อดีตบิ๊ก-จนท.อคส.พยานปากสุดท้าย ‘ปู’ ไฉนปล่อยข้าวจากคลังปมจีทูจีให้ก๊วนเสี่ยเปี๋ยง
“เรื่องความสัมพันธ์ของคนต่าง ๆ ไม่มีปัญญารู้หรอก เกิดมายังไม่เคยเจอเลยนายอภิชาติอะไรที่ว่าเนี่ย” … “ส่วนข้าวที่จ่ายออกไป จะเอาไปให้ใคร หรือเอาไปทำอะไรต่อนั้น ไม่ทราบ และไม่รับผิดชอบ”
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2560 คือวันไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยนัดสุดท้าย ที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
หลายคนอาจทราบกันไปแล้วว่า ศาลฎีกาฯอนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดีนี้ด้วยวาจาได้ ในวันที่ 1 ส.ค. 2560 และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค. 2560 เวลา 09.00 น.
โฟกัสคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งแยกเป็น 2 ประเด็นคือ ความเสียหายที่เกิดจากการใช้เงินงบประมาณ และความเสียหายที่อาจเกี่ยวกับการทุจริต
สำหรับความเสียหายที่อาจเกี่ยวกับการทุจริตนั้น คงหนีไม่พ้นโครงการระบายข้าวแบบจีทูจี ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า ไม่ได้มีการดำเนินการจริง แต่เป็นการนำข้าวในคลังของรัฐออกมาเวียนเทียนขายภายในประเทศ โดยมีเครือข่ายของ ‘เสี่ยเปี๋ยง’ อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง (จำเลยคดีระบายข้าวจีทูจีด้วย) เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งถูกฝ่ายอัยการนำมาซักถามบ่อยครั้งในคดีนี้
และบุคคลที่ ‘เสี่ยเปี๋ยง’ ไว้วางใจให้ดำเนินการดังกล่าว หนีไม่พ้น 5 ตัวละครหลัก คือ นายนิมล รักดี (โจ) นายรัฐนิธ โสจิระกุล (ปาล์ม) นายสุธี เชื่อมไธสง นายลิตร พอใจ และนายสมคิด เอื้อนสุภา ซึ่งเป็นจำเลยคดีระบายข้าวจีทูจีทั้งหมด
สำหรับนายสุธี เชื่อมไธสง ปัจจุบันหลบหนีคดีระบายข้าวแบบจีทูจีไปแล้ว เหมือนกับ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ส่วนอีก 4 รายที่เหลือยังมาศาลฎีกาฯเพื่อฟังการไต่สวนอยู่ มีเพียงการไต่สวนนัดสุดท้ายเท่านั้นที่นายนิมลไม่ได้มา เนื่องจากป่วย และศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังได้
พฤติการณ์ตามสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า นายสมคิด และนายรัฐนิธ เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก GSSG นายลิตร เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก Hainan (สองรัฐวิสาหกิจจีนที่ถูกอ้างว่ามาทำสัญญาจีทูจี) ส่วนนายนิมล และนายสุธี ถูกระบุว่าเป็นคนของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด (เครือข่ายนายอภิชาติ) โดยเฉพาะนายนิมล คือบุคคลที่รับแคชเชียร์เช็คจากนายสมคิด นายรัฐนิธ และนายลิตร เข้าไปติดต่อกับกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อนำแคชเชียร์เช็คไปจ่ายเบิกข้าวออกจากคลังสินค้าของรัฐ คือ องค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) (อ่านประกอบ : ดูชัด ๆ ป.ป.ช.ปอกเปลือกคดีจีทูจีเก๊เชือดยกเข่ง“บุญทรง-บิ๊กขรก.-เสี่ยเปี๋ยง”)
ข้อเท็จจริงจากสำนวน ป.ป.ช. เหล่านี้ ถูกฝ่ายอัยการนำมาซักถามแก่นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล อดีต ผอ.องค์การคลังสินค้า (อคส.) และนายพศดิษฐ์ ดีเย็น อดีตหัวหน้าคลังสินค้า อคส. จ.นครราชสีมา ที่มาเป็นพยานฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวด้วย
อัยการซักนายชนุตร์ปกรณ์ว่า ช่วงปฏิบัติหน้าที่ใน อคส. ไม่เคยได้รับคำสั่งจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) หรือนายบุญทรง หรือนายภูมิ หรือคณะอนุกรรมการระบายข้าว ให้จับตาดูคนรับมอบข้าวจากคลังสินค้า กรณีระบายข้าวแบบจีทูจี ได้แก่ นายนิมล และนายรัฐนิธ หรือผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ หรือไม่ และในฐานะผู้บังคับบัญชา ได้มีคำสั่งระงับยับยั้งการปล่อยข้าวออกจากคลังสินค้าแก่บุคคลข้างต้นหรือไม่
นายชนุตร์ปกรณ์ ตอบว่า ช่วงโครงการระบายข้าวจีทูจี ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรอง ผอ.อคส. รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ซึ่งคอยสนับสนุนโครงการรับจำนำข้าว แต่ภายหลังมารักษาการ ผอ.อคส. และได้รับเลือกให้เป็น ผอ.อคส. คือช่วงเดือน ก.ย. 2556 ซึ่งโครงการระบายข้าวจีทูจีผ่านไปแล้ว แต่มาทราบเรื่องทีหลัง
ยืนยันว่า โครงการระบายข้าวจีทูจี อคส. แทบไม่มีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ทำตามคำสั่งของกรมการค้าต่างประเทศทั้งหมด เมื่อคำสั่งจากกรมการค้าต่างประเทศให้ปล่อยข้าวออกจากคลังสินค้า ก็ดำเนินการตามระเบียบทุกอย่าง โดยดูรายละเอียด และเอกสารว่า บุคคลที่เข้ามารับข้าวนั้น มีเอกสารถูกต้องครบถ้วน ตรงกับที่กรมการค้าต่างประเทศเคยบอกไว้หรือไม่ หากถูกต้องก็ดำเนินการจ่ายข้าวให้
“เรื่องความสัมพันธ์ของคนต่าง ๆ ไม่มีปัญญารู้หรอก เกิดมายังไม่เคยเจอเลยนายอภิชาติอะไรที่ว่าเนี่ย” นายชนุตร์ปกรณ์ ยืนยัน
ส่วนประเด็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เคยสั่งการให้ตรวจสอบปัญหาความไม่ชอบมาพากลในโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่นั้น นายชนุตร์ปกรณ์ ระบุว่า เรื่องคำสั่งตามระบบราชการแล้วต้องทำเป็นลำดับชั้น คือหัวใหญ่สุดได้แก่ กขช. สั่งการลงมาที่กระทรวงพาณิชย์ ถึงสั่งการมาที่ อคส. ได้ รูปแบบราชการเป็นอย่างนี้ การได้รับคำสั่งโดยตรงจึงไม่มี แต่ยืนยันว่า มีการออกคำสั่งมาตามลำดับชั้นเป็นปกติ
สำหรับนายชนุตร์ปกรณ์ เป็นผู้ถูกกล่าวหา กรณีเรียกรับเงินจากบริษัทเอกชนค้าข้าว เพื่อส่งมอบข้าวถุง ตามโครงการข้าวถุงราคาถูกจำหน่ายแก่ประชาชน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. และนายชนุตร์ปกรณ์ ได้ชี้แจงแก่คณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว (อ่านประกอบ : อดีต ผอ.อคส.งานเข้าอีก! ป.ป.ช.สอบปมเรียกเงินเอกชน 30 ล.แลกคืนค่าข้าวถุง)
ส่วนนายพศดิษฐ์ ดีเย็น อดีตหัวหน้าคลังสินค้า อคส. จ.นครราชสีมา ให้คำตอบแก่อัยการคล้าย ๆ กัน สรุปได้ว่า การจ่ายข้าวให้กับบุคคลนั้น ยึดถือตามเอกสารหลักฐานจากกรมการค้าต่างประเทศเป็นหลัก เมื่อบุคคลที่เข้ามาติดต่อมีหลักฐานเอกสารครบถ้วน ถูกต้อง ยืนยันได้ว่าของจริง ก็จ่ายข้าวไปให้
“ส่วนข้าวที่จ่ายออกไป จะเอาไปให้ใคร หรือเอาไปทำอะไรต่อนั้น ไม่ทราบ และไม่รับผิดชอบ” นายพศดิษฐ์ ระบุ
ทั้งหมดคือพยานปากสำคัญของ ‘ยิ่งลักษณ์’ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่ศาลฎีกาฯ นัดพิพากษาคดีรับจำนำข้าว วันที่ 25 ส.ค. 2560 นี้
เป็นวันเดียวกับที่ศาลฎีกาฯนัดฟังคำพิพากษาในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่มีนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ อดีตข้าราชการระดับสูงกรมการค้าต่างประเทศ กลุ่มเอกชนเครือข่ายนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร กับพวก เป็นจำเลยด้วย (อ่านประกอบ : ไม่ส่งศาล รธน.ตีความ!พิพากษาคดีข้าว‘ยิ่งลักษณ์’-พร้อมจีทูจี'บุญทรง' 25 ส.ค.นี้)
ดังนั้นวันที่ 25 ส.ค. 2560 จึงนับเป็นอีกวันที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า บทสรุปทั้ง 2 คดีมหากาพย์ดังกล่าวจะเป็นเช่นไร ?