรง ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย ก่อนที่ต่างฝ่ายต่างแยกไปตามทางของตัวเองหลังรัฐประหารปี 2549 (นายบุญทรง อยู่กลุ่มวังบัวบานของ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตร)
ข้อความตอนหนึ่งของนายสุรนันทน์ แสดงให้เห็นถึงความ ‘ลึกลับซับซ้อนดำมืด’ ในบางโครงการที่อยู่ในมือของนายบุญทรง เช่น “ใครดูให้มึง แต่ละเรื่องน่ากลัว” นายสุรนันทน์ถามหลังพลิกแฟ้มบนโต๊ะดู “กูมีทีม” นายบุญทรงตอบ หรือแม้แต่การเตือนว่า เรื่องบางเรื่องเราเป็นเพียง ‘เสมียน’ ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางทั้งหมด และเคยนั่งจิบไวน์คุยกับนายบุญทรงถามว่า “มึงเล่าให้กูฟังหน่อยว่าเรื่องเป็นยังไง” แต่คำตอบของนายบุญทรงคือ “กูพูดไม่ได้” (อ่านประกอบ : เพื่อนสู่เพื่อน!‘สุรนันทน์’ ถึง‘บุญทรง’คนตั้งใจดีโดนแกล้ง-การเมืองทำลายคนได้)
ไม่ว่าโครงการที่นายบุญทรงเก็บงำ ‘ความลับ’ เอาไว้จะเป็นเรื่องใด ?
แต่ข้อเท็จจริงตอนหนึ่งคือ นายสุรนันทน์ เคยมาเบิกความเป็นพยานให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว โดยตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นการแต่งตั้ง พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เป็นเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (นายบุญทรง) ด้วย และยืนยันปกป้องความบริสุทธิ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างชัดเจน
สำหรับ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ คือหนึ่งใน 'จิ๊กซอว์สำคัญ' ระดับ 'คีย์แมน' ที่ถูกกล่าวหาว่า ควบคุมกระบวนการทุกอย่างในการระบายข้าวจีทูจี ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการระบายข้าว และคณะอนุกรรมการระบายข้าว เท่าที่ตรวจสอบพบถึง 13 ชุด ทั้งเป็นผู้สั่งให้มีการเจรจากับรัฐวิสาหกิจจีน การเบิกข้าวออกจากคลัง และการรับแคชเชียร์เช็คด้วย (ตามการอ้างของพยานที่ถูกกันเป็นพยานในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช.) (อ่านประกอบ : บ.ค้าข้าวเข้าพบ-โทรคุย-จ่ายเงิน‘วีระวุฒิ’! ข้อมูลใหม่คดีระบายข้าวจีทูจี, เปิดขบวนการเวียนข้าวคดีจีทูจีเก๊ในสำนวน ป.ป.ช.-‘สารวัตร’รุ่นเดียว ‘วีระวุฒิ’ร่วมเดินเรื่อง, ครบถ้วน! ไทม์ไลน์ขายข้าวจีทูจี‘มนัส’ ชง‘ภูมิ-บุญทรง’ไฟเขียวก่อนถูกเวียนขายใน ปท.)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงข้อซักถาม-ตอบระหว่างฝ่ายพนักงานอัยการ และนายสุรนันทน์ให้ทราบอีกครั้ง ดังนี้
อัยการซักว่า พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ในอดีตเคยเป็นกรรมการบริษัท สยามรักษ์ จำกัด ต่อมาได้เข้ามาเป็นเลขานุการรัฐมนตรีในกระทรวงพาณิชย์ และเป็นกรรมการ รวมถึงอนุกรรมการเกี่ยวกับการระบายข้าวหลายคณะด้วยกัน ตรงนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เคยตรวจสอบที่มาที่ไปก่อนหรือไม่
นายสุรนันทน์ เบิกความสรุปได้ว่า การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ยึดตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 มีการระบุคุณสมบัติอยู่ในนั้นแล้ว และการแต่งตั้งดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) รวมถึงรัฐมนตรีในกระทรวงพาณิชย์ ที่ลงนามก่อนจะเสนอเรื่องให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก่อนส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเห็นชอบ
“ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะแต่งตั้งใครก็ได้ แต่ต้องผ่านการกลั่นกรองเรื่องมาตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์ จนถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติ และท้ายสุดคนกลั่นกรองเบื้องต้นในคณะรัฐมนตรี คือเลขาธิการคณะรัฐมนตรี”
อัยการซักว่า ข้อมูลจากคนวงในกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า พ.ต.นพ.วีระวุฒิ ไม่ใช่คนสนิทของนายบุญทรง แต่เป็นคนสนิทของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งถูกเลือกเข้ามาให้ดูแลด้านระบายข้าว ส่งผลให้การตัดสินใจสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ขึ้นอยู่กับ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ตรวจสอบหรือไม่
นายสุรนันทน์ เบิกความสรุปได้ว่า เมื่อปรากฏข่าวเช่นนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เพิกเฉย และได้เรียกให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปกำกับดูแล และดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครทราบเรื่องตามที่อัยการถามมาก่อนเลย และเท่าที่ทราบคือนายบุญทรง ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานฯ ส่วนผลสรุปเป็นอย่างไรไม่ทราบรายละเอียด ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า การเป็นข่าวมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ 1.ถ้าข่าวมีการเข้าใจ ให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องชี้แจง 2.ถ้าเป็นข่าววาทกรรมทางการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไม่ตอบโต้อยู่แล้ว 3.ถ้าเป็นข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ รัฐมนตรีจะต้องรับเรื่องไว้ และยินดีตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง
“ในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯยิ่งลักษณ์ นายกฯยิ่งลักษณ์ได้โทรศัพท์หารัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ห้องเพื่อชี้แจงเลย และภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้สั่งให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดำเนินการเสมอ” นายสุรนันทน์ กล่าว
อัยการซักอีกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เคยเสนอเรื่อง พ.ต.นพ.วีระวุฒิ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อปรึกษาหารือเลยใช่หรือไม่ นายสุรนันทน์ เบิกความสรุปได้ว่า อาจเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะเรื่องที่จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต้องนำเสนอผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารราชการบ้านเมือง ส่วนเรื่องใครถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดก็มีขั้นตอนตามราชการอยู่แล้ว เช่น หน่วยงานต้นสังกัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ หรือมีองค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น ดังนั้นเรื่องของ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่เคยนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (อ่านประกอบ : ไขที่มา‘วีระวุฒิ’ฉบับ‘สุรนันทน์’ไฉนได้รับความไว้ใจนั่งเลขาฯ รมต.พาณิชย์ ?)
จากข้อเท็จจริงข้างต้น ภาพลักษณ์ของโครงการรับจำนำข้าว และระบายข้าวจีทูจีค่อนข้างขัดแย้งกันเองอยู่มาก เนื่องจากตอนเบิกความในศาล นายสุรนันทน์ ยืนยันถึงความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน และการแต่งตั้งบุคคลต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวจีทูจี โดยเฉพาะการตั้ง ‘หมอโด่ง’ ให้เป็นเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (นายบุญทรง)
ทว่าเมื่อศาลฎีกาฯพิพากษาคดีดังกล่าว นายสุรนันทน์กลับเขียนเล่าเรื่องราวถึงความ ‘ลึกลับดำมืด’ ที่ดู ‘น่ากลัว’ ในบางโครงการที่อยู่ในมือของนายบุญทรงเสียเอง
หรือจะเป็นจริงอย่างที่นายสุรนันทน์ว่าไว้
ทางการเมือง บางเรื่อง "ต้องตายไปกับเรา"
หมายเหตุ : ภาพประกอบโกดังข้าวจาก สยามรัฐออนไลน์