ดูชัด ๆ ป.ป.ช.ปอกเปลือกคดีจีทูจีเก๊เชือดยกเข่ง“บุญทรง-บิ๊กขรก.-เสี่ยเปี๋ยง”
"..เราจะเห็นได้ว่า ผลแห่งการซื้อขายข้าวครั้งสุดท้าย เป็นการรับซื้อต่อภายในประเทศ มิได้มีการส่งออกนอกประเทศแต่อย่างใด เป็นการบริหารจัดการโดยบริษัท สยามอินดิก้าฯ ซึ่งมีนายอภิชาต จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยงเป็นเจ้าของ.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นมติฉบับเต็มของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ และข้าราชการระดับสูง และบริษัทเอกชน รวม 21 ราย กรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
อ่านประกอบ : ป.ป.ช.เชือดล็อตแรกคดีข้าวจีทูจี"บุญทรง-ภูมิ"ไม่รอด-ฟ้องแพ่ง 6 แสนล้าน
----
สำหรับคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งมีการกล่าวหานายบุญทรง กับนายภูมิ พร้อมด้วยบรรดาข้าราชการ และผู้ที่เป็นฝ่ายเอกชนอีกหลายราย ประเด็นในการไต่สวนมีอยู่ 4 ประเด็น
1.มีบริษัท จีเอสเอสจี หรือบริษัท มณฑลกวางตุ้ง กับบริษัท ไห่หนาน หรือเกาะไหหลำ ว่าได้รับมอบหมายจากจีนให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขายกับประเทศไทยแบบรัฐต่อรัฐจริงหรือไม่
2.มีการแบ่งหน้าที่ให้ พ.ต.วีระวุฒิ และนายโจ หรือนิมล รักดี นำข้าวไปขายผู้ประกอบการค้าข้าวหรือไม่
3.ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ได้ร่วมกันนำบริษัท Guangdong stationery & sporting goods imp. & exp. Corp. (จีเอสเอสจี ) และบริษัท Hainan grain and oil industrial trading company (ไห่หนาน) แอบอ้างเข้ามาทำสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือไม่ ทำด้วยเหตุผลใด
4.การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายประการใดบ้างหรือไม่
รายละเอียดสัญญาซื้อขายข้าวมีอยู่ 4 ฉบับที่ดำเนินการไต่สวน สัญญาที่หนึ่ง เป็นการขายข้าวเก่ากับ จีเอสเอสจี ปริมาณ 2 ล้านตัน จำนวนเงินกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท สัญญาที่สอง เป็นข้าวใหม่กับ จีเอสเอสจี ปริมาณ 2 ล้านตัน จำนวนเงิน 28,988 ล้านบาทเศษ สัญญาที่สาม ข้าวนาปรังปี 2555 กับ จีเอสเอสจี ปริมาณ 2.3 ล้านตัน จำนวนเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท สัญญาที่สี่ ข้าวนาปี 2554/2555 ข้าวนาปรัง 2555 กับ ไห่หนาน ปริมาณ 6.5 พันตัน จำนวนเงิน 847 ล้านบาทเศษ
สัญญาที่ 1 มีนายสมคิด เอื้อนสุภา และนายรัฐนิธ โสจิระกุล เป็นผู้รับมอบอำนาจ สัญญาที่ 2 มีนายสมคิด และนายรัฐนิธ เป็นผู้รับมอบอำนาจ สัญญาที่ 3 มีนายสมคิด และนายรัฐนิธ เป็นผู้รับมอบอำนาจ และสัญญาที่ 4 มีนายลิตร พอใจ เป็นผู้รับมอบอำนาจ
ทั้งนี้มีผู้เจรจาฝ่ายไทย คือ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตผอ.สำนักการค้าต่างประเทศ และนายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรม อดีตผอ.สำนักการค้าต่างประเทศ โดยมีนายบุญทรง นายภูมิ และ พ.ต.วีระวุฒิ เป็นผู้ให้ความเห็นชอบ
เมื่อทำการซื้อขายข้าวที่อ้างว่าเป็นรัฐต่อรัฐแล้ว ก็ได้มีผู้ประกอบการค้าข้าวอยู่ 3 กลุ่มได้เข้ามาร่วมรับซื้อข้าว ใช้แคชเชียร์เช็คจ่ายให้แก่กรมการค้าต่างประเทศ โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องคือ พ.ต.วีระวุฒิ กับนายโจ หรือนิมล รักดี ซึ่งเป็นคนของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เข้าไปเกี่ยวข้องในการซื้อขายครั้งนี้
เราจะเห็นได้ว่า ผลแห่งการซื้อขายข้าวครั้งสุดท้าย เป็นการรับซื้อต่อภายในประเทศ มิได้มีการส่งออกนอกประเทศแต่อย่างใด เป็นการบริหารจัดการโดยบริษัท สยามอินดิก้าฯ ซึ่งมีนายอภิชาต จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยงเป็นเจ้าของ
แต่มีผู้ถือหุ้นอยู่หลายคน ได้แก่ นางรัตนา แซ่เฮ้ง น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์ น.ส.สุธิดา จันทะเอ นายสุธี เชื่อมไธสง น.ส.สุนีย์ จันทร์สกุลพร นายกฤษณะ สุระมนต์ นายสมยศ คุณจักร บริษัท สิราลัย จำกัด หรือกีทา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และ น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร
จากการพิจารณาข้อเท็จจริง เห็นว่า มีผู้ถูกกล่าวหารวม 21 ราย แบ่งเป็น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 ราย คือ นายบุญทรง นายภูมิ และ พ.ต.วีระวุฒิ วัจจนะพุกกะ เลขานุการนายบุญทรง ข้าราชการระดับสูง 3 ราย คือ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรม และอดีต ผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ
เอกชนอีก 13 ราย คือ นายสมคิด เอื้อนสุภา นายรัฐนิธ โสจิระกุล นายลิตร พอใจ ผู้รับมอบอำนาจชำระเงินและผู้รับมอบอำนาจรับมอบข้าว น.ส.รัตนา แซ่เฮง กรรมการบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด น.ส.สุธิดา จันทะเอ กรรมการบริษัท สยามอินดิก้าฯ น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์ กรรมการบริษัท สยามอินดิก้าฯ และในฐานะส่วนตัว นายโจ หรือนิมล รักดี นายสุธี เชื่อมไธสง น.ส.สุนีย์ จันทร์สกุลพร นายกฤษณะ สุระมนต์ นายสมยศ คุณจักร น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร กรรมการบริษัท สิราลัย จำกัด และนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร
รวมถึงบริษัท 2 แห่ง คือ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และบริษัท สิราลัย จำกัด หรือบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
ได้ร่วมกันกระทำความผิด ด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำงาน โดยช่วยเหลือ มุ่งหมาย เอื้อประโยชน์ให้กับ Guangdong (กวางตุ้ง) stationery & sporting goods imp. & exp. Corp. และ Hainan (ไห่หนาน) grain and oil industrial trading company ซึ่งมิได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขาย แต่ให้มีสิทธิเข้าทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยไม่ต้องแข่งขันราคากับผู้เสนอราคารายอื่นแล้วนำข้าวที่ซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายตลาดภายในประเทศ หรือต่ำกว่าราคาที่ฝ่ายไทยเสนอ หรือต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ นำไปขายต่อให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศ หรือนำไปให้บริษัท สยามอินดิก้าฯ นำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมการค้าต่างประเทศ และประเทศชาติอย่างร้ายแรง
ผู้ถูกกล่าวหาข้างต้นร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อพิจารณาลงโทษทางวินัย และให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาตามฐานความผิดดังกล่าวข้างต้น ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 92 และ 97 แล้วแต่กรณี สำหรับผู้ถูกกล่าวหารายอื่นั้น ให้คณะอนุกรรมการไต่สวน ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปโดยเร็ว
นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเพิ่มเติม ดังนี้
1.ให้นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องกล่าวหานี้ ในส่วนของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ไปดำเนินการศึกษาเพื่อกำหนดมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 19 (12) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบการทุจริต พ.ศ.2542
2.สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับ จีเอสเอสจี และ ไห่หนาน แจ้งให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ดำเนินการให้ผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสียหายชดใช้ค่าเสียหาย ตามมาตรา 73/1 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.
3.แจ้งให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน หรือการชำระภาษีของผู้ถูกกล่าวหา รวมถึงผู้เกี่ยวข้องที่ทำการสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คให้กับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ตามมาตรา 103/7 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.
(เชิญชวนติดตามข่าวสารสำนักข่าวอิศรา ได้ด้วยการกด "Like" ที่ แฟนเพจ "I love isranews")