การดูแลสุขภาพในมุมมองฟิสิกส์
ระบบสุขภาพที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ เป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกจริงๆ สงสาร 'บิ๊กตู่' ที่ต้องเป็นหนังหน้าไฟ ออกมารับรองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งๆ ที่งบเพิ่มขึ้นทุกปีแต่ปริมาณผู้ป่วยก็ไม่เคยลด ยิ่งเข้าสู่สังคมสูงวัยด้วย ปัญหาจะเพิ่มเป็นทวีคูณ
ในฐานะที่ผมเคยคุยกับ นพ.สงวน นิตยารัมพงศ์ และ แหม่ม (พยาบาลวชิระ ปัจจุบันทำงานที่แอลเอ) ที่ร้านศรแดง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งผมไม่เห็นด้วยเหมือนกับเพื่อนแพทย์หลายๆ คน ที่เอาโครงการสุขภาพถ้วนหน้าไปผูกกับการเมือง แต่สงวนบอกว่าจำเป็นเพื่อให้โครงการเกิด โดยเขาเล่าถึงคนไข้ไส้ติ่งแตกเพราะไม่ยอมไปหาหมอ กลัวไม่มีเงินจ่าย สิ่งที่ผมพยายามอธิบายตลอดมาก็คือ เรากำลังหลงประเด็นและถกเถียงกันโดยไม่มีใครรู้ว่าเป็นคนละเรื่อง สุขภาพเป็นเรื่องธรรมชาติของร่างกาย แต่เงินเป็นเรื่องสมมุติของคน
เมื่อเราแก้ปัญหาสุขภาพได้ไม่สุด เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจกลไกการทำงานของร่างกายที่แท้จริง เลยทำให้ไม่เข้าใจสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไปด้วย พอเกิดปัญหาจากผลการรักษา ไม่ว่าจะไม่ดี ไม่หาย ไม่ทันสมัย ไม่ทันใจ ฯลฯ พอเราเอาเงินเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหาสุขภาพ ความไม่ดีทุกอย่างจะตกที่โครงการนี้เสมอ ความรู้ในการแก้ปัญหาสุขภาพโดยมุ่งไปทางการรักษาเพียงอย่างเดียว จะทำให้เกิดการรักษาใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นและแพงขึ้น กลายมาเป็นปัญหาใหม่ยิ่งทับซ้อนและซ้ำเติมปัญหาการเงินมากขึ้นทุกที แต่สุดท้ายปัญหาที่เกิดจากการรักษาที่ปลายเหตุก็วกกลับมาเหมือนเดิมอีก การรักษาไม่สามารถทำปัญหาหายไปได้ เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ วงจรอุบาตนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกตลอดไป
ถ้าโรคที่เราเป็น มีแต่ไส้ติ่งอักเสบกับต้อกระจกเท่านั้น โครงการนี้จะสุดยอดมาก เพราะผ่าแล้วหายขาดทุกราย (เพราะเราเอาทิ้งไปได้ ปัญหาจึงหมด) แต่น่าเสียดายที่โรคส่วนใหญ่คือ มะเร็ง หัวใจเรื้อรัง ถุงลมปอดโป่งพองเรื้อรัง เบาหวาน ไตเสื่อมและอัมพาต ทุกครั้งที่วิกฤตถึงชีวิตกลับมาใหม่ ทุกๆ ฝ่ายจะเหนื่อยอ่อนลงไปเรื่อยๆ เพราะร่างกายขาดอวัยวะเหล่านี้ (เอาทิ้งไป) ไม่ได้ แพทย์ทุกคนรู้ดี แต่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ มีบางคนทนไม่ไหว ไม่ลาออกก็ตอบโต้ไปบ้าง ยอมกลายเป็นคนไม่มีเมตตาในสายตาสังคม ทางด้านคนป่วยที่กลัวการทอดทิ้งเพราะไม่มีเงิน ก็ไม่ผิดที่ต้องเรียกร้องไว้ก่อน เพื่อเป็นหลักประกันว่ายังได้รับการรักษาที่ดีต่อไป
13 ปีที่ผ่านมา ผมพยายามจะพิสูจน์ความเชื่อของตัวเองว่า ปัญหาสุขภาพต้องแก้ด้วยความรู้ไม่ใช่ด้วยเงิน เนื่องจากผมเป็นหมอโรคกระดูก ซึ่งเป็นความบังเอิญที่โชคดี เพราะใครๆ ก็รู้ดีอยู่แล้วโรคข้อเสื่อมเกิดจากการใช้งานมากเกินไป ทำให้ฉุกคิดว่ากลไกการเกิดโรคน่าจะมีมุมมองใหม่ นั่นคือปัญหาสุขภาพที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังจากการเสื่อมนั้น ล้วนเป็นปัญหาทางฟิสิกส์ทั้งนั้น แต่เป็นฟิสิกส์ภายในร่างกายเราเอง สิ่งที่ค้นพบทำให้ย้อนกลับไปตอบคำถามหลายเรื่องที่คาใจได้อย่างครบถ้วน เช่น
1.การรักษาองค์รวมที่เชื่อว่า การรักษาทุกระบบนั้นต้องทำไปพร้อมกัน เพราะมีสาเหตุร่วมกัน อะไรคือสาเหตุร่วม? คำตอบคือฟิสิกส์ หรือพลังงานที่ต้องใช้ในการทำงานของเซลล์
2.ในโรคเสื่อมที่ไม่ติดต่อแต่เรื้อรัง NCDs ทำไมกินยาถึงไม่หายขาด คำตอบคือ ยาเป็น สารเคมีไม่สามารถแก้ปัญหาฟิสิกส์ ที่เป็นต้นเหตุได้ จึงทำให้ปัญหากลับมาเกิดใหม่ได้ แต่ถ้าเราไม่กินยาเลยโดยที่ยังคุมเรื่องพลังงานที่ทำให้เกิดโรคไม่ได้ ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยจนเราอาจตายได้ การรักษาด้วยยาจึงมีประโยชน์ แต่ป้องกันการเกิดใหม่ไม่ได้
3.ทำไมเกือบทุกโรค หมอถึงแนะนำให้ออกกำลังกาย ทั้งๆ ที่บางโรคน่าจะขัดกัน เช่น โรคหัวใจ โรคเข่าเสื่อม เบาหวาน ฯลฯ คำตอบคือการออกกำลังกายที่ถูกวิธี เป็นการสร้างสุขภาพผ่านทางฟิสิกส์ซึ่งเป็นระบบองค์รวม ทุกโรคที่เป็นถึงดีขึ้นได้
4.ถ้าออกกำลังกายดี เราควรทำเยอะๆใช่ไหม? แล้วทำไมวิ่งแล้วปวดเข่า ถามหมอก็บอกว่าออกกำลังมากเกินไปไม่ดี ทำไมนักฟุตบอลที่แข็งแรงถึงตายคาสนาม บ่อยขึ้นเรื่อย ? คำตอบ คือ การออกกำลังกายที่ถูกต้องจริงๆ (ช่วยสร้างสุขภาพ) ยิ่งทำเยอะต้องยิ่งดี แต่เราเข้าใจหลักการของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพแล้วหรือยัง? มันสร้างสุขภาพได้อย่างไร? ปวดเข่าคือผลของการออกกำลังกายที่ผิด มีคนเข้าใจเรื่องนี้น้อยมาก เพราะเป็นหนึ่งในความรู้ด้านการป้องกันหรือการสร้างสุขภาพ ซึ่งจำเป็นต้องอธิบายด้วยหลักฟิสิกส์ แต่โลกกำลังมุ่งไปทางด้านการรักษาเท่านั้น การออกกำลังกายที่ถูกต้องต้องควบคุม Vector หรือทิศทางของแรงที่ออก ให้ไปในแนวที่สร้างสุขภาพเท่านั้น ตัวอย่างการออกกำลังกายที่ดี เช่น รำไทเก๊ก ยืนยืดอก (ไม่ใช่แอ่นอก) แล้วแกว่งแขน ฯลฯ การออกกำลังกายที่เสี่ยงต่อสุขภาพ แต่ช่วยสร้างความแข็งแรงได้ เช่น วิ่งเร็ว วิ่งไกล การแข่งกีฬา จะทำได้โดยปลอดภัยเฉพาะในคนที่มีสุขภาพดีอยู่แล้วเท่านั้น สำหรับคนสุขภาพไม่ดี คนสูงวัย ควรออกกำลังเพื่อสร้างสุขภาพเท่านั้น (ไม่ใช่สร้างความแข็งแรง) แต่คนที่ไม่เข้าใจหลักการนี้ไปโฆษณาว่า แค่ขยับก็เท่ากับออกกำลังกาย ไม่จริงครับ ผมขยับแค่หัวแม่เท้าทุกวัน สุขภาพจะดีได้อย่างไร?
5.พลังชีวิตมีจริงหรือไม่? คำตอบ Vital Force เป็นสิ่งที่พูดกันมาตั้งแต่ คริสต์ศตวรรษที่ 16 แต่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับเพราะหาไม่เจอ นอกจากนี้ ยังมี “ปราณ”ในอินเดีย มี “ฉี”ในจีน การที่เราหาไม่พบไม่ได้หมายความว่าไม่มีจริง เพราะสิ่งนี้เป็นพลังงาน ซึ่งไม่มีตัวตน แต่เมื่อ 5 ปีที่แล้วได้มีการเสนองานวิจัย A Mitochondrial Etiology of Metabolic and Degenerative Disease, Cancer &Aging. NIH Wednesday Afternoon Lecture (April 2, 2014) Dr. Douglas Wallace. หาดูได้ใน Youtube. ซึ่ง Dr. Wallace ได้อธิบายว่า Mitochondria ก็คือแหล่งพลังงานที่สร้าง Vital power. (ควรเรียกให้แตกต่างออกไป เพราะเป็นอำนาจของเซลล์ในการทำงานเพื่อสร้างทุกๆสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวเรา ทั้งปกติและเป็นโรค ซึ่งไม่ได้เป็นแรงทางกลศาสตร์ที่เราหาไม่เจอ การเรียกชื่อใหม่แบบนี้ อาจช่วยให้คนที่เคย ปฏิเสธหันกลับมาสนใจได้)
6.ในร่างกายเรามีแต่สารชีวะเคมี การเอาเรื่องฟิสิกส์เข้ามาอธิบายการทำงาน จะไม่ยุ่งเหยิงไปหมดหรือ? นี่คือปมปัญหาที่สำคัญที่สุด ทำให้วงการแพทย์ไม่สามารถป้องกันโรคเสื่อมได้ ใน Quora.com ได้อธิบายเรื่องนี้ว่า สารทุกชนิดเกิดจากอะตอม ซึ่งรวมกันเป็นโมเลกุล ต้องใช้พลังงานเสมอ ฟิสิกส์จึงเป็นพื้นฐานของทุกโมเลกุล การที่เราแยกมาเป็นสารชีวะเคมีเพราะเป็นการตัดตอนเพื่อไม่ให้การอธิบายสารชีวะเคมีที่เริ่มตั้งแต่อะตอมมารวมกันยาวนานเกินไปจนน่าเบื่อ เมื่อทำให้สั้นไปนานๆ เลยลืมไปว่าเริ่มต้นต้องมีเรื่องพลังงานร่วมอยู่ด้วยเสมอ และทำให้คิดว่าสิ่งมีชีวิตเป็นเรื่องของชีวะเคมีเท่านั้น
7.การควบคุมพลังงานที่ใช้ในการทำงานของเซลล์ให้เป็นปกติจะช่วยป้องกันโรคเลื่อมได้จริงหรือ? คำตอบเรื่องนี้ ต้องมีความรู้มากพอที่จะเข้าใจพลังงานที่ใช้ในการทำงานของเซลล์ร่างกายก่อน ซึ่งยังไม่มีในตำราแพทย์มาตรฐาน แพทย์จึงไม่เชื่อ แต่การรักษาที่มีก็คุมโรคให้หายขาดไม่ได้ การวิจัยทางแพทย์เกือบ99%จึงพยายามมุ่งไปทางหาวิธีใหม่ๆทางด้านการรักษาอยู่เสมอ การอธิบายเรื่องนี้ไม่ใช่การหักร้างความรู้เดิม แต่เป็นการเติมเต็มระบบสุขภาพให้มีทางเลือกมากขึ้น ทุกวันนี้เราเชื่อมั่นในการรักษาเพราะช่วยให้เรารอดตายได้ จนเกือบลืมไปแล้วว่าระบบสุขภาพยังมีการป้องกันอยู่ด้วย การเรียนกายวิภาคของตัวอ่อนซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่า เกิดมาจากเซลล์ๆเดียว (Zygote) พอครบ3-4 วัน(หรืออาจห่างเป็นอาทิตย์) เราก็เอาตัวอ่อนมาตัดสไลด์ใหม่ เพื่อดูว่าเปลี่ยนเป็นกี่เซลล์แล้ว? มีอวัยวะอะไรใหม่เกิดขึ้นหรือยัง? สิ่งที่เราไม่เคยสงสัยเลยก็คือ อะไรทำให้เซลล์แบ่งตัว ? แล้วเซลล์ที่เกิดใหม่ทำไมถึงรู้ว่า ตัวเองต้องไปเป็นอวัยวะส่วนไหน? สิ่งที่มองไม่เห็นคือพลังงานสั่งงาน(Power signalling) เพิ่งมีงานวิจัยออกมาเมื่อปีที่แล้ว : Mitochondrial Trafficking in neurons. Thomas L. Schwarz F.M. Kirby Neurobiology Center, Children’s Hospital Boston, and Department of Neurobiology, Harvard Medical School, Boston, Massachusetts. และอีกงานวิจัย Long range physical cell-to-cell signalling via mitochondria inside membrane nanotubes. Felix Scholkmann: Published 6 June 2016 สามารถค้นอ่านได้ในอินเตอร์เน็ต. เรื่องพลังงานสั่งงานนี้เป็นฟิสิกส์ล้วนๆ ยา อาหารเสริม หรือวิตามินแก้ปัญหาไม่ได้ แต่การออกกำลังกายที่ถูกต้องจะทำให้ระบบพลังงานสั่งงานนี้กลับมาทำงานดีขึ้นได้ เป็นการเชื่อมโยงให้เข้าใจว่า การออกกำลังกายทำให้สุขภาพดีขึ้นได้อย่างไร ต่างจากงานวิจัยที่เอาคนป่วยมาออกกำลังกายระยะหนึ่ง แล้วตรวจซ้ำพบว่าดีขึ้น ก็สรุปว่าดีโดยไม่รู้กลไกการเชื่อมโยง (รายละเอียดเรื่องนี้ต้องคุยกันอีกมาก เพราะต้องสร้างความคิดอย่างเป็นขั้นตอน แล้วยังต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ด้วย)
สิ่งที่นำเสนอมานี้ น่าจะมีประโยชน์สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สสส. หรือกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นมิติใหม่ในการแก้ปัญหาระบบสุขภาพ มีทางเลือกมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องรอการรักษาเพียงอย่างเดียว ซึ่งนับวันจะมีผู้ป่วยสะสมทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่การเปลี่ยนแปลงความเชื่อว่าปัญหาสุขภาพเป็นปัญหาทางฟิสิกส์นั้น อาจต้องใช้เวลานานนับสิบปี เพราะต้องเปลี่ยนทั้งองค์ความรู้และความเชื่อพื้นฐาน ซึ่งองค์ความรู้ใหม่นี้ต้องเริ่มตั้งแต่ ร่างกายเราเกิดมาจากเซลล์ๆ เดียวได้อย่างไร? เราถึงรู้ว่าปัญหาเกิดที่ตรงไหน?
มีคำพูดของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่เคยกล่าวไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” (Imagination is more important than Knowledge ) ด้วยเหตุผลที่ว่า ความรู้เราจำกัดอยู่แค่เรื่องที่เรารู้และเข้าใจแล้ว (แต่บางครั้งเรายังรู้ไม่ครบถ้วน) ในขณะที่จินตนาการรวมเอาโลกทั้งหมดและทุกๆเรื่องรวมถึงเรื่องที่เรายังไม่รู้ แต่จะต้องเรียนรู้และเข้าใจต่อไป จินตนาการจึงสูงและสำคัญกว่าความรู้ที่เรามีอยู่ ( For knowledge is limited to all we now know and understand, while imagination embrace the entire world and all there ever will be to know and understand ) แต่จินตนาการสำหรับปัญหาสุขภาพมีความแตกต่างออกไป ไม่ใช่คิดเอาเองอะไรก็ได้ จำเป็นต้องมีหลักฐานอ้างอิงด้วย มิฉะนั้นจะเป็นการเสี่ยงเกินไป เพราะหลักการที่สำคัญที่สุดของการแพทย์ คือ การไม่ทำร้ายผู้ป่วยซ้ำ ( Do no harm )
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก www.pobpad.com