แค่ประวิงเวลา!อัยการยื่นศาลฎีกาฯค้านคำร้อง‘ปู’ส่งศาล รธน.ตีความคดีข้าว-ทนายยื่นซ้ำ
อัยการยื่นศาลฎีกาฯ คัดค้านคำร้อง ‘ยิ่งลักษณ์’ ขอให้ส่งเรื่องถึงศาล รธน. ตีความปมยึดสำนวนไต่สวน ป.ป.ช. ระบุเคยทำแล้วศาลวินิจฉัยยกคำร้อง ชี้เป็นแค่การประวิงเวลา ฝ่ายทนายจำเลยยื่นซ้ำแล้ว
จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลยในคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนั้น ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่า บทบัญญัติมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 และตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เกี่ยวกับการยึดสำนวนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหลักว่า จะขัดหรือไม่ขัดกับมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีวรรคท้ายว่า ให้ยึดสำนวน ป.ป.ช. เป็นหลัก แต่ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้นั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ คัดค้านคำร้องของทนายฝ่ายจำเลยแล้ว สรุปเนื้อความได้ว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 235 และรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 277 บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ให้ศาลฎีกาฯ ไต่สวนพยานหลักฐานโดยนำสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา และให้ศาลมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ แม้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับจะแตกต่างกัน แต่มีความหมายเช่นเดียวกัน โดยให้ศาลมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้
การที่ศาลอนุญาตให้คู่ความทั้งโจทก์และจำเลยระบุพยานและส่งพยานเอกสารเพิ่มเติมต่อศาล ล้วนแล้วเป็นกระบวนการไต่สวนของศาลเพื่อให้ได้ ‘ความจริง’ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรคสาม คือ “วิธีพิจารณาคดีอาญาของศาลฎีกาด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ซึ่งปัจจุบันคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 ดังนั้นการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลจึงชอบด้วยกฏหมายแล้ว
การที่จำเลยโต้แย้งว่า ศาลใช้ดุลยพินิจให้โจทก์ระบุพยาน และส่งเอกสารหลักฐานต่อศาลเป็นไปเพื่อประโยชน์ของโจทก์ฝ่ายเดียวนั้นไม่ถูกต้อง เพราะศาลได้อนุญาตให้ทั้งโจทก์และจำเลย ระบุอ้างพยานหลักฐานได้ทั้ง 2 ฝ่าย จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว การที่ศาลจะส่งคำโต้แย้งของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เป็นดุลยพินิจของศาลโดยเฉพาะ อีกทั้งจำเลยเคยยื่นคำร้องลักษณะนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดยกคำร้อง ดังนั้นการยื่นคำร้องของจำเลยในครั้งนี้จึงเป็นการประวิงการพิจารณาคดีของศาลเท่านั้น จึงขอประทานศาลยกคำร้องดังกล่าวของจำเลย
มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อพนักงานอัยการยื่นคำร้องคัดค้านดังกล่าว ฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯเป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ทั้งนี้องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯที่รับผิดชอบสำนวนคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว จะไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยนัดสุดท้ายในวันที่ 21 ก.ค. 2560 ก่อนพิจารณาว่า จะส่งคำร้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่
สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 277 บัญญัติว่า ในการพิจารณาคดี ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยึดสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือของผู้ไต่สวนอิสระแล้วแต่กรณีเป็นหลักในการพิจารณา และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 235 บัญญัติว่า การพิจารณาของศาลฎีกา และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้นำสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 บัญญัติว่า ในการพิจารณาคดี ให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็น หลักในการพิจารณาและอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร ในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนขอให้ศาลอื่น พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงาน ของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้ ศาลมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่มอบหมาย เพื่อให้กระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเที่ยงธรรม ให้บุคคล คณะบุคคล หรือหน่วยงานตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ความร่วมมือในการดำเนินการใด ๆ ตามที่ศาลขอหรือมอบหมาย
อ่านประกอบ :
แกะรอยพยาน‘ปู’เบิกความปม‘สยามอินฯ-เสี่ยเปี๋ยง’ ก่อน 2 บิ๊ก รมต.ยันสอบไม่ได้?
สอบสยามอินฯไม่ได้เหตุไม่ใช่คู่สัญญารัฐ! 'นิวัฒน์ธำรง'เบิกความคดีข้าว'ยิ่งลักษณ์'
ชนักติดหลัง‘ยิ่งลักษณ์’ รวยผิดปกติ-สารพัดข้อหาใน ป.ป.ช.-ไม่จบแค่คดีข้าว?
‘อัยการ’ซัก‘ยิ่งลักษณ์’ตอบ! ท่าที‘นารีขี่ม้าขาว’แจงคดีข้าว-ไฉนสอบไม่เจอทุจริต?
หมายเหตุ : ภาพประกอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จากเนชั่น