เลื่อมระยับงามอักษร ‘โสภี พรรณราย’ 40 ปี โลดแล่นในโลกวรรณกรรม
The Writer เป็นแคมเปญสัมภาษณ์นักเขียนนวนิยาย 12 คน ผู้เป็นตำนานของเมืองไทย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เพื่อส่งเสริมการอ่าน แรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ร่วมกันสานต่อความฝัน สำหรับแขกรับเชิญคนที่ 2 ประจำเดือน ก.ค. คือ โสภี พรรณราย ผู้โลดแล่นในวงการวรรณกรรมมาร่วม 40 ปี มุ่งมั่น บากบั่น จนประสบความสำเร็จ
“เขียนมา 40 ปี เหมือนเด็กดื้อ...จึงไม่อยากเปลี่ยน
...ไม่อย่างนั้นก็จะไม่ใช่ ‘โสภี พรรณราย’ ”
โต๊ะอาหารทรงสวยถูกจัดแบ่งพื้นที่ครึ่งหนึ่งเป็นวิมานของการร่ายอักษร ที่มีเพียงสมุดกับปากกา ใครจะรู้ว่า นี่คือโต๊ะทำงานของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ ‘สุรภี โพธิสมภรณ์’ หรือรู้จักในนามปากกา ‘โสภี พรรณราย’
เวลาล่วงมา 40 ปี กับการโลดแล่นอยู่ในแวดวงวรรณกรรม ตั้งแต่อายุย่าง 18 ปี มีผลงานนวนิยายปรากฎต่อสายตานักอ่านทั้งสิ้น 130 เรื่อง ที่คุ้นหู เช่น ลูกตาลลอยแก้ว สาวน้อยในตะเกียงแก้ว กิเลศมาร ภูผาแพรไหม ลูกไม้ไกลต้น
“นักเขียนต้องเป็นนักอ่านมาก่อน ที่สำคัญต้องอดทน ถ้าไม่อดทนก็ไปแล้ว อย่าง ‘โสภี พรรณราย’ 20 ปีแรกไม่มีคนรู้จัก เพิ่งมารู้จัก 20 ปีหลัง”
โสภี พรรณราย ยืนยันกว่าจะมีวันนี้ไม่ง่าย เพราะต้องอดทน มีวินัย มีจินตนาการ เรียกว่า ใช้ทั้งพรสวรรค์และพรแสวง โดยมีเวลาเป็นเครื่องเรียงร้อยสั่งสมประสบการณ์
จุดเริ่มต้นในชีวิตนักเขียนเหมือนเฉกเช่นนักเขียนคนอื่น ๆ ที่ชื่นชอบในการอ่านหนังสือ เชื่อหรือไม่ว่า เธออ่านมากจนกระทั่งคิดว่า ตอนจบในนวนิยายแต่ละเรื่องที่อ่าน ทำไมไม่อวสานอย่างที่ใจต้องการ ด้วยเหตุนี้จึงลุกขึ้นมาเขียนนวนิยายเป็นของตัวเอง
โดยมีผลงานการประพันธ์เรื่องแรก คือ แฝดสาวเจ้าเสน่ห์ กับนิตยสารดรุณี ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ “ตอนนั้นส่งไปประมาณ 10 แผ่น ครั้งแรกก็ได้รับการพิจารณาตีพิมพ์เลย คุณชิต กันภัย บอกว่า ใช้ได้นะ และยังเป็นคนตั้งนามปากกาให้ด้วยว่า ‘โสภี พรรณราย’”
โสภี พรรณราย บอกว่า คุณชิต สอนเสมอว่า การเขียนนวนิยาย บทที่ 1 มีความสำคัญที่สุด ต้องเขียนให้เอาคนอ่านอยู่ ทำให้ตั้งแต่วันนั้นมา ต้องคิดทุกครั้งเมื่อลงมือเขียนบทที่ 1 ว่า จะต้องเอาคนอ่านให้อยู่ หากเอาไม่อยู่ บทอื่น ๆ ก็จะไม่มีคนอ่าน
จนเมื่อนิตยสารดรุณีปิดตัว จึงหยุดเขียนไปนาน 1 ปี กระทั่งได้รับการแนะนำจากผู้ใหญ่ในสำนักพิมพ์รวมสาส์น ให้ถือนามบัตรของเขาไปที่นิตยสารภาพยนตร์บันเทิง จนได้รับการชักชวนให้เขียนลง จำได้ว่าเรื่องนั้น คือ ปิ่นมุก หากไม่ได้รับโอกาสวันนั้น นามปากกานี้คงสิ้นสุดลง
“ตอนนิตยสารดรุณีปิดตัวลง ถามว่าใจแป้วมั้ย ตอนนั้นยังเป็นเด็ก อายุแค่ 20 ปี และไม่คิดจะยึดอาชีพนักเขียน เพราะเมื่อเรียนจบมาก็ทำงานบริษัท ทำมาเกือบ 20 ปี ก่อนจะลาออกมาเขียนนวนิยายอย่างเดียว”
เอกลักษณ์อันโดดเด่น เพียงเปิดอ่าน สัมผัสอักษร โดยไม่ต้องอ่านชื่อผู้ประพันธ์ ก็รู้ได้ว่าเป็นโสภี พรรณราย “งานเขียนของเราทุกเรื่อง พระเอกกับนางเอกต้องทะเลาะกันตั้งแต่ต้นจนจบ และจะมาดีกันตอนหลัง ไม่เน้นการบรรยายฉาก แต่จะดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนา”
ความจริง บก.เคยขอให้เขียนบรรยายฉากในนวนิยาย แต่เธอมองว่า นั่นคือลายเซ็น...เขียนมา 40 ปี เหมือนเด็กดื้อ จึงไม่อยากเปลี่ยน...ไม่อย่างนั้นก็จะไม่ใช่ ‘โสภี พรรณราย’
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะไม่มีการบรรยายฉาก แต่พล๊อตเรื่องต้องแน่น และสนุก ไม่มีน้ำอยู่ในบทสนทนา ทุกประโยคจะต้องได้รับการผูกเรื่องไว้ไปจนกระทั่งคลี่คลายทั้งหมด
“การวางพล๊อตแต่ละเรื่องนั้น ยอมรับว่าคิดนาน โดยเฉพาะบทที่ 1 ว่าจะเขียนออกมาอย่างไร ถ้าบทที่ 1 ผ่าน บทอื่นจะตามมาอย่างสบาย ๆ” โสภี พรรณราย พูด ก่อนจะยืนยันว่า แม้จะเขียนมานาน แต่ไม่เคยตันพล๊อต เพราะปกติเป็นคนเตรียมพล๊อตไว้ล่วงหน้าหลายเรื่องอยู่แล้ว
แต่เชื่อหรือไม่ แม้จะเตรียมพล๊อตไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงคราวต้องหยิบขึ้นมาเขียนจริง ๆ “รู้สึกว่าทำไมไม่สมบูรณ์ หากเราคิดพล๊อตไม่สมบูรณ์ เรื่องจะไม่สนุก เพราะตีโจทย์ไม่แตก แล้วบทที่ 1 จะเขียนไม่ได้”
ถามว่า พล๊อตเรื่องไหนยากที่สุด โสภี พรรณราย ตอบว่า ปกติพล๊อตยากจะไม่เขียน เพราะเป็นคนชอบอะไรสบาย ๆ แต่ถ้าจะให้บอกว่า เรื่องไหนยากที่สุด คงเป็นตระกูลสาวน้อยในตะเกียงแก้วทั้ง 4 ตอน
ตระกูลสาวน้อยในตะเกียงแก้วที่กล่าวถึง มี 4 ตอน คือ สาวน้อยในตะเกียงแก้ว อสูรน้อยในตะเกียงแก้ว แม่มดน้อยตัวป่วน และพ่อมดเจ้าเสน่ห์ ซึ่งกำลังจะมีตอนที่ 5-6 สาเหตุที่คิดเยอะ เพราะตอนที่ 1-3 ผลิตเป็นละครโด่งดัง และตอนที่ 4 กำลังผลิตเป็นละครอีก คาดว่าจะออกอากาศเร็ว ๆ นี้ ดังนั้น การเขียนต้องดีขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าไม่ดีผู้อ่านจะผิดหวัง
ส่วนเรื่องชอบมากที่สุด คือ กิเลสมาร “ชื่นชอบมากที่สุดในชีวิต เพราะเป็นงานเขียนดราม่าที่ลงตัวมาก ที่สำคัญได้เขียนตีแผ่กิเลสของมนุษย์ ซึ่งคิดว่าปัจจุบันไม่สามารถเขียนเรื่องไหนให้ลงตัวเท่ากิเลสมารอีกแล้ว”
เธอยังสะท้อนมุมมองวิกฤตสื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบันว่า เป็นสัจธรรมของชีวิต ขึ้นสู่จุดสูงสุดก็ต้องลงมา ในฐานะนักเขียนยอมรับว่าเสียดาย อาลัย อาวรณ์ ทำให้นักเขียนต้องนำผลงานเผยแพร่ในอีบุ๊กแทน ซึ่งต้องไปแข่งขันกับคนรุ่นใหม่ ฉะนั้นสิ่งที่จะช่วยให้อยู่รอดได้ คือ ต้องรักษามาตรฐานของตัวเองไว้ไม่ให้ตก!
โสภี หมายถึง งาม -พรรณราย หมายถึง สีเลื่อมระยับ งามผุดผ่อง ทว่า หากเปรียบเป็นอักษรในโลกวรรณกรรมแล้ว ‘โสภี พรรณราย’ คงเปรียบได้กับความงดงามของตัวอักษรที่ถูกเรียงร้อยเป็นเรื่องราวผ่านตัวละครหลากหลายบุคลิกดังเลื่อมระยับสลับลาย เป็นบทประพันธ์ดี ๆ ให้แก่นักอ่านตลอดไป .
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:The Writer#1 ราชินีนวนิยายดราม่า ‘อาริตา’ กว่าจะถึงวันนี้ไม่ง่าย