วาบหนึ่งในซีแอตเทิล…ข่าวสืบสวน ซีแอตเทิลไทมส์
โลกใบเดียวกันบางคน บางที่ บางแห่ง ถูกวันเวลา‘กัดกร่อน’ผุพัง ไปนานแล้ว ข่าวสืบสวนที่เป็น ‘แก่น’ จริงๆ ลดน้อยลงทุกวัน
ท่ามกลางความเสื่อมทรุดในด้านความน่าเชื่อถือและผลประกอบการทางธุรกิจของสื่อ ขณะที่ผู้รับหรือผู้เสพสื่อจำนวนไม่น้อยก็เสพอย่างฉาบฉวยในปัจจุบัน
เมื่อ 12 ธ.ค.2559 หรือ ราว 7เดือนที่แล้ว ได้เขียนถึงการปรับตัวของสื่อผิวสีฉบับหนึ่งในเมืองอินเดียแนโพลิส รัฐอินดีแอนา ตอนกลางของสหรัฐ ชื่อว่า The Indianapolis Recorder เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์กระบอกเสียงของคนผิวสี โดยเอาเนื้อหาไปแพร่กระจายในเว็บไซต์ สามารถเข้าถึงออนไลน์และเฟซบุ๊ค แต่ฉบับกระดาษซึ่งทำมานานก็ยังคงมีอยู่ล่าสุดได้ประกาศทิศทางมุ่งขยายตัวทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้อ่านที่ไม่มีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์ และเมื่อเข้าไปติดตามหลายเรื่องมีสีสันน่าสนใจ แม้ไม่ใช่แนวสืบสวน (Investigative Reporting) ก็ตาม (อ่านประกอบ:ทำไมหนังสือพิมพ์ในเมืองอินเดียแนโพลิส จึงอยู่ได้?)
ขยับมาทางฝั่งตะวันตกตอนเหนือของสหรัฐ รัฐวอชิงตัน มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งมีชื่อเสียงในด้านการทำข่าวเชิงสืบสวน ชื่อว่า The Seattle Times ตั้งอยู่ในเมืองซีแอตเทิล ก่อตั้งในปี ค.ศ.1896 เจ้าของเป็นนักธุรกิจท้องถิ่นปัจจุบันยังคงดำเนินกิจการสามารถเข้าถึงได้ทั้งทางออนไลน์และแพร่กระจายเฟซบุ๊คจุดแข็งก็คือการทำข่าวเจาะหรือข่าวเชิงลึกในท้องถิ่นมีผลงานเชิงประจักษ์หลายชิ้น
ครั้งมีโอกาสเดินทางมาที่นี่หลายปีก่อน สแตนเลย์ ฟาร์ราร์ (Stanley Farrar) บรรณาธิการคุยว่าในการทำข่าวหนังสือพิมพ์ของเขาได้มาแล้วกว่า 7 รางวัล ทั้งพูลิตเซอร์ รางวัลของสมาคมนักหนังสือพิมพ์อาชีพในประเทศ ฯลฯ แต่ละข่าวใช้เวลาในการเกาะติดแรมปีพร้อมยกตัวอย่างหลายข่าว
น่าสนใจมากสุดคือ “Tribal Housing” เป็นข่าวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นของหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดง ยักยอกเงินช่วยเหลือที่ได้รับการจัดสรรให้ชาวอินเดียนแดงที่ยากจนกลับเอาไปสร้างบ้านของตนเอง
เข้าใจง่ายๆ คือ ใช้อำนาจฉ้อฉลงบประมาณและมีผลประโยชน์ทับซ้อนนั่นแหละ!
ถัดมาข่าวการปกปิดข้อมูลในการรักษาคนไข้ของโรงพยาบาลมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องรักษาและวิจัยโรคมะเร็ง ได้ทำการทดลองวิธีรักษาคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งโดยไม่ได้บอกข้อมูลแก่คนไข้ก่อนว่าเป็นการทดลอง ทำให้คนไข้จำนวนหนึ่งต้องตายไป
นักข่าวได้สืบค้นเอกสารบันทึกการรักษาคนไข้ของโรงพยาบาลมาเปิดเผยพบว่าครอบครัวและตัวคนไข้ที่เข้ารับการทดลอง ไม่ได้รับทราบมาก่อนเลยว่ามันมีความเสี่ยงและแม้ว่าอเมริกาจะมีกฎหมายเสรีภาพข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information Act หรือ FOLA) ซึ่งเป็นกฎหมายของรัฐบาลกลางที่อนุญาตให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเอกสารของรัฐบาลที่ไม่พึงปกปิดไว้ด้วยเหตุผลทางความมั่นคงได้ แต่กว่าที่โรงพยาบาลจะยอมเปิดข้อมูล ต้องมีการฟ้องร้องกันถึงศาล และต้องขออนุญาตจากครอบครัวคนไข้ก่อน
หนังสือพิมพ์รายงานข่าวนี้กว่าหนึ่งปี ผลก็คือทำให้รัฐบาลกลางต้องเปลี่ยนกฎระเบียบในการรักษาคนไข้ใหม่ โดยโรงพยาบาลจะต้องบอกข้อมูลกับคนไข้ก่อนเข้ารับการรักษา
ชิ้นที่สามคดีล่วงละเมิดของโคชนักกีฬานักข่าวคนหนึ่งเห็นข่าวว่ามีโค้ชกีฬาของโรงเรียนแห่งหนึ่งถูกขึ้นศาลในข้อหากระทำผิดทางเพศกับนักกีฬาหญิงในทีมเลยเข้าไปสืบค้นประวัติก็พบว่ามีหลายโรงเรียนที่จ้างโค้ชซึ่งมีประวัติล่วงละเมิดยาวเหยียด
เมื่อขยายผลพบว่า มีโคชถึง 150 คนพอถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดก็จะลาออกจากโรงเรียนแห่งหนึ่งแล้วย้ายไปเป็นโค้ชให้แก่โรงเรียนแห่งใหม่โดยไม่ถูกลงโทษคล้ายๆกรณีย้ายครูจากโรงเรียนหนึ่งไปอยู่และสร้างปัญหาให้แก่อีกโรงเรียนหนึ่งในบ้านเราอีกนั่นแหละ
ซีแอตเติล ไทมส์ใช้เวลา 1 ปีในการตีพิมพ์ ทั้งทางหน้ากระดาษและทางออนไลน์ ขณะเดียวกันได้สร้างฐานข้อมูลให้คนอ่านสามารถเข้าไปดูได้ว่าโค้ชแต่ละคนเคยมีปัญหาในโรงเรียนไหนมาบ้าง ผลตามมาก็คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในการจ้างโค้ชของโรงเรียนเสียใหม่ เป็นอานิสงส์จากการขุดคุ้ยล้วนๆ
(สแตนเลย์ ฟาร์ราร์ (Stanley Farrar) บก.ซีแอตเติล ไทมส์)
บรรณาธิการซีแอตเติล ไทมส์ บอกว่า ข่าวสืบสวนของเขาใช้เงินค่อนข้างมากในการทำข่าว มากกว่าลอส แองเจลิส ไทมส์และนิวยอร์ก ไทมส์ถ้าอยู่ในขนาดเดียวกันส่วนหนึ่งเพราะเป็นธุรกิจครอบครัวเจ้าของหนังสือพิมพ์เชื่อมั่นในการทำข่าวเจาะว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และทำอย่างนี้มานานจนกลายเป็นประเพณี
ตะลุยหลายแห่งที่นี่ สูดอากาศไม่กี่ชั่วโมง หลังกลับจากการเดินทางได้เขียนเรื่องราวของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ในประชาชาติธุรกิจเมื่อหลายปี นับจากนั้นไม่ได้ติดตามความเป็นไปหรือเป็นตายร้ายดี กระทั่งสองสัปดาห์ก่อนมีโอกาสติดตามผ่านออนไลน์อีกครั้งเห็นตีแผ่คดีล่วงละเมิดเด็กชายของนักการเมืองในท้องถิ่น
ล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์กำลังเปิดโปงขบวนการค้ากามข้ามชาติเกี่ยวพันสตรีชาวเอเชีย เกาหลีใต้โดยใช้สถานที่ 12 แห่งเป็นแหล่งค้าประเวณี เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับชายกว่า 30 คน และมีชื่อหญิงสาวโสเภณีชาวไทยตกเป็นเหยื่อด้วย ข่าวนี้ถูกโปรโมทในเฟซบุ๊คหลายครั้ง
วาบหนึ่งสะท้อนว่ายังคงยืนหยัดแนวทางอย่างที่บอกไว้ เป็นกรณีที่น่าสนใจ
โลกใบเดียวกัน บางคน บางที่ บางแห่ง ถูกวันเวลา‘กัดกร่อน’ ผุพัง ไปนานแล้ว ข่าวสืบสวนที่เป็น 'แก่น' จริงๆลดน้อยลงทุกวันครับ