สูญเปล่าแล้ว43ล.ที่สุราษฎร์ธานี!สตง.แพร่ผลสอบชำแหละประปาหมู่บ้านยุคบิ๊กตู่8.9พันล.
'สตง.' แพร่รายงานสอบชำแหละระบบประปาหมู่บ้าน ยุค บิ๊กตู่ 8.9 พันล. ประเดิมผล 'อปท.จว.สุราษฎร์ธานี' พบปัญหาเพียบ ก่อสร้างล่าช้า-จัดจ้างไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด บางแห่งไม่ได้ใช้ปย.ตามวัตถุประสงค์ สูญเปล่าแน่แล้ว 43 ล.-ปูดผู้รับจ้างน้อยรายคว้างานเพียบหลายสัญญา
การก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 3,022 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้โครงการส่งเสริมสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในยุคการบริหารของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2558 ตามแผนงานส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เป็นจำนวนเงินกว่า 8,977 ล้านบาท ในส่วนของ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจสำหรับสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชน (ประปาหมู่บ้าน) เป็นจำนวนเงิน 117.54 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน จำนวนทั้งสิ้น 43 แห่ง จำแนกเป็นการก่อสร้างระบบประปาบาดาล 15 แห่ง ระบบประปาผิวดิน 26 แห่ง และหอถังสูง/โรงสูบน้ำ จำนวน 2 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค รวมทั้งทางด้านการเกษตร ถูก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาขั้นตอนการปฏิบัติงานจำนวนมาก และมีผู้รับจ้างก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน จำนวนน้อยรายแต่รับงานก่อสร้างหลายสัญญา
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่รายงานตรวจสอบการดำเนินงานเงินอุดหนุนเฉพาะกิจสำหรับสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคให้แก่ประชาชน (ประปาหมู่บ้าน) ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประจำปีงบประมาณ 2558 พบปัญหา 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การก่อสร้างล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน 2.การจัดจ้างไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และ 3. ระบบประปาหมู่บ้านบางแห่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์
ทั้งนี้ ในประเด็นการก่อสร้างงานล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน นั้น สตง.ระบุว่า จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการ จำนวน 26 แห่ง ณ วันที่ 9 ก.ค.2559 พบว่า การก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านส่วนใหญ่ดำเนินการล่าช้าไม่แล้วเสร็จทันภายในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 หรือ ดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับจากได้รับแจ้งการจัดสรรงบประมาณ 18 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 69.23ของโครงการที่ตรวจสอบทั้งหมด ทำให้ให้ประชาชนเสียโอกาสในการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตามวัตถุประสงค์ที่โครงการกำหนดไว้ และการแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่เดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาได้อย่างเร่งด่วนตามที่โครงการกำหนดไว้
สาเหตุสำคัญเกิดจากการจัดจ้างล่าช้าโดยมีการประกาศดำเนินการจัดจ้างหลายครั้ง เนื่องจากไม่มีผู้มาซื้อเอกสารการจัดจ้างหรือไม่มีผู้สนใจยื่นเอกสารเสนอราคา ทำให้ต้องมีการยกเลิกประกาศและมีการประกาศจัดจ้างใหม่หลายครั้ง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับจัดสรรงบประมาณตามโครงการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านพร้อมกัน ในขณะที่มีผู้รับจ้างก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน จำนวนน้อยรายแต่รับงานก่อสร้างหลายสัญญา และดำเนินการก่อสร้างในระยะเวลาใกล้เคียงกัน อีกทั้งผู้รับจ้างบางรายขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญา ตลอดจนผู้รับจ้างปฏิบัติงานล่าช้ากว่าสัญญาและการปฏิบัติงานไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งผู้รับจ้างส่วนใหญ่ไม่เข้าปฏิบัติงานทันทีหลังจากลงนามในสัญญาแล้ว และผู้รับจ้างบางรายเมื่อเข้าปฏิบัติงานแล้วยังปฏิบัติงานไม่สม่ำเสมอมีการหยุดงานติดต่อกันบ่อยครั้ง จึงทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด
นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขาดการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน มีเพียงการติดตามเพื่อเร่งรัดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จและเร่งรัดผลการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้ทันภายในเงื่อนเวลาที่กำหนดเท่านั้น จึงไม่ทราบปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินงานที่แท้จริง
ส่วนประเด็นการจัดจ้างไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด นั้น สตง. ตรวจสอบพบปัญหาการเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการของโครงการไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการของโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณในครั้งแรก วัสดุอุปกรณ์ประจำการประปาไม่ครบถ้วนและไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการ สาเหตุสำคัญเกิดจากผู้รับจ้างที่มีความชำนาญด้านการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านมีจำนวนน้อยรายและไม่สนใจเสนอราคาก่อสร้าง เนื่องจากแบบรูปรายการก่อสร้างที่ได้รับอนุมัติเป็นแบบรูปรายการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านแบบหอถังสูง คสล.ซึ่งทำการก่อสร้างยากกว่าหากเปรียบเทียบกับการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านแบบหอถังเหล็กรูปทรงถ้วยแชมเปญ และสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานีพิจารณาอนุมัติเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการของโครงการโดยไม่ได้คำนึงถึงความคุ้มค่าของงบประมาณการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน ซึ่งมีความแข็งแรงทนทานและอายุการใช้งานที่น้อยกว่าแบบแปลนเดิม รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งมีบุคลากรไม่เพียงพอสำหรับที่จะแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการเพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างที่ไม่มีความรู้ ความชำนาญในงานก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน และการปฏิบัติหน้าที่ไม่เคร่งครัดตามระเบียบฯ นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้จัดทำทะเบียนคุมรายละเอียดของวัสดุ อุปกรณ์ ที่ส่งมอบให้แก่คณะกรรมการบริหารกิจการและบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้าน เพื่อป้องกันการสูญหายและสามารถนำมาใช้ในงานระบบประปาหมู่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ประเด็นเรื่องระบบประปาหมู่บ้านบางแห่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ นั้น สตง.ระบุว่า จากการตรวจสอบเอกสารและการสังเกตการณ์การใช้ประโยชน์จากระบบประปาหมู่บ้าน จำนวน 25 แห่ง พบว่า ระบบประปาหมู่บ้านที่สามารถใช้ประโยชน์มีเพียง 9 แห่ง อีก 16 แห่ง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ แยกเป็นก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 12 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 แห่ง รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 43,503,000 บาท นอกจากนี้ พบว่า ประชาชนใช้น้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภคในระดับต่ำ เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอและคุณภาพน้ำไม่เหมาะสม และเมื่อการดำเนินโครงการฯ โดยไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการย่อมก่อให้เกิดความสูญเปล่าของงบประมาณ ซึ่งคิดจากวงเงินค่าก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านเป็นจำนวน 43,503,000 บาท ดังกล่าว รวมทั้งหน่วยงานเสียโอกาสในการนำเงินงบประมาณเพื่อการพัฒนาในพื้นที่ที่มีความพร้อมหรือการพัฒนาในด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า
เบื้องต้น สตง. จัดทำรายละเอียดและมีข้อเสนอแนะให้ท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานีดำเนินการปรับปรุงแก้ไขปัญหาแต่ละด้านแล้ว
หมายเหตุ : ภาพประกอบข่าว พล.อ.ประยุทธ์จาก ThaiPublica ,ระบบประปาหมู่บ้านจาก Builk