“ขู่-โม้-โชว์-โกหก”นโยบายคุมอินเทอร์เน็ต4.0 ยุคคสช.
นโยบายควบคุมอินเทอร์เน็ต 4.0 ในยุคคสช. ในมุมของผมคือ (1) ขู่ (2)โม้ (3) โชว์ (4) โกหก ซึ่งก็ทำได้จริงและได้ผล ทุกคนรักษาระยะห่างกับเรื่องแสดงความคิดเห็นทางการเมืองสังคมอินเทอร์เน็ตเงียบ” ยิ่งชีพกล่าว
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 60 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงข่าวการประชุมนานาชาติ “เวทีอภิบาลอินเทอร์เน็ตภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก “APrIGF 2017” ณ อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในเวทีดังกล่าวยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน(iLaw)ได้ชวนทบทวนสิทธิทางการเมือง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับกฎหมายที่รัฐพยายามกำกับ โดยระบุว่าในยุคหลังๆ การจับผู้กระทำความผิดจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทั้ง มาตรา 112, 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา ร้อยละ 90 มาจากโลกออนไลน์
ยิ่งชีพ พาย้อนดูว่าตลอด 3 ปีภายใต้รัฐบาลคสช. ได้ทำอะไรบ้างในการควบคุมเนื้อหา การแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์
28 พฤษภาคม 2557
ยิ่งชีพ เล่าว่า หลังการทำรัฐประหารของคสช. เวลา15.45 น. เฟซบุ๊คในประเทศไทยไม่สามารถใช้งานได้ และทุกคนก็ตื่นเต้นว่าจะไม่ได้เข้าเฟซบุ๊คเเล้วหรือเปล่า ช่วงนั้นมีบัญชีทวิตเตอร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากนั้นเฟซบุ๊คก็กลับมาใช้งานได้ปกติ โดยมีคนพูดกันไปว่า มีคนสั่งให้ทำ และต่อมาทางการก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ แต่ก็ไม่มีรายละเอียดอะไร ปล่อยให้เรื่องนี้อยู่ในความสงสัยต่อไปว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่เรารู้สึกคือ มีการแสดงแสนยานุภาพแล้วว่า ถ้าเขาจะทำก็ทำได้น่ะ แต่ยังไม่ทำ
แน่นอนเขาไม่ทำหรอก เพราะเฟซบุ๊คไม่ได้มีแค่เรื่องการเมือง ยังมีเรื่องธุรกิจ การค้าขาย ชีวิตผู้คนมากมายอยู่ในนั้น ดังนั้นเขาไม่ทำ แค่เตือนเฉยๆ
6 มกราคม 2558
มีการออกชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล 8 ฉบับ (แต่จริงๆ มี 10 ฉบับ เราเรียกกันเองว่า กฎหมายความมั่นคงดิจิทัล 10 ฉบับ) ซึ่งหนึ่งในฉบับที่ดังที่สุด คือเรื่องที่ว่าด้วย พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ หรือการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์ ที่มีมาตรา 35 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาสอดส่องการส่งอีเมล์ การส่งโทรเลข ได้ไม่จำกัด
ยิ่งชีพ กล่าวว่า มีกระแสเรื่องนี้ดังมาก มีคนออกมาคัดค้าน คนตื่นตัวเรื่องความเป็นส่วนตัว(Privacy) ออนไลน์
โดยชุดกฎหมาย ทั้ง 10 ฉบับมีดังนี้
1. ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2. ร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่...)
3. ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่...)พ.ศ. ...
4. ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์(ฉบับที่...) พ.ศ. ...
5. ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ...
6. ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ...
7. ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. ...
8. ร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ...
9. ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ...
10. ร่างพ.ร.ฎ การจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่...) พ.ศ. ...
“ก็ผ่านแค่สีเขียวและสีเหลือง คือ สีเขียวสามฉบับรวมกันผ่านเป็นฉบับเดียว ที่เหลือสีเหลือง ส่วนใหญ่ที่ผ่านๆ ก็จะเป็นเรื่องคณะกรรมการ ทบวง กรม ตั้งกระทรวงใหม่(กระทรวงดิจิทัล) ส่วนหลักอย่าง ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ ยังไม่ผ่าน หรือในร่างข้อ 6 กำลังรออยู่”
กันยายน 2558
มีข่าวว่าจะมีนโยบาย ซิ้งเกิ้ล เกตเวย์ ทุกคนก็ตื่นเต้น มีการณรณรงค์ผ่าน Change.org มีคนลงชื่อกว่า 5 หมื่นคน และทุกคนออกมา มีความกังวลเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นส่วนตัว เรื่องเน็ตจะช้า เรื่องธุรกิจ
ยิ่งชีพ อธิบายว่า เอาเข้าจริง ไม่สามารถทำได้เลยในเชิงเทคนิค เพราะความสามารถของเรายังไม่ถึง และคนที่ให้บริการเกตเวย์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเอกชน ไม่มีทางให้แน่นอน ต้องไปออกกฎหมายเวนคืน หรือกฎหมายอะไรไม่รู้อีกมาเพื่อจะเวนคืนธุรกิจที่อยู่ในมือเอกชนเพื่อกลับมาเป็นของรัฐ
ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเหมือนการพูดออกมาเล่นๆ เพื่อวัดดูว่าคนค้านจะสักเท่าไหร่ ซึ่งในความจริง เรื่องนี้ไม่สามารถทำได้ตั้งแต่ต้นอยู่เเล้ว
และสุดท้ายรัฐก็ออกมาบอกว่าไม่ได้ทำ
16 ธันวาคม 2559
มีการผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมฯ ได้จริงจังครั้งแรก แต่ก่อนหน้านั้น มีการจับกุมคนกดไลค์ มีการจับคนจากแชทบ็อกซ์ มีการแถลงข่าวใหญ่โต สร้างกระแสตื่นตัวอีกนิดหน่อย และปลายปีก็ผ่านร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ท่ามกลางการคัดค้านอย่างสนุกสนานในยุค คสช. คือมีคนลงชื่อทาง Change.org 3 แสนคน
แต่สุดท้ายก็ผ่านไป เนื้อหาสาระของพ.ร.บ.คอมฯที่ผ่าน หลักๆ แล้วเปลี่ยนไม่มาก ว่าด้วยสิทธิ อะไรพูดได้ อะไรพูดไม่ได้ แทบจะเหมือนเดิม ในรายละเอียดก็มีปรับโครงสร้างความผิดเพิ่มขึ้นมา แต่ในแง่อะไรพูดได้ ไม่ได้ ก็ไม่ต่างกับของเดิมมาก
8 มีนาคม 2560
มีร่างพ.ร.บ.จดทะเบียนสื่อ ที่เสนอโดย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) ออกมา ร่างพ.ร.บ.ฯนี้ บอกว่า สื่อทุกสื่อต้องจดทะเบียน รวมทั้งสื่อออนไลน์ และตีความไปถึงเฟซบุ๊คแฟนเพจต่างๆ ก็ต้องไปจดทะเบียน และต้องขึ้นตรงสำนักวิชาชีพ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งต้องกำกับในเรื่องประมวลจริยธรรมสื่อต่างๆ
แต่สุดท้ายเเล้ว เรื่องนี้ยังไม่ผ่าน มีการแก้หลายครั้ง ทำให้นโยบายในการกำกับสื่อออนไลน์ก็คลี่คลายไป ร่างนี้เสนอโดย สปท. ซึ่งยังไม่มีผลใดๆ เพราะไม่มีได้มีหน้าที่ออกกฎหมาย
12 เมษายน 2560
มีประกาศกระทรวงดิจิทัล ห้ามติดต่อบุคคลสามคน นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และนายแอนดริว มาร์แชล
ตอนแรกที่ออกมาคนสงสัยการเป็นเพื่อนกันบนกับคนเหล่านี้ผิดหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ ก้ไม่มีกฎหมายไหนบอกว่าผิด แต่ทุกคนก็ตื่นเต้น ตกใจกันว่า จะเอายังไงกันแน่ จนสุดท้าย คนที่ออกประกาศก็ออกมาแถลงว่าไม่มีผลบังคับอะไร
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าออกมาทำไม เพราะต่อให้เราเป็นเพื่อนกับสามคนนั้น เราก็ไม่ผิดกฎหมายข้อไหน
พฤษภาคม 2560
มีตำรวจท่านหนึ่งออกมาพูดทำนองว่า จับคนโพสต์ไม่ได้ ก็จะจับคนดู ใครเข้าไปดู ก็จะเป็นกลุ่มเป้าหมายต่อไป
ซึ่งความจริง ก็ไม่มีกฎหมายไหนบอกว่าการดูเป็นความผิด
28 มิถุนายน 60
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ออกมาประกาศนโยบาย OTT(Over-The-Top) หรือ การให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตโดยที่ผู้ให้บริการไม่ได้ลงทุนหรือเป็นเจ้าของโครงข่ายอินเทอร์เน็ต
ยิ่งชีพ มองว่า อยู่ดีๆ ออกมาบอกว่าจะจดทะเบียน OTT คือ คอนเทนต์ทีวีออนไลน์ เฟซบุ๊ค ยูทิวบ์ ต้องมาจดทะเบียน แต่ประกาศหลักเกณฑ์ว่าให้จดอะไร ก็ยังไม่ออก ทุกวันนี้ก็ยังไม่ออก แล้วเฟซบุ๊ค ยูทิวบ์ จะไปจดได้อย่างไรเพราะประกาศยังไม่ออก ถึงวันที่ต้องไปจด เขาก็ไม่ไป กสทช.ก็บอกว่า งั้นไม่มาก็ไม่เป็นไร
ยิ่งชีพ อธิบายว่า ในพ.ร.บ.กสทช. ที่ว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ มีอยู่ 23 กฎหมายอนุบัญญัติ ก็ไม่มีอนุฯไหนที่เกี่ยวข้อง
กสทช.มีอำนาจในการกำกับเนื้อหาในวิทยุ และโทรทัศน์ จัดสรรคลื่นความถี่ แต่ไม่มีมาตราไหนที่ให้อำนาจจัดสรรเนื้อหาในโลกออนไลน์ คือไม่ว่าเขาจะตีความ มาจากอะไร แต่เท่าที่อ่าน 23 อนุฯ ไม่ทราบว่าเขาตีความจากฐานอนุฯไหนซึ่งเขาก็รู้ว่าเขาไม่มีอำนาจ แค่ขู่เล่นๆ
“ต้องเข้าใจปรากฏการณ์นี้อีกอย่าง ตอนที่ กสทช.ออกมาประกาศเรื่องนี้เมื่อเดือนที่แล้ว คือ กสทช.ชุดนี้ เงินเดือน สี่แสนบาท และจะหมดอายุในเดือนตุลาคมนี้ ก่อนจะมีการแต่งตั้งใหม่ ฝ่ายทหารมีบทบาทในการแต่งตั้งใครเข้ามาในสาระใหม่ เพราะฉะนั้นการออกมาพูดอะไรในช่วงหนึ่งเพื่อให้เป็นที่รู้จักก็สำคัญ เพื่อประกันว่าเขาจะได้เงินสี่แสนบาท ไปอีก 6 ปี หรือเปล่า” ยิ่งชีพตั้งข้อสังเกต
เขา เล่าอีกว่า คนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ สปท.ที่จะหมดวาระในเดือนนี้ สปท.ก็ไม่อยากให้ตัวเองหลุดไปจากอำนาจและเงินเดือนแสนกว่าบาท เพราะฉะนั้นก่อนจะหมดอายุในสิ้นเดือนนี้ ก็ออกมาพูดเรื่องมาตราให้แสกนนิ้ว สแกนใบหน้าผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย เพื่อทำให้เป็นข่าวและสุดท้ายก็เป็นข่าว
"จริงๆ สปท.ไม่มีอำนาจออกนโยบายอะไร แต่พอเขาออกมาพูด เรื่องนโยบายนี้ คนก็ตื่นเต้นว่าต่อไปเล่นเฟซบุ๊คต้องสแกนหน้าเเล้ว ทั้งๆ ที่สปท.ไม่มีอำนาจอะไรเลย และถ้าอ่านในรายงานเขาบอกว่า เสนอให้ กสทช.ทำ ซึ่งก็ไม่มีอำนาจเช่นเดียวกันดังนั้นนี่จึงเป็นละครฉากหนึ่งของคนที่อยากมีเงินเดือนอยู่"
ยิ่งชีพชวนมองอีกมุมหนึ่งว่า นโยบายทั้งหมดนี้เราไม่เข้าใจอะไรมากมาย อ่านกันแค่ผ่านข่าว มีคนยังเข้าใจว่า เมื่อพ.ร.บ.คอมฯผ่าน ก็มีซิงเกิ้ล เกตเวย์ผ่านไปด้วย หรือ บางคนเข้าใจว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ ผ่านไปแล้ว ต้องสแกนนิ้วเล่นเเล้ว
“คนทั่วไปก็ไม่เข้าใจอะไรมาก จะให้มาเปิดกฎหมายอ่านทุกคนก็คงไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ นโยบายควบคุมอินเทอร์เน็ต 4.0 ในยุคคสช. ในมุมของผม 4.0 คือ (1) ขู่ (2)โม้ (3) โชว์ (4) โกหก” ยิ่งชีพกล่าว
แล้วพอทำอย่างนี้ ผู้รับสาร ซึ่งคือ ประชาชนก็สับสนไม่เข้าใจ แล้วกลัว ถอยออกมาหนึ่งก้าว ทุกคนรักษาระยะห่างกับเรื่องแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สังคม อินเทอร์เน็ตเงียบ
ซึ่งก็ทำได้จริง และได้ผล ก็ไม่แน่ใจว่ารัฐตั้งใจขนาดไหน แต่ถ้าตั้งใจ กฎหมายไม่ต้องแก้เยอะมาก ทำจริงไม่ต้องอะไรมา แต่ขู่เยอะๆ ไว้ แล้วคนสับสนจนกลัวไปเอง ถ้าตั้งใจ ก็จะบอกว่า นโยบายจิตวิทยาของทหารได้ผลมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดร.สมเกียรติชี้รัฐยิ่งปิดกั้นสื่อนโยบาย 4.0 ไม่มีทางเกิด