สอบสยามอินฯไม่ได้เหตุไม่ใช่คู่สัญญารัฐ! 'นิวัฒน์ธำรง'เบิกความคดีข้าว'ยิ่งลักษณ์'
‘ปลอดประสพ’ ยัน ‘ยิ่งลักษณ์’ ปรารภก่อนประชุม ครม. ตลอดให้ รมต.เกี่ยวข้องจำนำข้าว ดูแลแก้ไขปัญหา ยัน ป.ป.ช.-สตง. มีสิทธิ์วิจารณ์นโยบายได้ แต่ รบ.มีสิทธิ์ไม่ฟัง ไม่รู้เรื่อง-ไม่เคยได้ยินชื่อ ‘สยามอินฯ-เสี่ยเปี๋ยง’ มาก่อน 'นิวัฒน์ธำรง' ยัน ก.พาณิชย์ ตั้ง กก.สอบแล้ว ไม่พบทุจริต ป.ป.ช. ยังไม่ชี้มูลผิด-สยามอินฯ ไม่ได้เป็นคู่สัญญารัฐ ตรวจสอบไม่ได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนพยานฝ่ายจำเลย คดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ นำนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ อดีต รมว.พาณิชย์ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายสุรชัย ศรีสารคาม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก และอดีตปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
ในช่วงเช้า ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เบิกตัวพยานฝ่ายจำเลยรวม 3 ปาก ได้แก่ นายสุรชัย พล.ท.ภราดร และนายปลอดประสพ โดยนายปลอดประสพ เบิกความสรุปได้ว่า ไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องโครงการรับจำนำข้าวโดยตรง แต่ดูแลทางอ้อม ทั้งนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะปรารภตลอดก่อนประชุมว่า ให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดูแลโครงการรับจำนำข้าวให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
อัยการถามว่า กรณีมีหน่วยงานทำหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรี ถึงข้อสังเกตในโครงการรับจำนำข้าว และพฤติการณ์ของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร กับพวก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้สั่งการให้ตรวจสอบหรือไม่
นายปลอดประสพ เบิกความสรุปได้ว่า เรื่องหน่วยงานของรัฐทำข้อสังเกตแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มการเมือง คือ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเรื่องในสภาที่มีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ มอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการแล้ว กลุ่มสองคือกลุ่มนักวิชาการ คือ ทีดีอาร์ไอ ที่มีจุดยืนเรื่องการพัฒนาข้าวมานานแล้ว ก็รับเป็นข้อสังเกตมา กลุ่มสามคือกลุ่มหน่วยงานรัฐ คือ กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานต่าง ๆ ที่สอบถามถึงรายรับรายจ่ายที่ใช้ในโครงการ ถ้าหากไม่พอทำอย่างไร
นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า กลุ่มสี่คือกลุ่มองค์กรอิสระ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใส อาจมีการคอร์รัปชั่น ซึ่งหากมีจริง ถือว่าเป็นเรื่องไม่ดี ต้องนำสืบแล้วลงโทษ เพราะคนเหล่านี้ใช้ไม่ได้
“แต่การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายจำนำข้าวว่าไม่ดี มีสิทธิ์วิจารณ์ได้ แต่เรามีสิทธิ์ที่จะไม่ฟัง เพราะต้องทำตามนโยบายที่แถลงกับสภา และนโยบายจำนำข้าวถือเป็นการช่วยเหลือชาวนาที่ดีที่สุดในความคิดของเรา มากกว่าการประกันราคาข้าว ส่วนข้อสังเกตต่าง ๆ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ปรารภให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการแก้ไขแล้ว” นายปลอดประสพ กล่าว
ส่วนกรณีกลุ่มบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด นายอภิชาติ กับพวก อาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทุจริตนั้น นายปลอดประสพ กล่าวว่า ไม่รู้เรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นเรื่องของรายละเอียด และเป็นมารยาทของรัฐมนตรีที่จะทราบเฉพาะเรื่องที่ต้องดูแลเท่านั้น ที่ผ่านมาไม่เคยได้ยินกลุ่มบริษัท หรือชื่อคนเหล่านี้มาก่อน ไม่มีการพูดในคณะรัฐมนตรีด้วย
ต่อมาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายนิวัฒน์ธำรง ขึ้นเบิกความในฐานะพยานฝ่ายจำเลย สรุปได้ว่า กรณีหนังสือของหน่วยงาน เช่น ป.ป.ช. และ สตง. บอกถึงพฤติการณ์ของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร กับพวก นั้น เรียนตามตรงว่า ขณะนั้นกระทรวงพาณิชย์มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงแล้ว ไม่พบการกระทำความผิด นอกจากนี้ ป.ป.ช. ได้เข้าไปดำเนินการไต่สวนแล้วเช่นกัน ซึ่งระหว่างนั้นยังไม่มีการชี้มูลความผิด เพิ่งมาชี้มูลความผิดตอนปี 2558 ภายหลังรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งแล้ว ที่สำคัญบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับรัฐ รัฐบาลจึงไม่มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบใด ๆ ได้
เปิดโครงสร้าง-หน้าที่ กก.สืบทรัพย์ ‘ยิ่งลักษณ์’ชดใช้จำนำข้าว 3.5 หมื่นล.
ปริศนาไฉน ก.คลังเพิ่งตั้ง กก.สืบทรัพย์'ยิ่งลักษณ์'ชดใช้คดีข้าวช้า 8 เดือน?
ชนักติดหลัง‘ยิ่งลักษณ์’ รวยผิดปกติ-สารพัดข้อหาใน ป.ป.ช.-ไม่จบแค่คดีข้าว?