'สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ' รอด! ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯปี 51
ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้อง 'สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ' คดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อปี 2551 ชี้เป็นการทำตามมติ ครม. ใช้แก๊สน้ำตาตามแผน 'กรกฎ 48' ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสร้างความเสียหายร้ายแรงจนทำให้มีคนตายได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษา คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เป็นจำเลย คดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อปี 2551 โดยมิชอบ โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งฝ่ายพันธมิตรฯ และฝ่ายคนเสื้อแดง รวมถึงนักการเมืองชื่อดัง เช่น นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ มาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย
ล่าสุด ศาลฎีกาฯพิเคราะห์แล้วสรุปได้ว่า จำเลยทั้ง 4 ราย ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ดำเนินการจากมาตรการเบาไปหาหนัก มีการพูดกระจายเสียงเตือนกลุ่มผู้ชุมแล้ว และไม่สามารถนำรถฉีดน้ำ ฉีดเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมได้ เนื่องจากติดอยู่ที่รัฐสภา ขณะเดียวกันการปฏิบัติการของตำรวจก็ทำตามแผน 'กรกฎ 48' ที่มีการใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งแก๊สน้ำตาดังกล่าว พยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า สามารถทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงจนถึงขั้นทำให้บุคคลได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตได้
พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 ราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้า พล.ต.ท.สุชาติ ได้ขอโทษกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายพันธมิตรฯ เกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2551 ก่อนจะเดินเข้าไปฟังคำพิพากษาศาล ทั้งนี้ภายหลังศาลฎีกาฯพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 รายดังกล่าวแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายพันธมิตรฯ แสดงความไม่พอใจ มีการตะโกนด่าทอนายสมชาย พล.อ.ชวลิต พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ด้วยถ้อยคำรุนแรง ขณะที่นายสมชายได้ขอบคุณศาลฎีกาฯ และพอใจกับคำพิพากษาดังกล่าว (ดูภาพประกอบท้ายข่าว)
อนึ่ง ก่อนหน้านี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157 พร้อมส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) ดำเนินการฟ้องต่อศาล
อย่างไรก็ดี อสส. เห็นว่า พยานหลักฐานทางคดียังไม่สมบูรณ์ จึงมีมติตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างฝ่ายอัยการ และ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ ใช้ระยะเวลายาวนานหลายปี กระทั่งไม่ได้ข้อยุติ ป.ป.ช. จึงถอนเรื่องจาก อสส. ดำเนินการฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอง และศาลฎีกาฯประทับรับฟ้องช่วงปี 2558 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ในช่วงศาลฎีกาฯไต่สวนคดีดังกล่าว นายสมชาย และจำเลยรวม 4 ราย เคยทำเรื่องถึงสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอแต่งตั้งพนักงานอัยการให้เป็นทนายความแก้ต่างคดีนี้ แต่ศาลฎีกาฯมีมติเสียงส่วนใหญ่ไม่อนุญาต เนื่องจากเห็นว่า พนักงานอัยการไม่มีอำนาจว่าความแก้ต่างในคดีนี้ได้
ต่อมา เมื่อปี 2559 นายสมชาย พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่ามีพยานหลักฐานใหม่ให้ไต่สวน จึงขอให้ถอนฟ้องเรื่องดังกล่าว และขอให้เปรียบเทียบคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อปี 2551 กับคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ว่า มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
หลังจากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ท้ายสุดมีผลสรุปว่า จะไม่ดำเนินการถอนฟ้องคดีนี้ และพยานหลักฐานใหม่ดังกล่าวสามารถนำให้ศาลฎีกาฯไต่สวนเพิ่มเติมได้อยู่แล้ว ทั้งนี้คดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อปี 2551 มีความแตกต่างกับคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 เพราะปี 2553 มีการไล่ลำดับความรุนแรง และมีกฎหมายรองรับทุกขั้นตอน แต่ปี 2551 ไม่มีหลักกฎหมายรองรับ
อ่านประกอบ :
‘สมชาย’แถลงปิดคดีปัดสั่งสลายชุมนุม เผย‘พัชรวาท-สุชาติ’ออกหน้าดูเอง–พิพากษา 2 ส.ค.
เบื้องหลัง!ความพยายามสู้นอกศาลของ ‘สมชาย-พวก’ก่อนรูดม่านปิดคดีสลาย พธม.?