การดูแลสุขภาพในมุมมองฟิสิกส์ (2) : Mitochondrial Trafficking
ผลงานวิจัยทางสุขภาพในขณะนี้ มีมากจนบางครั้งก็เริ่มสับสนได้ ทุกเรื่องที่ทำวิจัยนั้น ที่จริงแล้วเป็นการแอบมองธรรมชาติในร่างกาย เพื่อนำผลลัพธ์มาอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เราไม่ได้เห็นทุกอย่างและไม่ได้ดูตลอดเวลา จึงต้องมีการสร้างความเชื่อมโยงประกอบ โดยใช้ผลลัพธ์ที่เราพบ มาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการดำเนินเรื่อง ซึ่งมีจุดอ่อนหลายอย่างที่ทำให้การแปลผลต่างกันออกไป จึงเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ในทางการแพทย์แล้ว “ไม่มีอะไรแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์”
ข้อแรก ลำดับของเหตุการณ์( Sequent of Event) เนื่องจากเราเปิดดูขบวนการต่างๆ ในร่างกายโดยตรงไม่ได้ เราจึงต้องตรวจวินิจฉัยเพื่อดูความแตกต่างเป็นระยะ เจาะเลือดทุก3เดือน อุลตราซาวน์ทุก6เดือน เอกเรย์ทุกปี ฯลฯ แล้วนำผลที่ได้มาเชื่อมโยงจนไปสู่การมองหาสาเหตุ แต่เราก็ไม่รู้ว่าข้อมูลที่ได้มาเป็นต้นเหตุหรือเป็นผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลง เพราะเราไม่ได้เฝ้าดูทุกระบบตลอดทุกเวลา ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราคิดว่าสิ่งที่พบเป็นต้นเหตุแล้ว เราจะหยุดการค้นหาต่อไป ทำให้การรักษาไม่ครบขบวนการ ส่วนวิธีวินิจฉัยโรคถ้าอธิบายกลไกได้ไม่หมด ก็มักใช้คำว่า Idiopathic คือ ไม่ทราบสาเหตุไว้ก่อน เพราะเรารู้แค่นี้จริงๆ
ข้อสอง ขบวนการในร่างกายเป็นเรื่องซับซ้อน ( Multifactorial event) การมีหลายปัจจัย และบางปัจจัยอาจทำปฏิกิริยาซ้ำซ้อน ทำให้เกิดความหลากหลาย การอธิบายจึงต้องประเมินและให้น้ำหนัก (Weighing) ว่า แต่ละปัจจัยว่ามีน้ำหนักมากน้อยต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายังไม่รู้รายละเอียดจึงกำหนดแน่นอนเองไม่ได้ จนกว่ามีการค้นพบปัจจัยหลักที่สำคัญแล้วเท่านั้น จึงจะทราบลำดับและน้ำหนักที่แท้จริงได้ การทดลองที่มีผลแตกต่างกัน โดยต่างคนต่างมีหลักฐาน ก็ไม่ใช่เรื่องผิดถูก แต่เป็นเรื่องที่ต้องอธิบายด้วยปัจจัยที่ให้น้ำหนักไม่เท่ากัน หรืออาจเป็นปัจจัยรองทั้งคู่ (เพราะต่างก็ยังรู้ไม่ครบ) การรักษาในปัจจุบันจึงหลากหลายเพิ่มขึ้นไปเรื่อยตามผลการวิจัย
ข้อสุดท้าย ขบวนการในร่างกายเป็นเรื่องต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผลการตรวจสุขภาพประจำไม่สามารถรับประกันสุขภาพที่ดีได้ การตรวจสุขภาพจึงไม่ใช่การป้องกัน แต่เป็นการตรวจเพื่อเริ่มรักษาเร็ว ซึ่งมีข้อดีหลายอย่าง เพราะอาการน้อยไม่แทรกซ้อน การรักษาก็ง่าย แต่มีสิ่งที่สำคัญกว่า คือ อาการ (sign and symptom) ซึ่งเป็นภาษาที่ร่างกายกำลังคุยกับเจ้าของว่าได้มีบางอย่างที่ผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่? เราจึงต้องเป็นคนช่างสังเกตและจำเป็นต้องเรียนรู้ใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา โดยพิจารณาถึงเหตุผลและความเป็นไปได้ด้วย (ขณะนี้ในเน็ตมีคำบอกเล่าเกี่ยวกับสุขภาพจำนวนมาก) เพื่อสร้างความรู้ที่ถูกต้อง แล้วนำมาใช้ในการดูแลป้องกันได้จริง
ผมนำเสนอข้อคิดข้างบนก่อน เพราะ งานวิจัยด้านรักษามีมาก และหลากหลาย ในขณะที่งานวิจัยด้านป้องกันมีน้อยและเชื่อมโยงต้นเหตุของโรคได้ยาก คนที่ต้องการรอให้มีผลงานวิจัยด้านนี้มายืนยันการอธิบายของผมก่อน คงต้องรอนานอีกหลายสิบปี เพราะสิ่งที่ผมกำลังอธิบายนี้เป็นการพัฒนาที่ข้ามศาสตร์ (Interdisciplinary) ซึ่งจะเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ชีวะกับศาสตร์ฟิสิกส์ (ในขณะที่งานวิจัยปัจจุบันเน้นเรื่องชีวะเคมี) โดยอาศัยงานวิจัยทั้ง3 ที่อ้างถึงในบทความที่แล้ว มาสังเคราะห์ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงการเกิดโรค ผมจะสรุปให้เข้าใจง่ายขึ้นดังนี้
1.ร่างกายของคนเราไม่ได้มีแต่สรีระซึ่งประกอบขึ้นด้วยอวัยวะระบบต่างๆ และทำงานด้วยระบบสารเคมีเท่านั้น ยังมีระบบสั่งงานด้วยพลังงานซ้อนอยู่ด้วย ตัวอย่างที่อธิบายแล้วทำให้เข้าใจง่ายขึ้น คือ ระบบประสาทซึ่งถักใยเป็นร่างแห คลุมทุกส่วนของร่างกาย ระบบนี้เรารู้จักมานานแล้ว เป็นระบบสั่งงานของโครงสร้าง (Musculoskeleton system) ทำให้สมองสามารถสั่งให้ขยับแขนขาได้ และมีระบบเตือนภัยคือประสาทความรู้สึกอยู่ด้วย ระบบนี้จึงเป็นผู้คุ้มภัย ถ้าเกิดความปวดเกิดขึ้นทุกครั้ง แสดงว่า ได้มีสิ่งอันตรายเกิดขึ้นแล้ว ก็จะสั่งใช้ระบบโครงสร้างเพื่อสู้หรือหนีได้ทันที
2. ร่างกายมีอวัยวะสำคัญๆอยู่ 11 ระบบ แต่มีระบบสั่งงานเพียงระบบเดียวที่เรารู้จักและสามารถทดลองได้ คือระบบเส้นประสาท เมื่อไม่นานมานี้มีคลิปการผ่าตัดสมองในขณะที่คนป่วยยังรู้ตัวแถมยังเล่นไวโอลินอยู่ด้วย เพื่อทดลองระบบสั่งงานว่า การผ่าตัดไม่ได้ทำลายเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเล่นไวโอลิน ซึ่งเป็นอาชีพสำคัญของคนป่วย แล้วอวัยวะอีก10ระบบที่เหลือทำงานได้เองโดยไม่มีการสั่งงานหรือ?
3. ผมเป็นหมอกระดูก ที่สนใจการป้องกันกระดูกเสื่อมมานาน ตั้งแต่สมัยเรียนเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกที่ศิริราช เพราะตัวเองอยู่เวรแล้วเอี้ยวไปรับโทรศัพท์ คอเคล็ดเจ็บอยู่นานเกือบปี พอจบมาจึงค่อยรวบรวมความรู้เพื่อสร้างกระบวนการดูแลโรคด้วยศาสตร์ทางฟิสิกส์ โดยหาหนังสืออื่นที่ไม่ใช่ตำราแพทย์มาอ่าน แต่เป็นหนังสือที่ช่วยรักษาโรคปวดหลังปวดคอได้ มีตั้งแต่ chiropractor รำมวยจีน เล่นโยคะ Alexandra method ฝังเข็ม ล่าสุดก็มณีเวชในยูทูปฯลฯ แต่ไม่เคยไปรักษาจริงสักอย่าง สุดท้ายผมก็สรุปหลักการได้ว่าการดูแลด้วยฟิสิกส์นั้น มีเรื่องสำคัญที่ต้องคอยดูแลอยู่ 2 เรื่อง คือ น้ำหนักตัวไม่ให้เพิ่มและดูแลท่าทางของร่างกายให้ตัวตรงเหมือนท่ายืนตรงตลอดเวลา รวมถึงการนั่งการนอนด้วย ต้องนั่งนอนให้ลำตัว (หลังและคอ) ตรงเหมือนยืนด้วย
4. ผลพลอยได้จาการปฏิบัติตัวตามศาสตร์ฟิสิกส์ มีเรื่องที่ทำให้ผมแปลกใจมาก คือ เส้นผมที่เคยหงอกขาวกลับมาดำได้ (ผมอายุ30ปลายๆ ก็เริ่มมีผมขาวแล้ว) ผมเชื่อโดยหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ว่า ต้องมาจากการสั่งงานของร่างกายให้เซลล์ผมสร้างเม็ดสีใหม่ ผมหางานวิจัยที่มาช่วยอธิบายนานหลายปี โดยเน้นไปที่การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เพราะไม่เชื่อว่าระบบนี้จะทำงานเฉพาะตอนตื่นเต้นหรือกลัวเท่านั้น (สู้หรือหนี) น่าจะมีกระแสประสาทอ่อนๆที่ถูกส่งออกมาแบบอัตโนมัติตลอดเวลา แต่เรายังตรวจจับไม่ได้ เช่น อาจมี Neurotransmitter ใหม่ๆ ที่ทำงานต่างออกไป หรือมีการเชื่อมต่อระบบประสาท (receptor) ที่ทำงานเฉพาะด้าน เหมือนการค้นพบ nicotinic receptorในระบบ parasympathetic สุดท้ายก็ล้มเหลว จนมาเจอบทความเรื่อง Mitochondria ซึ่งเริ่มรายงานการค้นพบมาตั้งแต่ปี 2012 จึงนำมาเชื่อมโยงกันและอธิบายสิ่งที่ผมเชื่อได้
5. ระบบสั่งงานที่ใช้เส้นประสาทกระจายร่างแหไปทั่วร่างกายนั้น ความจริงมีอยู่สองระบบซ้อนกัน (Two in one) นอกจากระบบกระแสประสาท ที่ทำงานบริเวณผิวแล้ว ตัวเส้นประสาทเองที่เป็นแท่งแข็งอัดแน่นก็เป็นอีกระบบ เพราะเกิดจาก nanotubule ของ Mitochondria ซึ่งทำงานเป็นระบบคำสั่งสำหรับอวัยวะที่เหลือทั้ง10 ระบบ Mitochondria ทำงานโดยการเคลื่อนตัวสลับหยุดนิ่ง เป็นแบบแผนคล้ายสัญญาณควัน มีการรวมกันให้ใหญ่หรือยาวขึ้น มีการแบ่งตัวให้สั้นหรือเล็กลง การเคลื่อนตัวโดยรวมแบบนี้เราเรียกว่า Mitochondrial Trafficking เมื่อเส้นประสาทนี้ไปสิ้นสุดที่จุดเชื่อม (Synapse)กระแสประสาทที่เป็นระบบไฟฟ้าก็โดดข้ามได้ แต่กระแส Mitochondria นี้ก็มีวิธีเชื่อมโยงไปทุกเซลล์ของร่างกายได้ตามงานวิจับที่3 กลายเป็นร่างแหของ Mitochondria คลุมทั้งร่างกายแบบเดียวกับระบบประสาท
6. เนื่องจาก : Mitochondria คือ แหล่งพลังงานของเซลล์ ด้วยการสร้าง ATP เมื่อมีการแปลงสัญญาณเป็นระบบคำสั่งโดยวิธีการ Mitochondrial Trafficking เมื่อถูกสร้างเป็นพลังงานจึงมีลักษณะเป็นคำสั่งด้วย เรียกว่า Power signaling และคำสั่งพลังงานนี้ถูกใช้ทำงานเพื่อสร้างสารชีวะเคมีต่างๆที่ Gene คำสั่งพลังงานที่ผิดย่อมทำให้เกิดสารที่ผิดๆ กลายเป็นโรคต่างๆ เช่นมะเร็งได้ หรือคำสั่งพลังงานที่มากเกินไป ก็ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นเองโดยไม่ต้องไปถึง Gene เกิดจากมีสาร ROS ผลิตออกมาจาก Mitochondria (การอักเสบทำให้ร่างกายเสื่อมหรือแก่ลง) ส่วนคำสั่งพลังงานที่มากเกินที่ไปถึง Gene ก็สร้างภูมิต้านทานที่มากเกินต่อร่างกายตัวเองได้ กลายเป็นโรคSLE หรือในระบบทางเดินอาหาร ก็สร้างกรดเกิน เป็นโรคกระเพาะ หรือกรดไหลย้อน(เกิดร่วมกับคำสั่งหูรูดหลอดอาหารลดอ่อนแรงลงด้วย เพราะเป็น Multifactorial event) ถ้าคำสั่งพลังงานที่น้อยไปก็ทำให้ขาดการสร้างหรือสร้างไม่สมบูรณ์ เช่น โรคเบาหวานที่เกี่ยวกับการสร้างอินสุลิน ซึ่งมีชนิด1 และ2 ตามลำดับ โรคที่เกี่ยวกับการสร้างฮอร์โมนอื่นก็อธิบายได้เช่นเดียวกัน คำสั่งพลังงานที่ ลดลงกำลังของหูรูดต่างๆก็อ่อนแรงด้วย อั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือมีกรดไหลย้อน เป็นต้น
7. อานิสงส์จากการเรียนรู้วิธีดูแลสุขภาพกระดูกด้วยศาสตร์ทางฟิสิกส์ ทำให้รู้หลักการว่า ต้องทำให้ข้อต่อของกระดูกสันหลัง(หลังและคอ)ตรงและนิ่ง เพื่อให้เป็นทางผ่านของแรงเสมือนว่าข้อต่อนั้นไม่มีหรือหายไปกลายเป็นกระดูกท่อนเดียว จึงไม่ถูกใช้ให้รองรับแรง เป็นหลักการที่ทำให้ข้อกระดูกสันหลังกลับมาแข็งแรงขึ้น เส้นประสาทที่ถูกโอบล้อมในโพรงของกระดูกสันหลังก็จะปลอดภัยไปด้วย ระบบคำสั่งทั้ง2 แบบจึงไม่ถูกรบกวนจนทำให้กระแสคำสั่งเปลี่ยนไป การทำงานก็ไม่ผิดพลาด และไม่เกิดโรคขึ้น
8. การพิสูจน์กลับเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย เพราะเราไม่สามารถลงไปเปลี่ยนแปลง Mitochondria ในระดับเซลล์ได้ แต่การป้องกันไม่ให้รบกวนที่ระดับกระดูกสันหลังสามารถทำได้ โดยใช้ความรู้ที่ผมสะสมมาหลายปีเพื่อป้องกันระบบกระดูกเสื่อม ก็จะช่วยป้องกันโรคเสื่อมในระบบอื่นได้ด้วย แต่ความยากลำบากในการดูแลที่เราต้องทำความเข้าใจก่อน ก็คือ ข้อแรก การปฏิบัติตัวต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา (เหมือนการทำสมาธิ) นานอย่างน้อย3เดือน เพื่อให้ข้อต่อกระดูกสันหลังกลับมาแข็งแรงเหมือนตอนเราอายุน้อยๆ การทำเดี๋ยวเดียวไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เพราะผลของการดูแลป้องกันโรคจะแปรผันตามเวลาที่ทำได้จริง ซึ่งทุกคนมี24ชั่วโมงเท่ากันหมด หลายคนไม่เข้าใจ ตอนแรกๆใช้แรงมากในการพยายามยืดตัวให้ตรง ทำอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะอยากหาย แต่ไม่ถึง10นาทีก็หมดแรง ผลดีก็ได้แค่10 นาที คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็เอา 24 คูณ 60 ไปหาร
เช่นเดียวกัน หลักของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพก็ไม่มีการออกกำลังมากเกินไป เพราะทุกคนมีเวลาเท่ากันหมด คือ 24 ชั่วโมง ส่วนแรงที่ใช้ยืดอก (เพื่อให้คอกับหลังตรง) จะทำมากๆเพื่อให้สุขภาพดีกว่าคนอื่นก็ไม่ได้ เพราะทุกคนมีความสูงคงที่ สูงกว่าเดิมไม่ได้แล้ว สะสมได้แต่เวลา ต่างจากการวิ่งเร็ว วิ่งทน (เป็นการออกกำลังเพื่อความแข็งแรง) มีการทำลายสถิติใหม่อยู่เรื่อย ความลำบากเรื่องที่2 คือการนอน ซึ่งเป็นจุดอ่อนของทุกคน เมื่อหลับไปแล้ว เราคุมอะไรไม่ได้เลย หมอนที่ถูกต้องจึงมีความจำเป็นเพื่อใช้เป็นตัวบังคับให้หลังกับคอ ตรงตลอดเวลาที่เราหลับ ถ้าทำได้แล้วแปลว่าเราได้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพตลอดเวลาที่เราหลับด้วย เพราะหลักการของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ คือการยืดหลังและคอให้ตรงเช่นเดียวกัน (การทำหมอนเป็นอีกศาสตร์ คือศาสตร์ทางศิลปกรรม เกี่ยวกับการปั้นและสร้างรูปทรงให้สมมาตรกับ ศีรษะ คอ และไหล่ มีความละเอียดอ่อนเช่นเดียวกับเรื่องสุขภาพ จนมีคำพูดในวงการสาธารณสุขว่า การดูแลและรักษาสุขภาพนั้นเป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์ร่วมกัน)
อ่านประกอบ : การดูแลสุขภาพในมุมมองฟิสิกส์
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ