เจาะแฟ้มแถลงปิดคดีอัยการ!เบื้องหลังนำสำนวนจีทูจีเก๊รวมคดี‘ปู’-หัวใจสำคัญทำชาติเจ๊ง?
“…ที่สำคัญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีนโยบายเร่งด่วนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง แต่พฤติการณ์แห่งคดีที่ปรากฏจากการไต่สวนของศาลที่ผ่านมา ฟังได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ หาได้ทำอย่างเคร่งครัดจริงจังดังที่กล่าวอ้างไม่ ทั้งหลังจากมีการเตือนท้วงติงอย่างหนักหน่วงแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยังปล่อยให้มีการทำสัญญาซื้อขายจีทูจีต่อไปอีก 4 สัญญา รวมปริมาณข้าวสูงถึง 14 ล้านตัน นับว่ามีพิรุธน่าสงสัยยิ่งนัก ถือเป็นการผิดมาตรฐานของวิญญูชนคนทั่วไปเป็นอย่างยิ่งที่โดนเตือนท้วงติงอย่างหนักขนาดนั้นแล้ว ยังหลับหูหลับตาไม่สนใจต่อไป…”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา ฝ่ายพนักงานอัยการได้ยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรแก่องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
โดยคำแถลงปิดคดีของฝ่ายอัยการโดยสรุปคือ ชี้ให้เห็นว่า โครงการรับจำนำข้าวไม่มีผลงานวิจัยที่ได้มาตรฐานมารองรับ เป็นเพียงการคิดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอิทธิพลครอบงำพรรคเพื่อไทย และนโยบายนี้จัดทำขึ้นเพื่อหาเสียงจากชาวนาที่มีกว่า 3-4 ล้านครัวเรือน เพื่อต้องการให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง และครองอำนาจรัฐเท่านั้น นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ และสารพัดปัญหาในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวด้วย (อ่านประกอบ : แม้วคิดปูทำ!อัยการชี้จำนำข้าวไร้งานวิจัยรองรับ แค่หาเสียงชาวนาเพื่อต้องการชนะเลือกตั้ง, คำแถลงอัยการปิดคดีข้าวยกคำท้วงติงสารพัดหน่วยงานชี้‘ปู’ไม่จริงจังป้องทุจริต-ชาติเสียหาย)
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และเป็นข้อต่อสู้ระหว่างฝ่ายพนักงานอัยการ และทีมทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาโดยตลอดคือ การที่ฝ่ายพนักงานอัยการนำสำนวนระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ ที่มีนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวกรวม 28 ราย มาใส่ไว้ในสำนวนคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวด้วย สามารถทำได้หรือไม่ และการระบายข้าวจีทูจีเกี่ยวข้องกับการจำนำข้าวอย่างไร ?
ประเด็นนี้ถูกทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โต้แย้งคัดค้านต่อองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯตั้งแต่ตอนตรวจพยานหลักฐานเมื่อปี 2559 แล้วว่า การนำสำนวนคดีระบายข้าวจีทูจี ซึ่งเป็นคนละสำนวนกับคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกฟ้องเป็นจำเลย ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่เกี่ยวข้องกัน นอกจากนี้ตอนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดนั้น ในสำนวนของ ป.ป.ช. ไม่ได้ระบุถึงการระบายข้าวจีทูจีด้วย
เรื่องนี้เองที่ทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องทำคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯ ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการไต่สวนอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ถึง 3 ครั้ง แต่องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯวินิจฉัยแล้วว่า ในการไต่สวนที่ผ่านมาทั้งหมด ได้ให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่าย นำพยานหลักฐานต่าง ๆ มาให้ศาลไต่สวนโดยยุติธรรมแล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก (อ่านประกอบ : ไม่ส่งศาล รธน.ตีความ!พิพากษาคดีข้าว‘ยิ่งลักษณ์’-พร้อมจีทูจี'บุญทรง' 25 ส.ค.นี้, แม้ยุ่งยากแต่ขอโปรดเมตตา!‘ปู’ยื่นซ้ำรอบ3ขอศาลฎีกาฯส่งศาล รธน.ตีความคดีข้าว)
ล่าสุด ในคำแถลงปิดคดีฝ่ายพนักงานอัยการ ได้อธิบายว่า สาเหตุที่ต้องนำสำนวนคดีระบายข้าวจีทูจีมาใส่ไว้ในสำนวนคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากเห็นว่า มูลความผิดอันเป็นหัวใจสำคัญของคดี คือ การทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และระบายข้าวแบบจีทูจี นั่นเอง !
อย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปคำแถลงปิดคดีของฝ่ายพนักงานอัยการเฉพาะประเด็นการนำสำนวนคดีระบายข้าวจีทูจี มาใส่ในสำนวนคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ดังนี้
ประเด็นหลังจากมีการยื่นฟ้องคดีแล้ว อัยการชอบอ้างสำนวนการไต่สวนคดีระบายข้าวจีทูจี รวม 148 แฟ้ม ประมาณ 68,000 แผ่น เข้ามาเป็นพยานหลักฐานในสำนวนคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวนั้น ทำได้หรือไม่
ในเรื่องนี้ข้อต่อสู้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ว่า โจทก์ (พนักงานอัยการ) ไม่มีอำนาจอ้าง และศาลไม่มีอำนาจรับฟัง ก็หาฟังขึ้นไม่อีกเช่นกัน เนื่องจากการกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีนี้นั้น
มูลความผิดอันเป็นหัวใจสำคัญของคดีคือ การทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และระบายข้าวจีทูจี และที่สำคัญตามที่วินิจฉัยในประเด็นข้างต้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เริ่มไต่สวนการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่ ธ.ค. 2555 แล้ว โดยผู้ร้องเรียนกล่าวหาให้ไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยตรง เพียงแต่ในชั้นนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่มีคำสั่งไต่สวนระบุชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น
แต่เนื้อหาแห่งคดีที่ไต่สวน เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนตั้งแต่ตอนแรกแล้วจะเห็นว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนซึ่งทำหน้าที่แทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น ได้มุ่งไต่สวน 2 ประเด็นหลัก คือ 1.การทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว 2.การทุจริตในการระบายข้าว
โดยพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เบิกความสอดคล้องกันทำให้มีน้ำหนักมั่นคงน่าเชื่อถือ และพยานหลักฐานที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้จากการไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าว ก็ฟังเป็นที่ยุติว่า การระบายข้าวตามที่มีการกล่าวหา ไม่มีการซื้อขายแบบจีทูจี และนายบุญทรง กล่าวอ้างหรือแสดงพฤติกรรมรับรองความชอบของการซื้อขายแบบจีทูจีไว้ เรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ระบุข้อเท็จจริงนี้ไว้ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยชัดแจ้งแล้ว
ประกอบกับในชั้นตั้งข้อไม่สมบูรณ์ (คณะทำงานร่วมระหว่างฝ่ายอัยการ และ ป.ป.ช.) อสส. ได้แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ให้รวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับประเด็นการซื้อขายแบบจีทูจี ไว้ในหนังสือดังกล่าวเช่นกัน อีกทั้งในชั้นรวบรวมพยานหลักฐานตามข้อไม่สมบูรณ์นั้น คณะทำงานร่วมได้มีหนังสือขอพยานหลักฐานดังกล่าวจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประกอบสำนวนด้วย โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบให้ส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหานายบุญทรง ให้คณะทำงานร่วมเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
เหตุผลสำคัญประการต่อมาคือ คดีที่ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การพิจารณาคดีของศาลใช้ระบบไต่สวน ซึ่งศาลมีอำนาจเต็มในการแสวงหาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้เองตามที่เห็นสมควร นอกเหนือจากเอกสารหลักฐานในสำนวนการไต่สวนตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลมา แม้กฏหมายจะบัญญัติให้ศาลยึดถือสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณาก็ตาม
ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์แห่งการกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามรูปคดีที่ปรากฏแล้ว ถือว่าการกระทำความผิดอาญาในคดีนี้เป็นอาชญากรรมประเภท ‘White-Collar Crime’ ต่างจาก ‘Street Crime’ ทั่วไป เช่น คดีลักวิ่งชิงปล้นโดยสิ้นเชิง เพราะคดีประเภทนี้ไม่ส่งผลกระทบในวงกว้าง
แต่ผลแห่งการกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือผลของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กำหนดนโยบายที่ผิดพลาดนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมวงกว้างในหลายมิติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ และประชาชนตามมาเป็นระยะ ๆ ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาระแก่งบประมาณแผ่นดิน ภาระหนี้คงค้าง ภาระดอกเบี้ย หนี้สาธารณะ การเงินการคลัง เศรษฐกิจ การเมือง หรือการดำเนินนโยบายของรัฐบาล การเกษตร การส่งออก
รวมทั้งความเสียหายไม่โปร่งใสจากการทุจริตคอร์รัปชั่นในการระบายข้าวแบบจีทูจี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โครงการขาดทุนสูง นอกเหนือไปจากการรับจำนำข้าวในราคาสูงเกินกว่าราคาท้องตลาดประมาณ 50-60% และผลเสียหายอื่น ๆ ที่กระทบกันเป็นลูกโซ่อีกหลายด้าน
แม้กระทั่งการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่ต้องสะดุดไปอันสืบเนื่องมาจากการต้องนำเงินส่วนใหญ่ไปชำระหนี้ดอกเบี้ย และต้นเงินที่กู้มาใช้ในโครงการหลายแสนล้านบาท ล้วนแล้วแต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น โดยจากรูปคดีที่ปรากฏผลเสียหายทั้งหมดยังเกิดขึ้นในปัจจุบัน คงอยู่ และยังดำเนินต่อไปไม่จบสิ้น
สอดคล้องกับการเตือนท้วงติงต่าง ๆ อย่างหนักหน่วง ที่มีการตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการ ขณะดำเนินโครงการ และหลังดำเนินโครงการว่า จะมีผลเสียหายอย่างไรบ้างในอนาคตหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังคงดันทุรังดำเนินนโยบายต่อไปเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่มีบทเรียนในอดีตให้จดจำ และนำไปแก้ไขป้องกันปัญหาที่ไม่ควรเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และผลของการกระทำดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อชาติบ้านเมืองอีกยาวนานหลายสิบหรืออาจเป็นร้อยปีก็ว่าได้
ด้วยเหตุนี้ อสส. ในฐานะทนายแผ่นดินซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชนคนทั้งชาติ จึงชอบที่จะอ้างพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โต้แย้งมาเพิ่มเติมได้ เนื่องจากเป็นผลของการกระทำที่ยังเกิดขึ้นสืบเนื่องต่อมาตามลำดับวันเวลา ยังไม่สิ้นสุดไป ทั้งไม่ทราบว่าจะจบสิ้นเมื่อใด แม้การกระทำนั้นจักได้สำเร็จแล้วก็ตาม
ดังนี้การที่ศาลไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมตามที่โจทก์อ้างและมีดุลยพินิจเห็นสมควร ย่อมถือเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยเหตุผล และชอบด้วยประโยชน์แห่งความยุติธรรมแล้ว อีกทั้งคำว่า ‘เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม’ นั้น เป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก และย่อมครอบคลุมถึงเพื่อประโยชน์แห่งการไต่สวนข้อเท็จจริงด้วย มิใช่แต่เพื่อประโยชน์แก่ฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฝ่ายเดียวตามที่อ้าง
นอกจากนี้การทุจริตในการระบายข้าวจีทูจี คือหัวใจสำคัญของการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และหากพิจารณาในภาพรวมแล้วน่าจะถือเป็นคำตอบสุดท้ายของกระบวนการกระทำผิดในคดีนี้ก็ว่าได้ ประกอบกับเอกสารหลักฐานในสำนวนการไต่สวนการระบายข้าวจีทูจี ก็ผ่านกระบวนการรวบรวมนำเข้ามาในสำนวนคดีนี้ตั้งแต่ชั้นการตั้งข้อไม่สมบูรณ์ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ อสส. แล้ว
ที่สำคัญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีนโยบายเร่งด่วนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง แต่พฤติการณ์แห่งคดีที่ปรากฏจากการไต่สวนของศาลที่ผ่านมา ฟังได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ หาได้ทำอย่างเคร่งครัดจริงจังดังที่กล่าวอ้างไม่ ทั้งหลังจากมีการเตือนท้วงติงอย่างหนักหน่วงแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยังปล่อยให้มีการทำสัญญาซื้อขายจีทูจีต่อไปอีก 4 สัญญา รวมปริมาณข้าวสูงถึง 14 ล้านตัน นับว่ามีพิรุธน่าสงสัยยิ่งนัก ถือเป็นการผิดมาตรฐานของวิญญูชนคนทั่วไปเป็นอย่างยิ่งที่โดนเตือนท้วงติงอย่างหนักขนาดนั้นแล้ว ยังหลับหูหลับตาไม่สนใจต่อไป
เมื่อฟังประกอบกับการที่จำเลยเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำประเทศที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนโดยรวม มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจังตามที่แถลงนโยบายไว้ และมีหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่ต้องติดตามกำกับดูแลการระบายแบบจีทูจีโดยตรง กลับไม่ให้ความสำคัญระมัดระวังเอาใจใส่อย่างเข้มงวดจริงจัง
จนทำให้พฤติการณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ น่าฟังว่า สมยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการทุจริตหรือเอื้อประโยชน์ให้มีการทุจริต ทั้ง ๆ ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี หัวหน้ารัฐบาล และเป็นผู้มีอำนาจเหนือข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่จะสั่งการให้ตรวจสอบหรือสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างง่ายดายตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แต่หาได้ทำอย่างจริงจังตรงไปตรงมาไม่กลับละเลยเพิกเฉยจนปราศจากเหตุผล
และถ้าหากการติดตามกำกับดูแลมีประสิทธิภาพโดยทำได้จริงตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอ้าง การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในแต่ละฤดูกาลผลิต และการระบายข้าวตามลำดับวันเวลา ย่อมไม่มีปัญหาตามที่มีการเตือนท้วงติงเป็นแน่แท้ และย่อมสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งมีมาตรการในการป้องกันความเสียหายและการทุจริตอย่างใกล้ชิดจริงจังสมกับที่เป็นโครงการใหญ่ ใช้เงินมากมายมหาศาลหลายแสนล้านบาท โดยรวมโครงการรับจำนำข้าว 5 ฤดูกาลผลิต รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้เงินไปทั้งสิ้นประมาณ 9.32 แสนล้านบาท มีภาระคงค้างหนี้สูงประมาณ 6.74 แสนล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) และใช้เงินไปทั้งสิ้นประมาณ 9.41 แสนล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 2 ปีเศษเท่านั้น ยังไม่รวมผลขาดทุนที่สูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และหากนับรวมถึงผลขาดทุน ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน (ยังไม่รวมในอนาคต) อาจมียอดใช้เงินทะลุ 1 ล้านล้านบาทไปแล้ว ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย
นี่เป็นประเด็นความเสียหายที่เป็นผลมาจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเท่านั้น ยังไม่รวมถึงประเด็นความเสียหายอันเกิดจากการทุจริตในการระบายข้าวจีทูจีที่มีการขายข้าวอันเป็นทรัพย์สินของชาติไปในราคาต่ำกว่าท้องตลาด เพราะการทุจริตย่อมถือเป็นความเสียหายอย่างหนึ่งในตัวของมันเอง และนั่นหมายความว่า ประชาชนคนทั้งชาติที่เป็นเจ้าของภาษีเป็นเจ้าของแผ่นดินต้องแบกรับภาระหนี้ก้อนนี้โดยไม่เป็นธรรมเช่นกัน ข้อกล่าวอ้างของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงหาฟังขึ้นไม่
----
นี่คือหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ฝ่ายอัยการถึงกับใช้คำว่า ‘หัวใจหลัก’ ที่ทำให้ต้องนำสำนวนคดีระบายข้าวจีทูจี มาใส่ไว้ในสำนวนคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย
ท้ายสุดคำพิพากษาจะออกมาในรูปแบบใด ต้องรอลุ้นกันวันที่ 25 ส.ค. นี้
อ่านประกอบ :
ย้อนมหากาพย์จำนำข้าว(1):จากนโยบายช่วยชาวนาจนนายกฯถูกฟ้อง ทำขาดทุน-ชาติเสียหาย?
ย้อนมหากาพย์จำนำข้าว(2):อภิปรายจีทูจีฉาว-ป.ป.ช.ยกเหตุสอบเดี่ยว จุดตาย‘ยิ่งลักษณ์’?
ยกคำกล่าว'สัญญา ธรรมศักดิ์'แจงศาล! แถลงปิดคดีข้าว‘ปู’ฉบับเต็ม “ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด"
ร่ำไห้กลางศาล!‘ปู’ครวญตกเป็นเหยื่อการเมือง-ขอตัดสินเป็นธรรมไม่ฟังคำชี้นำใคร
หมายเหตุ : ภาพประกอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จาก nation, ภาพนายบุญทรง จาก thaipublica