นักวิชาการแนะจัดการน้ำอีสานยั่งยืน สร้างเขื่อนขนาดกลางรับน้ำ-แก้แล้ง
นักวิชาการจุฬาฯ ชี้สกลฯ จมทั้งเมือง เหตุฝนตกหนัก-นาน ระบบทำนายอ่อน ต้องปรับปรุง แนะจัดการน้ำอีสานยั่งยืน สร้างเขื่อนขนาดกลางเพิ่ม สร้างแผนที่ลำน้ำ แบ่งจัดการให้ชัด เห็นด้วยมีองค์กรกลางดูแลแม่น้ำสายหลัก สายรอง-สายย่อย ให้ท้องถิ่นดูแล
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงสถานการณ์อุทกภัยในภาคอีสาน โดยเฉพาะจ.สกลนคร ที่เริ่มคลี่คลาย โดยเมื่อกลับมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุ นอกจากสภาพอากาศแล้ว จะพบว่า ในพื้นที่ไม่มีเครื่องมือบริหารจัดการน้ำที่ดี ส่วนใหญ่จะมีฝายที่สร้างกั้นแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีเป็นหลัก เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อเกษตรกรรมในฤดูแล้งเท่านั้น แต่ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ที่เพียงพอ ด้วยสภาพพื้นที่จำกัด ซึ่งแตกต่างจากภาคกลางที่มีเขื่อนขนาดใหญ่จำนวนมาก
ประกอบกับที่ผ่านมาไทยมีจุดอ่อนในเรื่องความสามารถในการทำนายภัยพิบัติ ยกตัวอย่าง ปกติพื้นที่ จ.สกลนคร ฝนตกประมาณ 20-40 วัน แต่หนนี้ฝนตกนานถึง 152 วัน ทำให้เกิดอุทกภัย ฉะนั้นจำเป็นต้องปรับปรุง และระยะยาวอาจต้องก่อสร้างเขื่อนขนาดกลางเพื่อบริหารจัดการน้ำ นอกเหนือจากการใช้โมเดลหลุมขนมครก ซึ่งช่วยได้เฉพาะพื้นที่ขนาดเล็กเท่านั้น
นักวิชาการจุฬาฯ ยังกล่าวเห็นด้วยที่จะมีข้อเสนอให้ไทยมีองค์กรกลางดูแลแม่น้ำสายหลักของประเทศเหมือนอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำถูกย้ายไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่นโยบายในการบริหารจัดการน้ำจะต้องไม่แบ่งเป็นพื้นที่ แต่ต้องแบ่งตามหลักสากลให้ประเทศดูแลแม่น้ำสายหลัก จังหวัดดูแลแม่น้ำสายรอง และตำบลดูแลแม่น้ำสายย่อย มิใช่ให้องค์กรใหญ่ไปดูแลทั้งหมด
“จริง ๆ ต้องทำแผนที่ลำน้ำ พร้อมกับแบ่งบทบาทให้ชัดเจน แต่ปัจจุบันไทยยังไม่มีเรื่องเหล่านี้ ขณะที่กฎหมายขึ้นตรงกับกรมเจ้าท่าทั้งหมด” รศ.ดร.สุจริต กล่าว และว่า การจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำดูแลลุ่มน้ำแต่ละสาขานั้น ยังติดขัดว่าจะแบ่งปันให้ใครทำหน้าที่ดูแลอย่างไร เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดชอบแบ่งบทบาทในการดูแลแบบอำเภอ ตำบล แต่เราต้องการให้แบ่งเป็นลุ่มน้ำย่อยมากกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรมชลประทานรายงานปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำชี ล่าสุด เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 93 ล้านลบ.ม. (ร้อยละ 57) จากความจุ 181 ล้านลบ.ม., เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และจ.หนองบัวลำภู มีปริมาณน้ำเก็บกัก 1.59 พันล้านลบ.ม. (ร้อยละ 66) จากความจุ 4.64 พันล้านลบ.ม. และ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 1.72 พันล้านลบ.ม. (ร้อยละ 87) จากความจุ 2.45 พันล้านลบ.ม.
อ่านประกอบ:รู้จักสกลนคร ผ่านหนังสือ เมืองหนองหารหลวงและภูพานมหาวนาสี
กรมชลฯ รับ 4 อ่างเก็บน้ำ ที่สกลนคร เกินความจุเก็บกัก