องค์กรโปรเทคชั่นฯเผย 4ปี หญิงไทย119คน ถูกฟ้องจากการสู้เพื่อสิทธิพื้นฐาน
องค์กรโปรเทคชั่นอินเตอร์ฯ เผย 4 ปี ไทยมีผู้หญิงราว 119 คน ถูกฟ้องจากการลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิพื้นฐาน วอนลดขั้นตอนการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม เครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายฯ เรียกร้องรัฐไทยปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW ให้เป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2560 ที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ เครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายในประเทศไทยที่ติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบได้ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวการติดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) พร้อมจัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย: สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต้องนำมาปฏิบัติได้จริงสำหรับผู้หญิงทุกคน”
น.ส.ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กรโปรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล(PI) กล่าวว่า นับจากวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลาหนึ่งเดือนกว่าแล้วที่รัฐบาลไทยได้นำเสนอรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรืออนุสัญญา The Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women (CEDAW) ที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยภายหลังการนำเสนอของรัฐบาลไทยคณะกรรมการ CEDAW ได้จัดส่งข้อคิดเห็นโดยสรุปต่อการรายงานของไทย ซึ่งคณะกรรมการฯ แสดงความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิง ที่ทำงานรณรงค์โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในที่ดิน การปกป้องสิ่งแวดล้อม สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของคนชนบท เลสเบียน ไบเซ็กชัล หญิงข้ามเพศ และหญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องตกเป็นเป้าหมายการฟ้องร้องดำเนินคดี การคุกคาม การใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ที่เป็นผลจากการทำงานของพวกเธอโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ชี้แจงและรับปากต่อคณะกรรมการ CEDAW ว่าจะดำเนินการแก้ไขในหลากหลายประเด็นที่เป็นข้อกังวลของคณะกรรมการ
น.ส.ปรานม กล่าวว่า ภายหลังการนำเสนอรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW ของรัฐบาลไทยไม่กี่สัปดาห์ก็มีผู้หญิงในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรธุรกิจเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นกรณีของ “แม่สุภาพ คำแหล้” ผู้หญิงชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องที่ดินที่สามีหายไปไร้ร่องรอย ที่ล่าสุดแม่สุภาพถูกสั่งจำคุก 6 เดือนในคดีรุกป่าสงวน
น.ส.ปรานม กล่าวด้วยว่า จากการลงเก็บข้อมูลของ PI ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ถึงปัจจุบันมีผู้หญิงอย่างน้อย 119 คน ที่ถูกฟ้องร้องขับไล่จากการต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานเพียงเพื่อจะเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกินและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นคณะกรรมการ CEDAW ได้เสนอรัฐบาลไทยให้ลดขั้นตอนความยุ่งยากในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม
"ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมามีผู้หญิงมากกว่า 7 ชุมชนโดยทั้งหมดแทบจะไม่ได้เข้าถึงกองทุนยุติธรรมถึงแม้บางกรณีเข้าถึงแต่ต้องผ่านการอุทธรณ์แล้วอุทธรณ์อีก นี่เป็นเพียงแค่ภาพบางส่วนที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในประเทศไทย แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีผู้หญิงในประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม และเมื่อใดก็ตามที่สังคมใดไม่มีความเป็นธรรมให้กับผู้หญิงก็เท่ากับว่าสังคมนั้นไม่มีความเป็นธรรม "
ด้านนางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนจากกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดกล่าวว่า ภายหลังจากที่ตนได้เข้าร่วมการประชุมอนุสัญญา CEDAW เมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา ก็มีความหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะรัฐบาลได้ยืนยันกับคณะกรรการ CEDAW ว่าจะคุ้มครองนักต่อสู้ผู้หญิงทุกคน แต่ยังไม่ทันพ้นเดือน ก็มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ต้องถูกดำเนินคดี โดยกรณีที่ชัดที่สุดที่เพิ่งผ่านพ้นมาคือกรณีของแม่สุภาพ คำแหล้ ภรรยาของพ่อเด่น คำแหล้ ที่ถูกบังคับให้สูญหาย โดยกรณีของแม่สุภาพเป็นการถูกตัดสินจำคุกทั้งๆ ที่ต่อสู้เพื่อได้สิทธิที่จะอยู่จะอยู่และทำกินในที่ดินของตนเอง และที่น่าตกใจคือกรณีของแม่สุภาพมีข้อตกลงกับรัฐบาลที่ชัดเจนว่าจะสามารถอยู่และทำกินบนที่ดินผืนนั้นได้ ไม่นับรวมคดีของพวกเรากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดหลังจากกลับจากประชุมไม่กี่สัปดาห์ ตนและเพื่อนผู้หญิงในหมู่บ้านอีก 6 คนก็ต้องขึ้นสู่การพิจารณาของศาลในคดีที่เกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในพื้นที่ของตนเองจากเหมือนแร่และซ้ำร้ายหน่วยงานที่ฟ้องก็คือหน่วยงานรัฐ
นอกจากนี้ นางวิรอน กล่าวถึงการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมคณะกรรมการ CEDAW ได้มีข้อเสนอในต่อรัฐบาลไทยในข้อ 11 ที่ให้ลดความซับซ้อนของกระบวนการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมและสามารถสร้างหลักประกันให้ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมได้ ซึ่งในความเป็นจริงในปัจจุบันเราไม่สามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมโดยส่วนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดก็มีความยุ่งยากมากที่จะเข้าถึงการขออนุมัติเงินประกันตัวจากกองทุนยุติธรรม ประเด็นต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่รัฐจะต้องทำให้ผู้หญิงที่ลุกขึ้นที่ลุกขึ้นมาปกป้องผืนดินของตนเองทรัพยากรของตนเองได้รับความเป็นธรรมและความเท่าเทียมเหมือนทีรัฐบาลได้รับปากกับคณะกรรมการ CEDAW ไว้
ขณะที่นางปรีดา ปานเมือง ตัวแทนจากเครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ กล่าวว่า กระบวนการในการพัฒนาจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแผนด้านการเกษตรกรรและการพัฒนาชนบทเหมือนดังที่คณะกรรมการ CEDAW ได้จัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยมา นอกจากนี้แล้วยังมีผู้หญิงชนบท และผู้หญิงชาติพันธ์ุอีกเป็นจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งคณะกรรมการ CEDAW ได้เสนอให้รัฐบาลต้องสร้างหลักประกันว่าผู้หญิงชนบทต้องมีส่วนร่วมในแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติในการพัฒนาที่ยั่งยืน
น.ส.ไหม จันตา ตัวแทนจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์เกิดขึ้นพร้อมกันกับที่รัฐบาลไทยเซ็นร่วมอนุสัญญา CEDAW ที่มีกฎหมายและนโยบายมากมายใช้กับเราเมื่อ 32 ปีที่ผ่านมา เราเป็นผู้หญิงบริการ และไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่ต่อสู้เรื่องที่ดิน หรือต่อสู้เรื่องเหมืองแร่ ก็เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ พนักงานบริการเราก็ไม่ต่างกันเรายังคงถูกเลือกปฎิบัติไม่ต่างจากผู้หญิงกลุ่มอื่นๆ
"ที่ผ่านมาเราไม่เคยได้รับการปฏิบัติด้วยการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีกฎหมายและนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและการทำงานของเราเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นการล่อซื้อและบุกทลาย และการค้าประเวณีถึงแม้จะมีความผิดก็ไม่ได้หมายเจ้าหน้าที่รัฐหรือใครจะกระทำอย่างไรกับเราก็ได้ ซึ่งคณะกรรมการ CEDAW ได้มองเห็นว่าการทำงานของพวกเราต้องได้รับการคุ้มครองตามกฏหมายแรงงาน โดยคณะกรรมการ CEDAW ได้ระบุในข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในข้อ 27 ให้รัฐบาลไทยหยุดการล่อซื้อบุกทลาย และทบทวน พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณีให้ไม่มีความผิดทางอาญา และภายใต้กฎหมายแรงงานพนักงานบริการต้องได้รับการคุ้มครอง"
ทั้งนี้รัฐบาลไทยต้องเร่งดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CEDAW เหล่านี้ให้เป็นรูปธรรมซึ่งเอ็มพาวเว่อร์จะเฝ้าระวังและติดตามการทำงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดว่าได้ดำเนินการเพื่อที่จะปกป้องคุ้มครองผู้หญิงทุกๆ กลุ่มอย่างเป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร
อ่านประกอบ
ยูเอ็นออกโรงเร่งไทยหยุดใช้กฎหมายปิดปากนักกิจกรรมหญิง
เด่น คำแหล้ กับอีก 483ชะตากรรมนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ทำกินทั่วโลก