พลิกปม! เลขประจำตัวปชช.ไม่ตรงสูติบัตร กับความผิดพลาด-ใจดำ-ทิ้งขว้าง ของระบบราชการไทย
"...แต่จากคำยืนยันของ เจ้าทุกข์ ทั้ง 2 ราย ทำให้ได้รับทราบว่า ปัญหามีอยู่ว่า ปี 2527 เป็นปีแรกที่ถูกประกาศให้มีการใช้หมายเลขประจำตัวประชาชน เจ้าหน้าที่ประจำท้องที่อาจไม่ทราบว่าผู้ใดมีหมายเลขประจำตัวแล้ว ทำให้มีการกำหนดเลขประชาชนใหม่ เช่น นางสาวเอเกิดปี 2527 ได้แจ้งเกิดและมีหมายเลขประจำตัวประชาชนแล้ว แต่เมื่อบรรจุชื่อลงทะเบียนบ้าน เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องทะเบียนบ้านคิดว่ายังไม่มีเลขประจำตัวประชาชน จึงใส่ให้ใหม่ โดยไม่ได้ตรวจสอบดูกับสูติบัตร .."
นับตั้งแต่ปรากฏข่าวว่า นางสาวเต็มศิริ วัย 33 ปี ซึ่งเกิดในปี 2527 เข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชน คือ นสพ.เดลินิวส์ เรื่องหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ไม่ตรงกับใบสูติบัตร โดยหมายเลขบนใบสูติบัตรนำหน้าด้วยหมายเลข 1 แต่หมายเลขบัตรประชาชนที่ใช้มาตลอดนำหน้าด้วยเลข 3 ทำให้ได้รับความเดือดร้อนในการใช้ชีวิต รวมถึงการติดต่อทำธุรกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก
ขณะที่ ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง ออกมาระบุว่า ปัจจุบันผู้ที่มีปัญหานี้มีจำนวนกว่า 10,000 ราย ได้รับการแก้ไขปัญหาแล้ว 7,000 ราย ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา (อ่านประกอบ : จับเข่าคุย'เจ้าทุกข์'เลขบัตรปชช.ไม่ตรงสูติบัตร กับความรับผิดชอบระบบราชการไทย?)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ให้ความสนใจกับประเด็นข่าวเรื่องนี้ เป็นอย่างมาก ..มากเพราะ
หนึ่ง บัตรประจำตัวประชาชาชน ถือเป็นเอกสารสำคัญของประชาชนคนไทยทุกคน เพราะเป็นเอกสารสำคัญที่ทางราชการออกให้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทย เพื่อใช้ยืนยันตัวบุคคล ในกรณีที่ใช้สิทธิเลือกตั้ง สมัครงาน ทำนิติกรรมสัญญา ติดต่อหน่วยงานราชการหรือเอกชน เป็นหลักฐานที่หน่วยงานต่างๆใช้ตรวจสอบตัวบุคคลเมื่อจะออกหนังสือสำคัญ เช่น บัตรประจำตัวผู้ป่วย ใบอนุญาตขับรถ หนังสือเดินทาง บัตรเครดิต บัตรสมาชิกสโมสร รวมทั้งใช้ตรวจสอบตัวบุคคลเมื่อจะถอนเงิน รับพัสดุ หรือเปิดเซฟ เป็นต้น (http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=yyswim&month=04-01-2007&group=3&gblog=50) ถ้าเอกสารสำคัญชิ้นนี้ มีปัญหาเกิดขึ้น จะมีความยุ่งยากใหญ่หลวงตามมาในชีวิตอย่างมาก
สอง ตัวเลขจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ มีมากถึง 10,000 คน ที่เกิดในช่วงปี 2527 หากนับระยะเวลาตั้งแต่ปี 2527 จนถึงปีล่าสุด 2560 คิดเป็นระยะเวลายาวนานถึง 33 ปี น่าสนใจว่าทำไมปัญหานี้ถึงยังไม่ได้การแก้ไขให้หมดไป ยังมีคนได้รับผลกระทบอยู่จำนวนมาก ขณะที่การดูแลแก้ไขปัญหาของหน่วยงานราชการ ดูจะไม่ค่อยจริงจัง กระตือรือร้น มากนัก
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา สังเคราะห์ข้อมูลคำให้สัมภาษณ์ ของ นางสาวเต็มศิริ วัย 33 ปี และ นางปุณณิญาณ์ ชาวจังหวัดนนทบุรี ที่เปิดเผยข้อมูลกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา เป็นทางการ
พบข้อสังเกตที่น่าสนใจ ที่พอจะช่วยไขคำตอบได้ว่า รากเหง้าของปัญหาเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากอะไร เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันของคนในสังคม
@ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ไม่ตรงกับใบสูติบัตรได้อย่างไร?
ตามปกติแล้วคนไทยทุกคนจะได้รับหมายเลขประจำตัวประชาชนเมื่อแจ้งเกิด
โดยเลขจะถูกบันทึกไว้บนสูติบัตร เมื่อทำธุรกรรมใด ๆ ในวัยก่อนมีบัตรประชาชนจึงต้องนำสูติบัตรไปยืนยันด้วย
ทั้งนี้ เมื่อมีสมาชิกในบ้านเกิดขึ้นใหม่ ก็ต้องดำเนินการเพิ่มชื่อผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน ในทะเบียนบ้านจึงต้องมีการบันทึกหมายเลขบัตรประชาชนด้วย
แต่จากคำยืนยันของ เจ้าทุกข์ ทั้ง 2 ราย ทำให้ได้รับทราบว่า ปัญหามีอยู่ว่า ปี 2527 เป็นปีแรกที่ถูกประกาศให้มีการใช้หมายเลขประจำตัวประชาชน เจ้าหน้าที่ประจำท้องที่อาจไม่ทราบว่าผู้ใดมีหมายเลขประจำตัวแล้ว ทำให้มีการกำหนดเลขประชาชนใหม่
เช่น นางสาวเอเกิดปี 2527 ได้แจ้งเกิดและมีหมายเลขประจำตัวประชาชนแล้ว แต่เมื่อบรรจุชื่อลงทะเบียนบ้าน เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องทะเบียนบ้านคิดว่ายังไม่มีเลขประจำตัวประชาชน จึงใส่ให้ใหม่ โดยไม่ได้ตรวจสอบดูกับสูติบัตร
กรณี นางปุณณิญาณ์ ได้รับการยืนยันว่า หมายเลขประจำตัวประชาชนของตนมาคลาดเคลื่อนเมื่อบรรจุชื่อลงทะเบียนบ้านเนื่องจากย้ายบ้านขณะอายุได้ 8 ปี
"ดิฉันเพิ่งทราบเรื่องเมื่อจะทำเรื่องสมรสกับสามีชาวต่างชาติ ซึ่งในการดำเนินการต้องใช้เอกสารจำนวนมาก เช่น ใบรับรองสถานะโสด สูติบัตร บัตรประชาชน เป็นต้น จึงส่งเอกสารทุกอย่างเพื่อดำเนินการแปล จึงได้ทราบว่าหมายเลขบัตรประชาชนกับหมายเลขในสูติบัตรไม่ตรงกัน"
“เจ้าหน้าที่แจ้งสาเหตุว่า ปี 2527 เป็นปีแรกที่ใบสูติบัตรมีหมายเลขประจำตัวประชาชน ต่อมาเมื่อมีอายุ 8 ขวบ ได้ย้ายที่อยู่อาศัย เจ้าหน้าที่ต้องใส่หมายเลขประจำตัวลงในทะเบียนบ้านใหม่ เจ้าหน้าที่ทำทะเบียนในขณะนั้นอาจเข้าใจว่ายังไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชนระบุในสูติบัตร จึงใส่เลขให้ใหม่โดยไม่ได้ตรวจสอบ การทำบัตรประชาชนในเวลาต่อมาก็ได้ยึดตามหมายเลขที่ปรากฏบนทะเบียนบ้าน ณ เวลานั้นต้องใช้สูติบัตรเป็นเอกสารประกอบด้วยหรือไม่นั้นจำไม่ได้ แต่ผลก็ออกมาเป็นดังที่ปรากฏ” (อ่านประกอบ :กระทบหนัก-เลขไม่ตรงทั้ง13หลัก! เจ้าทุกข์บัตรปชช.คนเกิดปี27ราย2 โผล่ให้ข้อมูลอิศรา)
คำถามต่อมาคือ เมื่อมีสองหมายเลขแล้ว พออายุครบ 15 ปี อย่างไรเสีย ก็ต้องนำทั้งทะเบียนบ้านและสูติบัตรไปทำบัตรประชาชนใบแรก ทำให้หลายกรณีก็ตรวจพบ ณ ตอนนั้น ถูกจัดการเปลี่ยนแปลงให้เรียบร้อยได้
แต่ทำไม ยังมีกรณีที่หลุดลอดออกมาได้ และใช้หมายเลขที่ไม่ตรงกับสูติบัตรต่อเนื่องมาจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และกว่าจะทราบได้ว่า หมายเลขบัตรที่ตนใช้ไม่ตรงกับสูติบัตรก็ต่อเมื่อมีการทำธุรกรรมที่ต้องตรวจสอบฐานข้อมูลเท่านั้น
ข้อสังเกตส่วนนี้ ชี้ให้เห็นว่า ระบบการทำงานของราชการ มีปัญหาเกิดขึ้นหลายจุด โดยเฉพาะการไม่ตรวจสอบข้อมูลบุคคล อย่างชัดเจน?
@ ขั้นตอนการดำเนินงานและการแก้ไขปัญหาของราชการ คือ ช่องโหว่สำคัญอีกส่วนหนึ่งของปัญหานี้
ข้อสังเกตนี้ ขอให้เริ่มต้นพิจารณาจากข้อเท็จจริง ที่ว่า เมื่อพบว่าหมายเลขประจำตัวประชาชนที่ใช้ประจำนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง
ผู้เสียหายทั้ง 2 รายได้รับคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ประจำที่ว่าการอำเภอทั้งสิ้นว่าให้เปลี่ยนกลับเป็นหมายเลขเดิมตามสูติบัตร
กรณีนางสาวเต็มศิริ มีการกลับคำแนะนำ โดยในตอนแรกเมื่อทราบเรื่องก็ได้โทรสอบถามสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ที่รับสายกล่าวว่า ไม่ต้องเปลี่ยนกลับก็ได้ แต่เมื่อไปที่ที่ว่าการอำเภอเจ้าพนักงานกลับยืนยันให้เปลี่ยนหมายเลขให้ตรงตามสูติบัตร และเมื่อโทรกลับไปยังสำนักทะเบียนกลางอีกรอบเจ้าหน้าที่คนละคนกับในตอนแรกก็ยืนยันให้เปลี่ยนหมายเลขให้ตรงตามสูติบัตร
ส่วนกรณีนางปุณณิญาณ์ แรกทีเดียวเจ้าหน้าที่ประจำที่ว่าการอำเภอก็ยืนยันให้เปลี่ยน แต่ด้วยผลกระทบที่ตามมามีมากจึงยังไม่ตัดสินใจ และได้ขอให้เทศบาลตรวจสอบฐานข้อมูลดู พบว่าเลขเก่าที่ตรงตามสูติบัตรนั้นไม่ปรากฏบนฐานข้อมูลแล้ว ในที่สุด นางปุณณิญาณ์จึงไม่ได้เปลี่ยนหมายเลขประจำตัวประชาชนให้ตรงตามที่เจ้าหน้าที่ยืนยัน
ทั้งสองกรณีทำให้เห็นได้ชัดว่าหน่วยงานต้นเรื่องไม่มีมาตรการที่แน่ชัดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหานี้
ขณะที่ ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า หากไม่เปลี่ยนก็จะไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
แต่ข้อเท็จจริงที่ได้รับการยืนยันจากผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 2 ราย ช่างแตกต่างจากที่ อธิบดีกรมการปกครอง ระบุไว้อย่างสิ้นเชิง
นางสาวเต็มศิริ ยืนยันว่า การเปลี่ยนหมายเลขบัตรประชาชนกลับให้ตรงตามสูติบัตร แม้จะตรงตามความเป็นจริงตามระบบ แต่ก็ส่งผลเสียมาก เนื่องจาก ได้ใช้หมายเลขบัตรประชาชนเดิมมาตั้งแต่มีบัตรประชาชนครั้งแรก ผ่านการทำธุรกรรมต่าง ๆ มาจำนวนมาก อาทิ สมัครเข้าสถานศึกษา ตลอดจนเสียภาษี หรือทำหนังสือเดินทาง เป็นต้น
“แม้จะมีใบรับรองที่ราชการออกให้ว่ามีการเปลี่ยนหมายเลขบัตรประชาชน แต่ก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากข้อมูลในบัตรประชาชนใหม่แทบจะไม่มี ทำให้เมื่อต้องติดต่อหน่วยงานราชการหลาย ๆ แห่งต้องใช้เอกสารอื่นๆ นอกเหนือจากบัตรประชาชน เช่น ทะเบียนบ้านตัวจริงมายืนยันด้วย ทั้งที่ปกติแล้วไม่จำเป็น”
นางสาวเต็มศิริ ยังระบุว่า นอกจากนี้แล้วยังต้องมาคอยแก้ไขเอกสารธุรกรรมต่าง ๆ ที่ได้ทำไปจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากที่ไม่ได้เกิดจากความผิดของตน โดยหน่วยงานต้นเรื่องไม่ได้มาร่วมรับผิดชอบด้วยเลย
ขณะที่ นางปุณณิญาณ์ ระบุว่า “ เจ้าหน้าที่ไม่มีการค้นหาข้อมูลใด ๆให้ จะให้ยกเลิกอย่างเดียวค่ะ ซึ่งตอนนั้นคิดหนักค่ะ การยกเลิกเลขตามบัตรประจำตัวประชาชนหมายถึงเราต้องทำการเปลี่ยนแปลงเอกสารทุกอย่างรวมถึงธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยากมาก”
ประเด็นนี้ มีข้อสังเกตอยู่ที่ คือ ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่น ออกมายืนยันข้อมูลลักษณะที่ว่าเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา ผู้ได้รับผลกระทบคงจะไม่รู้สึกอะไรมากนัก แต่นี่เป็นอธิบดีกรมการปกครอง ออกมาระบุด้วยตนเอง ก็ยิ่งทำให้ชวนสงสัยว่า จริงๆ แล้ว อธิบดีกรมการปกครอง มีความเข้าใจข้อเท็จจริงเรื่องผลกระทบที่ประชาชนกลุ่มนี้มากน้อยแค่ไหน? ทำไมช่างใจดำ กับข้อมูลความเดือนร้อนของประชาชนเช่นนี้?
และถ้าเข้าใจปัญหาไม่ถูกจุด ถูกเรื่องแล้ว จะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดได้อย่างไร?
@ เปลี่ยนจบเรื่องไม่จบ ตามแก้เอกสารวุ่น รัฐไม่สนใจ
แม้ที่สุดแล้ว ร.ต.ท.อาทิตย์จะกล่าวแล้วว่าไม่ต้องเปลี่ยนหมายเลขก็ได้ แต่ก็มีผู้เสียหายจำนวนหนึ่งได้เปลี่ยนหมายเลขไปแล้วตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
ผลกระทบที่ตามมาคือต้องแก้เอกสารขนานใหญ่ เช่น เอกสารธนาคาร สรรพากร หนังสือเดินทาง เป็นต้น
นางสาวเต็มศิริ ระบุว่า ในการดำเนินการแก้เอกสารหลายหน่วยงานก็ลางานไป ในการติดต่อบางหน่วยงานซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจากที่เคยใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียวก็ต้องใช้ทะเบียนบ้านตัวจริงประกอบด้วย ตนอยู่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด เมื่อต้องใช้เอกสารตัวจริงจึงเป็นเรื่องยุ่งยาก นอกจากดำเนินการเปลี่ยนหมายเลขประจำตัวประชาชนแล้ว รัฐไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาที่ตามมาอีกเลย
สอดคล้องข้อมูล นางปุณณิญาณ์ ชาวจังหวัดนนทบุรี ที่ระบุว่า ทราบปัญหาเรื่องเมื่อจะทำเรื่องสมรสกับสามีชาวต่างชาติ ซึ่งในการดำเนินการต้องใช้เอกสารจำนวนมาก เช่น ใบรับรองสถานะโสด สูติบัตร บัตรประชาชน เป็นต้น จึงส่งเอกสารทุกอย่างเพื่อดำเนินการแปล จึงได้ทราบว่าหมายเลขบัตรประชาชนกับหมายเลขในสูติบัตรไม่ตรงกัน ไม่ได้ทราบเรื่องจากหน่วยงานปกครองแต่อย่างใด และที่ตนตรวจสอบข้อมูลได้ เพราะมีเส้นสายส่วนตัว มิเช่นนั้นก็คงได้รับความเสียหายเช่นเดียวกับผู้ได้รับผลกระทบคนอื่น
ทั้งที่ เรื่องนี้สาเหตุมาจากความผิดพลาดของการทำงานของราชการเอง
@ หนทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้
ล่าสุด กรมการปกครอง ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงกรณี นสพ.เดลินิวส์ เสนอข่าวปัญหาเลขบัตรประชาชนของคนเกิดปี 2527 จำนวน 2 หน้ากระดาษใจความว่าเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการติดต่อราชการ หรือทำธุรกรรมต่างๆ ให้เกิดความรวดเร็ว และมีความคล่องตัว รวมทั้งประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถดำเนินการได้ดังนี้
1.ประชาชนสามารถใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ระบุในทะเบียนบ้านต่อไปได้ตามปกติ โดยไม่ต้องแก้ไขรายการเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในสำเนาทะเบียนบ้านให้ตรงกับเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักในสูติบัตร
2.กรณีที่ไปติดต่อราชการหรือติดต่อหน่วยงานอื่นที่จำเป็นต้องใช้สูติบัตร ให้นำหลักฐานทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสูติบัตรฉบับตัวจริง ไปยื่นต่อสำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต สำนักทะเบียนท้องถิ่น ออกหนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลเดียวกัน
3.ประชาชนสามารถนำสูติบัตรที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 1 ไปยื่นต่อสำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต สำนักทะเบียนท้องถิ่น ที่ตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อบันทึกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 3 ตามสำเนาทะเบียนบ้านไว้ด้านหลังสูติบัตรเพื่อใช้เป็นเอกสารทางราชการยืนยันว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน (อ้างอิงจาก https://www.dailynews.co.th/politics/585003)
ทั้งนี้ หากพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ออกมา ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะทำได้ง่ายดายไม่มีอุปสรรคอะไร (กรณีนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกเช่นกัน คือ ถ้าการแก้ไขปัญหาทำได้ง่ายสะดวกสบายแบบนี้ ทำไมไม่ทำมาตั้งนานแล้ว ทำไมถึงปล่อยปละละเลยให้ระยะเวลาล่วงเลยมานานหลายสิบปี แบบนี้) แต่สิ่งที่ต้องมองให้ลึกลงไปคือขั้นตอนการปฏิบัติงานในระดับเจ้าหน้าที่จะเป็นไปตามนี้หรือไม่ มีการแจ้งหน่วยงานการปฏิบัติงานเรื่องนี้ให้เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หน่วยงานรัฐ รวมไปถึงประสานงานกับ หน่วยงานเอกชน ที่เกี่ยวข้อง ให้รับทราบแนวทางปฏิบัติครบถ้วนแน่แล้วใช่หรือไม่
ถ้าทำได้เพียงแค่ 'สั่งการ' แต่ระดับปฏิบัติการไม่ได้ทำให้เกิดผลขึ้นจริง คนกลุ่มนี้ก็ยังคงจะได้รับผลกระทบความวุ่นวายในการดำเนินชีวิตอยู่เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
"เมื่อท่านพูดเราจะฟัง แต่เมื่อท่านลงมือทำ เราจึงจะเชื่อ"