กลัววุ่น! ไฟเขียวเลิก "ประเมินพื้นที่" ลุยประกาศเซฟตี้โซนชายแดนใต้
กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เงียบหายไปนาน จนผู้คนหลายๆ ภาคส่วนในสังคมหลงลืมไปแล้วว่ามีการพูดคุยกันอยู่
เพราะหากมองผลสัมฤทธิ์ที่ปลายทางแบบที่คนทั่วไปมอง แม้เหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้จะลดความถี่ลง แต่การพยายามก่อเหตุก็ยังคงมีอยู่
ที่สำคัญ แม้แต่บุคคลสำคัญในคณะพูดคุยฯเอง ก็ยังเรียกร้องให้มีการวิเคราะห์วิจัยเพื่อหาคำตอบให้ชัดเจนว่า ความรุนแรงที่ลดระดับลง เป็นผลมาจากกระบวนการพูดคุย หรือมาจากกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนกำลังเปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้กันแน่
เมื่อยังไม่มีคำตอบใดๆ ที่พิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ สังคมจึงประเมินเอากับสถานการณ์โดยรวมๆ แทน และที่ผ่านมาก็ยังไม่มี "จุดเปลี่ยน" ที่ทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าไฟใต้กำลังจะดับมอดลง
ความเงียบและชะงักงันของกระบวนการพูดคุยฯในความรู้สึกของผู้คนบางส่วนในสังคมต้องหยุดลง เพราะล่าสุด พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ได้ออกแถลงการณ์ "ความคืบหน้าในการขับเคลื่อนของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" ความยาวประมาณ 2 หน้ากระดาษ เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง
สาระสำคัญของ "สาร" ที่ พล.อ.อักษรา ต้องการสื่อ มี 2-3 ประการ คือ 1.กระแสสื่อสังคมมักเชื่อมโยงเหตุการณ์ความรุนแรง และกล่าวอ้างว่าการพูดคุยฯ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การประกาศเอกราชในปี 2575 ของขบวนการ BRN ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริงแต่ประการใด เพราะโดยขอเท็จจริงแล้ว การพูดคุยฯ เป็นแนวทางสันติวิธี ย่อมไม่ใช่ต้นเหตุความรุนแรงอย่างแน่นอน
2.คณะพูดคุยฯ ได้คุยกันตลอด ทั้งเป็นบุคคล และในรูปแบบคณะทำงานเทคนิคร่วม รวมทั้งพูดคุยกันแบบเต็มคณะ โดยก่อนหน้าเดือนรอมฎอน (มิ.ย.60) ได้คุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างฯ และผู้อำนวยความสะดวก เพื่อควบคุมสถานการณในห้วงเดือนรอมฎอน และในสัปดาห์ปลายเดือน มิ.ย.ก็จัดประชุมคณะพูดคุยฯ เพื่อประเมินสถานการณ์ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนรอมฎอน พร้อมกับแจกหนังสือเพื่อสร้างความเข้าใจกับสังคมต่อไป
นี่คือสาระสำคัญของแถลงการณ์ ซึ่งไม่ได้บอกว่ากระบวนการพูดคุยคืบหน้าไปถึงไหนกันแน่ ท่ามกลางกระแสเรียกร้องเรื่อง "พื้นที่ปลอดภัยสาธารณะ" ขององค์กรภาคประชาสังคมและประชาชนบางส่วนในพื้นที่
ประเด็นนี้ "ทีมข่าวอิศรา" ได้ข้อมูลมาว่า แนวทางการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" ระดับอำเภอ ภายหลังคณะพูดคุยฯชุดใหญ่ของทั้งสองฝ่าย (รัฐบาลไทย กับ มารา ปาตานี) เห็นชอบร่วมกันเมื่อปลายเดือน ก.พ.60 ให้เดินหน้าเรื่องนี้ โดยมีการเสนออำเภอนำร่องสำหรับประกาศเป็น "พื้นที่ปลอดภัย" รวม 5 อำเภอ แต่จะมีการตั้งคณะกรรมการประเมินพื้นทีร่วมกัน ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทย กับตัวแทน มารา ปาตานี เพื่อคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 อำเภอ และมอบหมายให้คณะทำงานเทคนิคร่วม ไปหารือในรายละเอียดเพิ่มเติม พร้อมกำหนดกรอบเวลาคร่าวๆ ว่าต้องได้ข้อยุติภายใน 3 เดือนนั้น
ล่าสุดคณะทำงานเทคนิคร่วม ได้มีความเห็นร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการว่า จะตัดขั้นตอนการตั้ง "คณะกรรมการประเมินพื้นที่" ออกไป เพราะกระบวนการนี้ต้องให้ตัวแทน มารา ปาตานี เข้ามาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งทางการไทยต้องดูแลความปลอดภัย หากเกิดเหตุรุนแรงขึ้น อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของฝ่ายความมั่นคงไทย และสะเทือนถึงกระบวนการพูดคุยในภาครวม
นอกจากนั้น หากผู้แทนของ มารา ปาตานี เป็นบุคคลที่มีหมายจับจากทางการไทยอยู่ ก็จะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขพิเศษเพื่อคุ้มกันชั่วคราวไม่ให้ถูกจับกุมดำเนินคดี (immunity) ซึ่งประเด็นนี้เป็นอำนาจของฝ่ายตุลาการ ซึ่งฝ่ายบริหารไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ กระบวนการดำเนินการจึงค่อนข้างยากและมีประเด็นทางกฎหมายค่อนข้างซับซ้อน
ด้วยเหตุนี้ คณะทำงานเทคนิคร่วม จึงเห็นตรงกันว่าจะเสนอคณะพูดคุยฯชุดใหญ่ ข้ามขั้นตอนการประเมินพื้นที่ร่วมกัน และประกาศ "พื้นที่ปลอดภัย" นำร่องอำเภอแรกไปเลย เพียงแต่ขณะนี้กำลังหารือความเหมาะสมว่า จำเป็นต้องประกาศต่อสาธารณะผ่านสื่อหรือไม่ หรือจะทำกันแบบเงียบๆ แล้วประเมินผลเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน
มีข่าวอีกกระแสหนึ่งด้วยว่า พล.อ.อักษรา ได้ประสานไปยัง ดาโต๊ะ สรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยฯ เพื่อให้เชิญ นายดูนเลาะ แวมะนอ ซึ่งฝายไทยเชื่อว่าเป็นประธานบีอาร์เอ็นคนใหม่ และคุมกำลังฝ่ายทหารของขบวนการไว้ทั้งหมด มาร่วมพูดคุยใต้ร่ม มารา ปาตานี
อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้มีนักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่กับการพยายามประสานหรือส่งสัญญาณพูดคุยไปยัง นายดูนเลาะ แวมะนอ รวมถึง นายเด็ง แวกาจิ ที่ทางการไทยเชื่อว่าเป็นหัวหน้าฝ่ายกองกำลังคนใหม่ของบีอาร์เอ็น เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีข่าว ดาโต๊ะซัมซามิน เชิญนายดูนเลาะเข้าพูดคุยมาแล้ว พร้อมขอร้องให้ลดระดับการก่อเหตุรุนแรงลง ซึ่งมาเลเซียมีความชอบธรรมในการกดดันนายดูนเลาะ และแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนคนอื่นๆ เพราะคนเหล่านี้พำนักและหลบหนีอยู่ในประเทศมาเลเซีย
กระนั้นก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่า อย่างไรเสีย นายดูนเลาะ หรือแม้แต่ นายนเด็ง แวกาจิ ก็จะไม่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยใต้ร่ม มารา ปาตานี ด้วยตนเอง หากฝืนแรงกดดันจากทางมาเลเซียไม่ไหว ก็อาจส่งตัวแทนเข้าร่วม เพราะไม่ต้องการผูกมัดตัวเองมากเกินไป
กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯจึงยังคงเป็นเหมือนหนังม้วนยาวหลายตอนจบเช่นเดิม!
--------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (บน) คณะพูดุยฯของมารา ปาตานี (ล่าง) คณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทย
อ่านประกอบ :
พูดคุยดับไฟใต้เดินหน้าพื้นที่ปลอดภัย เลือก 1 จาก 5 อำเภอ สามเดือนสรุป
"พื้นที่ปลอดภัย"ชายแดนใต้...เข้าใกล้สันติสุขจริงหรือ?
พล.อ.อักษรา: ถ้าคิดว่าการพูดคุยฯเป็นต้นเหตุรุนแรงก็ยุติไปเลย!
ไฟใต้ไม่ได้เปลี่ยนรูป...แต่ยิ่งชัดขึ้น และ"พื้นที่ปลอดภัย"ยิ่งยาก
เปิดเกณฑ์ "พื้นที่ปลอดภัย" เกิดเหตุรุนแรงเกิน 3 ครั้งต้องยกเลิก!