ดร.สมเกียรติชี้รัฐยิ่งปิดกั้นสื่อนโยบาย 4.0 ไม่มีทางเกิด
ดร.สมเกียรติ วิพากษ์อินเทอร์เน็ตไทยรัฐยิ่งปิดกั้นสื่อ ความหวังเดินนโยบาย 4.0 ไม่มีทางเกิดขึ้น แนะทางออก เปิดข้อมูลเสรี เข้าถึงง่าย นำไปต่อยอดธุรกิจได้
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 60 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงข่าวการประชุมนานาชาติ “เวทีอภิบาลอินเทอร์เน็ตภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก “APrIGF 2017” ณ อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตอนหนึ่ง ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 กับนโยบายอินเทอร์เน็ตของไทย ว่า บทบัญญัติเรื่องของอินเทอร์เน็ตในเมืองไทยน่าสนใจมาก หากเป็นต่างประเทศ อินเทอร์เน็ตไม่ต้องดูเเลมากมาย ถือว่าเป็นอนุบาลอินเทอร์เน็ต หมายถึงดูเเลเล็กๆ น้อยๆ แต่เมืองไทยของเราดูเเลส่วนนี้มากเป็นพิเศษ เรียกว่าเป็นอภิบาลอินเทอร์เน็ต รัฐบาลบอกว่าไทยแลนด์ 4.0 คือยุคที่เราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศโดยใช้ข้อมูล ใช้ความรู้เป็นปัจจัยในการผลิตหลัก แต่ว่าปัญหาใหญ่อีกอย่างคือการที่รัฐพยายามปิดกั้นการสื่อสาร
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงนโยบาย OTT(Over-The-Top) หรือ การให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตโดยที่ผู้ให้บริการไม่ได้ลงทุนหรือเป็นเจ้าของโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ว่า ความเข้าใจแรกนึกว่าเป็น Over-Takorn-Tantasith เพราะว่าคนสั่ง OTT ไม่ใช่คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์(เลขาธิการ กสทช.) แต่เป็นคนที่เหนือกว่า ซึ่งนโยบายดังกล่าวถือเป็นการปิดกั้นการสื่อสารแบบหนึ่ง ความไม่เข้ากันกับบริบทของไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งวิธีการหลักคือการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น โครงการ ECC เพราะจะหวังรอสตาร์ทอัพเมืองไทยในการขับเคลื่อนอย่างเดียวก็ไม่ทัน
ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ประเด็นนโยบาย4.0 และ นโยบายอินเทอร์เน็ตต้องไปด้วยกันให้ได้ เพราะนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้อินเทอร์เน็ตโดยตรงมีความกังวลอย่างมาก จากการปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งความกังวลที่ว่าไม่ใช่เพียงแค่บริษัทจากฝั่งตะวันตกอย่าง กูเกิ้ล หรืออื่นๆ แต่รวมถึงบริษัทในโลกตะวันออกด้วย เพราะเขาห่วงเรื่องสิทธิเสรีภาพมาก แต่เดิมเราคิดว่าเรื่องนี้ คนที่ให้ความสำคัญมากคือชาติตะวันตก แต่วันนี้ไม่ใช่อย่างนั้นเเล้ว
" หากนโยบายไทยแลนด์4.0 ไม่เปิดกว้างในเรื่องการสื่อสาร ประเทศไทยจะไม่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ เราอาจว่า จีนไม่ได้เปิดกว้างทางอินเทอร์เน็ตแต่ทำไมถึงประสบความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจด้านนี้ได้ ไทยจะสามารถใช้โมเดลอภิบาล แบบจีนได้ค่อนข้างยาก เพราะไทยไม่ใช่ตลาดใหญ่ ที่ไม่ต้องง้อต่างชาติ ตลาดจีนใหญ่พอที่จะไม่ต้องง้อ
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงโอกาสที่ไทยจะสามารถปรับปรุงนโยบายตรงนี้ได้ คือ ภาครัฐต้องเผยแพร่ข้อมูล ในลักษณะ Open DATA หมายถึงไม่ต้องเสียเงินในการเข้าถึง เพราะวันนี้เราต้องจ่ายเงินจำนวนมากในการเข้าถึงข้อมูล เช่นข้อมูลการสำรวจครัวเรือนต่างๆ ข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจ ที่จะสามารถนำไปต่อยอดสตาร์ทอัพต่างๆ ได้ ก็ไม่ใช่ข้อมูลที่เข้าถึงได้อย่างถูกๆ รวมไปถึงข้อมูลบางส่วนที่เปิดที่เข้าถึงยากมาก เช่น ข้อมูลการถือครองที่ดิน และยังมีข้อมูลที่เปิดแต่คอมพิวเตรอ์อ่านไม่ได้ เช่นอยู่ในรูปของไฟล์ PDF ซึ่งไม่สามารถประมวลทางคอมพิวเตอร์ได้ และบางส่วนเปิดข้อมูลแต่ไม่มีรายละเอียด
“ข้อมูลที่จะส่งผลดีต่อการต่อยอดธุรกิจ ต้องเป็นข้อมูลเปิด ละเอียด มีวิธีการบริหารจัดการระหว่างความเป็นส่วนตัว(Privacy) กับการใช้ประโยชน์”ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวและว่า หากภาครัฐอยากเห็นไทยแลนด์ 4.0 เกิดขึ้น ดูเหมือนต้องปรับเปลี่ยนนโยบายหลายเรื่อง เทคโนโลยีมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด องค์กรเอกชนต่างๆ พยายามปรับตัวด้วยความเร็วเเบบค่อยๆ ไป แต่ที่น่าหนักใจคือ หากรัฐไม่ปรับตัวให้ทันอย่างน้อยในขั้นธุรกิจ โอกาสที่จะไปถึงไทยแลนด์ 4.0 เป็นไปได้ยาก
ดร.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลอยากเห็นไทยแลนด์ 4.0 เกิดขึ้น จึงสนับสนุนธุรกิจใหม่ๆ เช่นสตาร์ทอัพ ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ตั้งกองทุนสนับสนุน โดยหวังว่าจะขับเคลื่อนสตาร์ทอัพ เพื่อให้สตาร์ทอัพได้ขับเคลื่อนประเทศ แต่ว่าสตาร์อัพของไทยยังแบเบาะ คนไทยมีความเป็นผู้ประกอบการ ความสามารถทางเทคโนโลยีไม่สูงเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จึงเป็นการจุดประกายให้คนไทยหันมาสร้างนวัตกรรม เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ข้อมูลสารสนเทศมากขึ้น แต่ประเด็นคือ เราจะสร้างสตาร์ทอัพอย่างไร ในเมื่อบริการด้านอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีสารสนเทศของไทยติดกฎระเบียบหมดเลย
“ถ้ามีแต่ห้ามแล้วเราจะเอาไอเดียไหนมาทำสตาร์ทอัพ สตาร์ทอัพไม่ใช่ของที่อยู่ดีๆ นึกได้ในห้องเรียน แล้วออกมาได้เลยต้องอาศัยการลองถูกลองผิดถ้าสตาร์ทอัพไม่เกิดในไทย บางทีโจทย์อาจไม่อยู่ที่ว่าเราไม่มีเงินทุน แต่เพราะเราไม่มีเวทีให้คนไทยได้ลองผิดลองถูก” ดร.สมเกียรติ กล่าว.