UNODC ชี้ปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ต้นต่อตร.- ตม.รับใต้โต๊ะ
รายงานUNODC ระบุ แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายชาวเมียนมาต้องจ่ายค่านายหน้าสูงถึง 19,000 บาท มากกว่าแรงงานจาก สปป.ลาวและกัมพูชา ขณะที่หนี้สินที่เกิดขึ้น ยังเป็นหัวใจหลักของการเอาเปรียบแรงงานพร้อมทั้งชี้ว่า ขบวนการผิดกฎหมายนี้ ต้นตอหลักมาจากการคอร์รัปชั่นในเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับชั้น
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งชาติสหประชาชาติ (UNODC) ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เปิดเผยผลวิจัย ปัญหาการค้ามนุษย์จากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมามายังประเทศไทย (Trafficking in Persons from Cambodia,Lao PDR and Myanmar,to Thailand) ณ องค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ (อ่านประกอบ:UNODC คาดแรงงานข้ามชาติ 4-23% เข้าไทยผิดกม.ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์)
ความน่าสนใจของผลวิจัยชิ้นนี้ มีการระบุถึง ค่าใช้จ่ายในการลักลอบนำแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในไทย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากการวิจัยและเก็บข้อมูลนับตั้งแต่ปี 2009-2012 สามารถแบ่งค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการลักลอบเข้ามาทำงานผ่านนายหน้า ได้ดังนี้
1.แรงงานชาวกัมพูชา จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานในประเทศไทยโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 100 เหรียญสหรัฐฯหรือราว 3,300 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยดังกล่าวเมื่อเทียบกับการเข้ามาทำงานโดยผ่านกลไกถูกกฎหมายพบว่ามีอัตราที่ถูกกว่า ซึ่งค่าใช้จ่ายแบบถูกกฎหมายอยู่ที่ประมาณ 700 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ในรายงานฉบับดังกล่าว ระบุว่าแรงงานผู้หญิงชาวกัมพูชาจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าเเรงงานผู้ชาย ราว 74 เหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากผู้ชายมีความต้องการมากกว่าในหมู่นายจ้าง
ในรายงาน ระบุว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นจะครอบคลุมค่าเดินทาง (บางครั้งรวมไปถึงอาหาร น้ำและที่พักชั่วคราว) แต่ก็ขึ้นอยู่กับนายหน้าที่นำเข้ามา โดยมีการประมาณการไว้ว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะเริ่มตั้งแต่ 4-850 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ผลการสำรวจที่ผ่านมายังพบว่า ค่านายหน้าที่แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายจากกัมพูชาต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปี 2009 ที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2,777 บาท และในปี 2010 เพิ่มขึ้นเป็น 2,908 บาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในปี 2013 พบว่า จำนวนเงินที่ต้องจ่ายล่วงหน้าเพิ่มถึง 3,000 บาท
ขณะที่นายหน้าที่ลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายไปยังประเทศไทย จะได้รับเงินส่วนแบ่งอยู่ที่ 10-30 เหรียญสหรัฐฯต่อแรงงานหนึ่งคน และจะได้รับเพิ่มอีก 6-15 เหรียญสหรัฐต่อแรงงานหนึ่งคน หากพวกเขาเหล่านั้นได้รับการจ้างจากนายจ้างในไทย
2.แรงงานจากสปป.ลาว พบว่า จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้นายหน้าเพื่อเดินทางมาทำงานในประเทศไทยทั้งแบบผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย อยู่ที่ คนละ 5,000 บาท ขณะที่แรงงานราว 15% จ่ายมากถึง 10,000 บาทต่อคน โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะรวมถึงค่าเดินทาง เอกสารผ่านแดน ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นไปอีกหากแรงงานคนนั้นต้องการเข้ามาทำงานแบบถูกกฎหมาย
ในรายงานฉบับดังกล่าวยังระบุว่า หากแรงงานผู้หญิงชาวลาวจะเดินทางมาทำงานในสถานการบริการหรือในธุรกิจค้าประเวณี พวกเขาจะต้องจ่ายราว 30,000 บาท
รายงานของ UNODC ระบุว่า อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของแรงงานจากสปป.ลาว นั่นคือ หนี้สินที่เกิดขึ้นในระหว่างทางเดินทางมาทำงานในประเทศไทย อันเนื่องมาจากการไม่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมล่วงหน้าได้ ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้นายจ้างเลือกที่จะหักเงินค่าจ้างหรือในบางรายอาจไม่ได้ค่าจ้างเลย และบังคับให้ทำงานในชั่วโมงที่ยาวนาน สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลรุนแรงขึ้นไปอีก หากแรงงานดังกล่าวไม่มีงานทำหรือต้องการเปลี่ยนนายจ้างที่ไม่สามารถทำได้
3.แรงงานจากเมียนมา ค่าใช้จ่ายที่แรงงานต้องจ่ายเพื่อเข้ามาทำงานจะขึ้นอยู่กับระยะทางและสิ่งอำนวยความสะดวกในการนำเข้ามาไทย บางครั้งนายหน้าก็ทิ้งให้แรงงานเหล่านี้จัดการทุกอย่างด้วยตัวเองและมีแรงงานจำนวนมากที่สามารถเข้ามาในประเทศได้ด้วยตัวเองและสามารถเลือกหานายจ้างที่ตัวเองสนใจได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะอยู่ที่ราว 100 บาท ถึง 15,000 บาท
ข้อมูลจากปีค.ศ. 2000 มีการคาดการณืว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะตกอยู่คนละ 9,000-19,000 บาท แต่ราคานี้เพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่าน ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมาจากการขนย้ายแรงงานจากเมียนมาผ่านทางเรือจะทางภาคตะวันออกของเมียนมามายังภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทย
ในปี 2013 UNODC ประมาณการณ์ไว้ว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของแรงงานเมียนมาที่ต้องการเข้ามาทำงานในไทยจะตกอยู่ที่ 406 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าแรงงานจาก สปป.ลาวและกัมพูชาที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตกที่คนละ 97 เหรียญสหรัฐฯและ85 เหรียญสหรัฐตามลำดับ
และเช่นเดียวกันกันหากแรงงานเมียนมาเหล่านั้นไม่สามารถหาเงินมาจ่ายให้นายหน้าได้ พวกเขาจำเป็นต้องชำระเงินในรูปแบบของหนี้สินที่นายจ้างที่หักจากค่าจ้างโดยตรง โดยหนี้สินที่เกิดขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่รายละ 300-500 เหรียญสหรัฐฯ และปัญหาใหญ่อีกอย่างคือ การไม่รู้เท่าทันนายจ้างของแรงงาน บางครั้งพวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าติดหนี้นายจ้างเ่ท่าไหร่ ต้องชำระแต่ละเดือนเท่าไหร่ ปัญหาดังกล่าวนำมาสู่การเอาเปรียบและใช้แรงงานหนักเกินกว่าเหตุ
หากแรงงานมีการเปลี่ยนนายจ้าง หนี้สินเหล่านั้นก็จะถูกนำไปบวกและคิดใหม่ กลายเป็นหนี้สินก้อนใหม่ กระบวนการไม่ต่างอะไรจาก การขาย(Selling) แรงงานจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่พวกเขาจะถูกเอาเปรียบและแสวงหาผลประโยชน์ ลักษณะดังกล่าวมักเกิดขึ้นในขบวนการค้าประเวณีที่มักใช้เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่รู้เท่าทัน
UNODC มองว่า เส้นทางการลักลอบขนย้ายแรงงานผิดกฎหมายในไทย เกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญคือการคอร์รัปชั่นในองค์กรตำรวจ เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจคนเข้าเมือง ที่คอยช่วยเหลือขบวนการเหล่านี้ผ่านการรับเงินใต้โต๊ะ และโดยส่วนมากมักเกิดขึ้นกับการใช้เส้นสาย คนใกล้ชิด องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและอื่นๆ ต่างมองว่าปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้านในไทยจะไม่อยู่ในอัตราที่สูงขนาดนี้หากปราศจากการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐในทุกระดับชั้น