สุรพล นิติไกรพจน์: พ.ร.บ.จัดซื้อจ้างฉบับใหม่ รวมศูนย์อำนาจ อาจส่งผลกระทบศก.
".. กรณีปัญหาในส่วนของสถานพยาบาลของรัฐชื่อดัง 13 แห่ง ที่ปรากฎเป็นข่าวไปแล้ว ไม่น่าจะเป็นปัญหาเดียวที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่ายังจะมีปัญหาใหม่ตามออกมาอีกเรื่อยๆ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนกล้าออกมาพูดกัน เพราะกลัวจะถูกกล่าวหาว่า ไม่สนับสนุนเรื่องการต่อต้านทุจริต ..."
"ผมยังมีความเห็นเหมือนเดิมว่า พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.2560 นี้ จะสร้างผลกระทบทำให้หน่วยงานของรัฐไม่กล้าจัดซื้อจัดจ้าง และจะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เพราะไม่มีหน่วยงานในกล้าใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง"
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org อีกครั้ง ภายหลังจากปรากฎข่าวว่า พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฉบับนี้ กำลังส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อยา อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาบางรายการของสถานพยาบาลรัฐ เนื่องจากยังไม่มีเกณฑ์รองรับ ซึ่งหากมีการจัดซื้อ อาจมีผลเป็นการฝ่าฝืนทางกฎหมายและมีโทษอาญา ทำให้ผู้บริหารสถานพยาบาลของรัฐชื่อดัง 13 แห่ง มีความกังวล และรวมตัวกันทำหนังสือยื่นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อยื่นข้อเสนอทางแก้ไขปัญหาในขั้นตอนการปฏิบัติงาน (อ่านประกอบ : 13 รพ.รัฐจี้รมว.คลัง กำหนดเกณฑ์ซื้อยา-อวัยวะเทียม หลังพ.ร.บ.จัดจ้างใหม่มีผล หวั่นโทษอาญา)
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา ขอย้อนความเห็น ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ที่เคยกล่าวไว้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 มานำเสนออีกครั้ง
------------------
“ร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ เป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ถือว่า ไปแก้ไขกฎหมายอื่นทุกฉบับ Over Rule (เหนือกฎหมายอื่น) กฎหมายกทม. แก้กฎหมายการบริหารงานศาลปกครอง เป็นต้น กฎหมายฉบับนี้ยังจะไปกระทบรัฐวิสาหกิจ เขียนให้มีคณะกรรมการ 5 ชุด มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานหมด มีคณะกรรมการกำหนดราคากลาง และขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ซึ่งมีอำนาจกำหนดราคากลาง ประกาศทะเบียนคนมีสิทธิจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งหากประกาศอะไรไปแล้ว การขึ้นทะเบียนผู้รับเหมาะก่อสร้างทางของกรมทางหลวงต้องยกเลิก การขึ้นทะเบียนผู้รับเหมาะก่อสร้างเขื่อน ผู้รับเหมาะที่มีศักยภาพเฉพาะด้านต้องยกเลิก คณะกรรมการชุดนี้จะ Over Rule หมด Over Rule เพื่อประโยชน์ป้องกันทุจริต Over Rule บทบาทหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ด้วย และเป็นกรรมการที่อยู่ที่กระทรวงการคลัง"
หน่วยงานรัฐวิสาหกิจจ้างผู้รับเหมาะมาสร้างโรงไฟฟ้า ผู้รับเหมาะนั้นต้องอยู่ในทะเบียนที่คณะกรรมการกลางประกาศกำหนดต่อไป นี่คือส่วนที่อยู่ใน ร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ที่นักกฎหมายมหาชน มองเห็น
สำหรับบทกำหนดโทษทางอาญา ในร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ศ.ดร.สุรพล มองว่า บทกำหนดโทษ จำคุกขั้นต่ำ 1 ปีสูงสุด 10 ปี โดยไม่รอลงอาญา ห่วงว่า การนำมาตรการทางอาญามาใช้ ฐานไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ นั้น แตกต่างจากระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุฯ ซึ่งมีโทษหนักสุด คือ ผิดวินัยร้ายแรง หนักสุดให้ออกจากราชการเท่านั้น
@ ยันไม่ติดใจ เจตนารมณ์ออกกฎหมาย
สำหรับหัวใจของร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ เนื้อหาส่วนของการป้องกันการทุจริตสั้นๆ ไม่กี่มาตรา อยู่ในหมวด 2 มาตรา 15-18 มีคณะกรรมการป้องกันการทุจริต มีข้อตกลงคุณธรรม ในผู้สังเกตการณ์ ศ.ดร.สุรพล ยืนยันว่า "ไม่ติดใจ เจตนารมณ์ของการมีกฎหมายตัวนี้ แต่ที่เป็นปัญหาล้วนแล้วแต่อยู่นอกหมวดนี้ทั้งหมด หมวดอื่นๆ มาตราอื่นๆ เขียนอะไรไปเยอะมาก ชนิดผู้แทนกรมบัญชีกลางเอง ก็ควรจะตกใจ โดยยกร่างที่เขียนไว้เมื่อปี 2550 ใช้บังคับเฉพาะส่วนราชการเท่านั้น ใช้กรอบเดิม ข้อความนี้ปรากฎในบันทึกความเห็นของกฤษฎีกา"
ดังนั้น ร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ นี้จึงแตกต่างอย่างสำคัญจากร่างที่ออกจากกฤษฎีกา โดยเฉพาะข้อยกเว้น มีบางข้อความหายไปเมื่อเข้าสภาฯ
ศ.ดร.สุรพล ระบุอีกว่า ร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ผ่านมา 8 ปี 5 รัฐบาล ไม่เคยประสบความสำเร็จผ่านครม.เลย เพราะทุกหน่วยงานค้านหมด และกระทรวงการคลังไม่เคยเสนอกฎหมายนี้สำเร็จเลย เพราะเขียนเข้มงวด ให้หน่วยงานราชการทำอะไรไม่ได้จนมาสำเร็จในปี 2558 ยุคที่เราพูดกันว่า เราจะป้องกันปราบปรามการทุจริต หากออกกฎหมายทุจริตมาแล้วใครค้าน ต้องตั้งใจโกงแน่ๆ
“ ตอนเริ่มต้นร่างกฎหมายนี้แท้ๆ ไม่ได้ใช้กับคนอื่นเลย ใช้กับส่วนราชการเท่านั้น มีหลักฐานบันทึกของกฤษฎีกาชัดเจน แต่วันนี้ได้งอกเลยออกมาไปองค์กรอื่นๆ ท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรอิสระ ไปได้อย่างไร ไม่มีใครตอบได้ แม้กระทั่งตัวร่างที่เสนอเข้าสภา กับตัวร่างแท้ๆ ก็ไม่เหมือนกัน ไม่รู้ใครแอบไปเติม ไปต่อที่ไหน
ผมเคยพูดกับคุณประมนต์ (สุธีวงศ์) ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ ว่า กฎหมายดีแง่ป้องกัน แต่เขียนให้ทุกคนทำเหมือนกันหมด ผมบอกว่า กำลังพาประเทศถอยหลังไป 50ปี ทำเหมือนกันตามที่คนๆ เดียวสั่ง
เราลืมเหตุผลการตั้งรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นราชการเดิมนั้นล้มเหลวอย่างไร เราไม่เข้าใจการจัดองค์กรภาครัฐรูปแบบเดียวกัน ทำตามกติกา ไร้ประสิทธิภาพในเรื่องบางเรื่อง เราลืมเหตุผลการตั้งองค์กรอิสระ องค์การมหาชนแล้วหรือ เรากำลังเสียสละอะไรบางอย่างที่เป็นพัฒนาการร่วมกันของสังคมไทย เพื่อแลกกับต่อไปนี้อย่าให้ใครโกง ต้องเข้มงวด เรามีวิธีการอื่นหรือไม่
ที่ผ่านมาเราเคยได้ยินกระทรวงการคลังพูดอะไรสักคำเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าว หรือไม่ เวลาที่เป็นนโยบายของรัฐบาล เราเคยได้ยินกระทรวงการคลังพูดอะไรที่รัฐบาลจะกู้เงินมาทำรถไฟความเร็วสูง หรือไม่ เรากำลังบอกว่าประเทศนี้โกงหมด ใครก็ไว้ใจไม่ได้ทั้งนั้น เอาทุกอย่างมารวมศูนย์อยู่ที่กระทรวงการคลัง แล้วจะดูแลให้ทุกคน กระทรวงการคลังก็เป็นหน่วยงานของรัฐ ปลัดกระทรวงการคลังก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็เป็นนักการเมือง ผมตั้งสมมติฐานรัฐบาลข้างหน้า หากตั้งใจจะโกงสั่งรัฐมนตรีคลังคนเดียว เพราะรวมศูนย์ทุกอย่างประเทศนี้ไว้แล้ว
เราจะกระจายอำนาจไปทำไม เราจะมีองค์กรอิสระไปทำไม ที่ผ่านมามีคนพยายามขอแก้อะไรเยอะแยะแต่แก้ไม่สำเร็จ เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบไปแล้ว วิธีเดียวที่เป็นไปให้รัฐบาลนำกลับจากสภาฯ ไปพิจารณาใหม่ แก้อย่างไรก็แก้ไม่ได้เพราะเขียนไว้ในหลักการตั้งแต่ต้น
ผมคิดว่า นี่เป็นหลักการที่ผิดพลาด ไม่เข้าใจหลักการการจัดการองค์กรของรัฐในประเทศไทย"
ทั้งนี้ นักกฎหมายมหาชน ยังกล่าวถึงมาตรา 6 ในร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ระบุถึงรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ ให้ไปออกระเบียบหรือข้อบังคับ ข้อบัญญัติ ยกเว้นได้ และมาตรา 7 อาจยกเว้นเงินบริจาค เงินมหาวิทยาลัย หรือเงินรัฐวิสาหกิจ ฉะนั้น ไม่มีข้อบังคับหรือระเบียบใดจะไปขัดกับหลักการร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ
"หากกฎหมายนี้เกิดขึ้น กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในประเทศนี้จะหยุดชะงักทั้งหมด ทำช้าไม่เป็นไร ไม่มีปัญหา ปรึกษาหารือก่อนจะให้ทำอย่างไร ทำช้าไม่มีใครเดือดร้อน มีกติกาต้องถามกรรมการกลางก่อน สุดท้ายประชาชนจะเดือดร้อน ทำไมกระบวนการซ่อมถนนถึงช้า ทำไมไฟดับ ทำไมการบริหารจัดการท้องถิ่นมีปัญหา ทำไมการจัดซื้อจัดจ้างไม่คล่องตัว
ผมยังนึกไม่ออก ทำไมเราใช้มาตรการทางอาญามากำกับกับการดำเนินการแบบนี้ เรามีกฎหมายทุจริตอยู่แล้ว กฎหมาย ป.ป.ช. กฎหมาย ป.ป.ท. หากเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต โทษประหารชีวิตด้วยซ้ำ ทำไมต้องเขียนกฎหมายประเภทไม่ปฏิบัติตามระเบียบ และน่าสงสัยทุจริต จำคุกเอาไว้"
ศ.ดร.สุรพล กล่าวทิ้งท้ายถึงร่างกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่อยู่ในการพิจารณาของสนช.วาระ 2 ว่า เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง ที่เสนอกฎหมายนี้ และเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลชุดนี้ ว่า ข้างหน้าถ้าประเทศเดินไปไม่ได้ งานบริการสาธารณะหยุด ก็ต้องจำเป็นกฎหมายของใคร ใครเป็นคนออก และใครเป็นกรรมาธิการ
ส่วนสนช.จะไม่พิจารณากฎหมายนี้ต่อได้หรือไม่นั้น นักกฎหมายมหาชน ตอบแทน โดยยืนยันว่า ทำได้ ก็แค่ให้ที่ประชุมสนช.ลงมติ ยกเว้นข้อบังคับนี้เสีย...(อ่านประกอบ :ฟัง"สุรพล นิติไกรพจน์" ทำไมควรถอนร่าง กม.จัดซื้อจัดจ้างฯ ออกจากสนช.)
--------------
ทั้งนี้ ในการพูดคุยกับ ศ.ดร.สุรพล ล่าสุด ภายหลังจากปรากฎข่าวผู้บริหารสถานพยาบาลของรัฐชื่อดัง 13 แห่ง มีความกังวล และรวมตัวกันทำหนังสือยื่นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อยื่นข้อเสนอทางแก้ไขปัญหาในขั้นตอนการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ดังกล่าว
ศ.ดร.สุรพล ยืนยันว่า เนื้อหาพ.ร.บ.ฉบับนี้ ในช่วงที่มีการเสนอร่างต่อ สนช. จนถึงปัจจุบันที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.2560 นี้ ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสาระสำคัญแต่อย่างใด
พร้อมระบุทิ้งท้ายว่า "กรณีปัญหาในส่วนของสถานพยาบาลของรัฐชื่อดัง 13 แห่ง ที่ปรากฎเป็นข่าวไปแล้ว ไม่น่าจะเป็นปัญหาเดียวที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่ายังจะมีปัญหาใหม่ตามออกมาอีกเรื่อยๆ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนกล้าออกมาพูดกัน เพราะกลัวจะถูกกล่าวหาว่า ไม่สนับสนุนเรื่องการต่อต้านทุจริต"
และเชื่อมั่นว่า ไม่นานปัญหาจะทยอยโผล่ออกมาเรื่อยๆ และจะมีผลอย่างมากต่อการใช้จ่ายเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนของรัฐบาลที่วางไว้แน่นอน!