ทำไมหนังสือพิมพ์ในเมืองอินเดียแนโพลิส จึงอยู่ได้?
การทำ 'ตัวเอง' ให้ 'เล็กลง' พัฒนาเนื้อหาให้มีคุณภาพ โฟกัสกลุ่มผู้อ่าน ไม่อิงการเมือง จึงเป็นทางออก?
เป็นเหมือนกันทั่วโลกธุรกิจสื่อกำลังเผชิญกับสถานการณ์แห่งความยากลำบาก โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์บางค่ายในเมืองไทยประกาศปิดตัวเองในไม่กี่วัน (กรณีของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง งบการเงินรอบปี 2558 ขาดทุนสะสมกว่า 52 ล้านบาท) ขณะที่ บางรายวิ่งเข้าหากลุ่มทุนใหญ่มาต่อสายป่าน สิ่งที่หลายคนตั้งคำถาม (ซึ่งก็ถามกันมาหลายปีแล้ว) ก็คือ ในอนาคต หนังสือพิมพ์ จะยังมีอยู่หรือไม่? เนื่องจากพฤติกรรมคนอ่านเปลี่ยนไปอ่านสื่อทางเลือกมากขึ้น (มีหลายเหตุผล)
มีกรณีตัวอย่างหนึ่ง เป็นหนังสือพิมพ์ไม่ใหญ่มากในเมืองอินเดียแนโพลิส รัฐอินดีแอนา (ตอนกลางของสหรัฐฯ) ชื่อว่า The Indianapolis Recorder เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่เป็นกระบอกเสียงให้คนผิวสีในเมืองนี้โดยเฉพาะ
ตามประวัติ หลักไมล์ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก่อตั้งในปี 1895 โดย จอร์จ พี. สจ๊วต (George P. Stewart) และ Will Porter
ต่อมา ปี 1990 เปลี่ยนเจ้าของเป็นนักธุรกิจทางด้านเคมี ชื่อ William G. Mays ปัจจุบันมี Shannon Williams เป็นผู้บริหาร อายุหนังสือพิมพ์ 121 ปี เก่าเป็นอันดับ 4 ในบรรดาหนังสือพิมพ์ผิวดำด้วยกัน
ว่าไปแล้ว ในอเมริกาพลเมืองทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นเพียงข้อเท็จจริงในแผ่นกระดาษ แต่ลึก ๆ การแบ่งแยกระหว่างอเมริกันผิวดำ แอฟริกัน-อเมริกัน กับอเมริกันผิวขาว ยังคงเป็นเรื่องที่มีอยู่จนถึงปัจจุบัน จึงมีหนังสือพิมพ์ของแอฟริกันอเมริกันโดยเฉพาะ (Black newspapers)
เนื้อหาของ The Indianapolis Recorder ทั้งฉบับ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของคนผิวดำ ประกอบด้วย ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวสังคม เรื่องราวทางด้านศาสนา ข่าวกีฬา สุขภาพ ศิลปะ และเรื่องเกี่ยวบันเทิง
แบรนดอม เพอร์รี่ (Brandom Perry) และ เอริกก้า ซี. วีลเลอร์ (Ericka C. Wheeler) คู่หูต่างไซซ์ ซึ่งเป็นทั้งนักเขียนและนักข่าว บอกกับข้าพเจ้าเมื่อครัั้งเดินทางมาทีนี่เมื่อหลายปีก่อนชัดเจนว่า เหตุผลที่พวกเขามุ่งนำเสนอเรื่องราวของคนผิวดำ ว่าเนื่องเพราะ ไม่สามารถไว้ใจการทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นของคนผิวขาวได้
พวกเขาบอกว่า เซ็คชั่นธุรกิจ มีข่าวระดับชาติและระดับท้องถิ่น แต่เน้นหนักที่ธุรกิจระดับเล็กในเมืองอินเดียแนโพลิส แต่ถ้าผู้ประกอบการจะเอาธุรกิจของตัวเองมาลงข่าว ก็ยินดีจะลงให้ฟรี
“สิ่งที่เราพยายามทำก็คือ ทำข่าวที่คนในท้องถิ่นสนใจ หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย จะไม่ทำเรื่องการซื้อขายหุ้น หรือเรื่องอะไรใหญ่ ๆ การควบรวมทางธุรกิจ เราทำที่มันเป็นเรื่องท้องถิ่นจริง ๆ”
The Indianapolis Recorder ไม่เน้นข่าวสืบสวน เพราะกำลังคนมีน้อย แต่ถ้าเกิดมีเรื่องที่มีผลกระทบต่อชุมชนผิวดำ ก็จะทุ่มเทไม่ยั้ง
ทั้งสำนักข่าวมีพนักงานเพียง 20 กว่าคน 7 คนอยู่ฝ่ายข่าว ยอดผลิต 90,000 ฉบับ เรียกได้ว่าค่อนข้างเล็ก เมื่อเทียบกับ The Indianapolis Star หนังสือพิมพ์รายวันรายใหญ่ของเมือง
นโยบายของหนังสือพิมพ์ก็คือ ถ้าเป็นข่าวเกี่ยวกับการเมือง ต้องระมัดระวังในการกระทบตัวบุคคล ไม่ไปทำให้นักการเมืองไม่พอใจ โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้งต้องระวังเป็นพิเศษ นักข่าวจะต้องไม่เอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง (ฟังดูออกแปลก แตกต่างจากสื่อใหญ่ ๆ)
ล่าสุด ข้าพเจ้าเข้าไปติดตามความเคลื่อนไหวของหนังสือฉบับนี้ ปรับตัวเองโดยเอาเนื้อหาไปขึ้นเว็บไซต์ สามารถเข้าถึงทางเฟซบุ๊ค เนื้อหาหลายเรื่องน่าติดตาม แต่สื่อกระดาษก็ยังคงมีอยู่ และประกาศทิศทางในอนาคตจะมุ่งไปที่การขยายตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้อ่านที่ไม่มีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์
การทำ ‘ตัวเอง’ ให้ ‘เล็กลง’ พัฒนาเนื้อหาให้มีคุณภาพ โฟกัสกลุ่มผู้อ่าน ไม่อิงการเมือง จึงเป็นทางออก ?
เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ