3ปียังสร้างไม่เสร็จ!สตง.แพร่ผลสอบประปาหมู่บ้านเชียงราย263ล.ปัญหาเพียบซ้ำรอยสุราษฎร์
ถึงคิวเชียงราย! สตง.แพร่ผลสอบก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน ช่วงปี 56-58 วงเงิน 263 ล้าน พบปัญหาเพียบซ้ำรอยเดียวจว.สุราษฎร์ธานี งานสร็จล่าช้าเกินกำหนด บางแห่งผ่านไป 3 ปี 7 เดือน ยังสร้างไม่เสร็จ ผู้รับจ้างทิ้งงาน เหตุประกาศหาผู้รับจ้างหลายครั้งโอนงบล่าช้า เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ จี้ผู้ว่าฯ เร่งสางปัญหา
จากกรณี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานเงินอุดหนุนเฉพาะกิจสำหรับสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชน (ประปาหมู่บ้าน) ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประจำปีงบประมาณ 2558 ซึ่งยู่ภายใต้โครงการส่งเสริมสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในยุคการบริหารของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2558 ตามแผนงานส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เป็นจำนวนเงินกว่า 8,977 ล้านบาท กำหนดแผนงานการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 3,022 แห่งทั่วประเทศ โดยพบปัญหา 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การก่อสร้างล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน 2.การจัดจ้างไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และ 3. ระบบประปาหมู่บ้านบางแห่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ และมีผู้รับจ้างก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน จำนวนน้อยรายแต่รับงานก่อสร้างหลายสัญญา
ขณะที่ จากการตรวจสอบเอกสารและการสังเกตการณ์การใช้ประโยชน์จากระบบประปาหมู่บ้าน จำนวน 25 แห่ง (จากจำนวนทั้งสิ้น 43 แห่ง จำแนกเป็นการก่อสร้างระบบประปาบาดาล 15 แห่ง ระบบประปาผิวดิน 26 แห่ง และหอถังสูง/โรงสูบน้ำ จำนวน 2 แห่ง ใช้วงเงินจำนวน 117.54 ล้านบาท) พบว่า ระบบประปาหมู่บ้านที่สามารถใช้ประโยชน์มีเพียง 9 แห่ง อีก 16 แห่ง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ แยกเป็นก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 12 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 แห่ง รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 43,503,000 บาท นอกจากนี้ พบว่า ประชาชนใช้น้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภคในระดับต่ำ เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอและคุณภาพน้ำไม่เหมาะสม และเมื่อการดำเนินโครงการฯ โดยไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการย่อมก่อให้เกิดความสูญเปล่าของงบประมาณ ซึ่งคิดจากวงเงินค่าก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านเป็นจำนวน 43,503,000 บาท ดังกล่าว รวมทั้งหน่วยงานเสียโอกาสในการนำเงินงบประมาณเพื่อการพัฒนาในพื้นที่ที่มีความพร้อมหรือการพัฒนาในด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า (อ่านประกอบ : สูญเปล่าแล้ว43ล.ที่สุราษฎร์ธานี!สตง.แพร่ผลสอบชำแหละประปาหมู่บ้านยุคบิ๊กตู่8.9พันล., ฉบับเต็ม! สตง.ชำแหละประปาหมู่บ้านยุคบิ๊กตู่8.9พันล. สูญเปล่าแล้ว43ล.ที่สุราษฎร์ธานี)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ล่าสุด สตง. ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้้าอุปโภค บริโภค แก่ประชาชน พื้นที่จังหวัดเชียงราย ปีงบประมาณ 2555-2558 ที่ได้รับงบสนับสนุนก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านจำนวน 92 แห่ง วงเงิน 263,074,500 บาท พบว่ามีปัญหาลักษณะเดียวกับการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน จังหวัดสุราษฎร์ธานี อาทิ การประกาศหาผู้รับจ้างหลายครั้ง การโอนจัดสรรงบประมาณล่าช้า การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ และการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดสัญญา
สตง.ระบุว่า จากการสุ่มตรวจระบบประปาหมู่บ้าน ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจังหวัดเชียงราย ได้รับจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจในปีงบประมาณ 2555 – 2558 จำนวน 45 แห่ง พบว่า อปท.ดำเนินการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านแล้วเสร็จภายใน ปีงบประมาณทั้งสิ้น 13 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 28.89 ดำเนินการแล้วเสร็จล่าช้าจำนวน 26 แห่งคิดเป็นร้อยละ 57.78 และไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างจำนวน 6 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 13.33 การดำเนินการโครงการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านแล้วเสร็จล่าช้ากว่าปีงบประมาณและไม่ได้ ดำเนินการก่อสร้างจำนวน 32 แห่ง
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบระบบประปาหมู่บ้านที่ก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ไม่มีการใช้ประโยชน์ ณ วันที่เข้าตรวจสอบ จำนวน 2 แห่ง เนื่องจากอุปกรณ์ชำรุด และ อปท. ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานในการดำเนินการซ่อมแซมแก้ไข ได้แก่ ระบบประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลโรงช้าง อำเภอป่าแดดจังหวัด เชียงราย และ ระบบประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 6 ตำบลสันสลี อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
ขณะที่จากการตรวจสอบระบบประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 8 ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ได้รับงบประมาณก่อสร้างในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ณ วันที่เข้าตรวจสอบยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากผู้รับจ้างทิ้งงาน และเทศบาลตำบลบ้านแซวดำเนินการกับผู้รับจ้างกรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญาและหาผู้รับจ้างรายใหม่ล่าช้ามาก ทำให้ประชาชนสูญเสียโอกาสการใช้ประโยชน์จากระบบประปาล่าช้าเป็นเวลา 3 ปี 7 เดือน
เบื้องต้น สตง. ได้แจ้งให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย สั่งกำชับอปท.ดำเนินการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านให้ แล้วเสร็จและมีการใช้ประโยชน์ได้ทันภายในแต่ละปีงบประมาณให้ความสำคัญและควบคุม กำกับ ดูแล ดำเนินการแก้ไขระบบประปาหมู่บ้านที่ชำรุดเสียหายให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนมีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ได้อย่างเพียงพอ ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง เป็นไปตามวัตถุประสงค์การบริหารกิจการประปา และสั่งกำชับอปท.กรณีผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญา ให้บอกเลิกสัญญาและรายงานเป็นผู้ทิ้งงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเร็วเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 โดยเคร่งครัด รวมทั้งดำเนินการตามกฎหมายกับผู้รับจ้าง หากปล่อยปละละเลยให้คดีขาดอายุความ ขอให้หาผู้รับผิดชดใช้ทางละเมิดและพิจารณาโทษกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณี
นอกจากนี้ ยังแจ้งให้แจ้งให้ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พิจารณาการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างและใช้ประโยชน์ได้ทันภายในแต่ละปีงบประมาณ
(อ่านผลสอบฉบับเต็ม ที่นี่ )
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก SMMSPORT.com , 202.129.59.73