หวั่นคดีโรลส์รอยซ์ทำพิษ! นายกฯสั่ง ศอตช. ถกด่วนให้ไทยผ่านประเมินต้านฟอกเงินเอเชีย
หวั่นคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ทำพิษ! นายกฯ มอบหมาย ศอตช. ประสาน ปปง.-ป.ป.ช. ถกด่วนทำอย่างไรให้ไทยผ่านประเมินผลองค์กรต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก หวั่นกระทบธุรกรรมเศรษฐกิจ-การเงินระหว่างประเทศ ระบุต่อไปต้องพิจารณาความพร้อม-ประโยชน์สูงสุดของไทยก่อนเข้าเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) มีการประชุมครั้งที่ 1/2560 เพื่อหารือแนวทางป้องกันและปราบปรามการทุจริต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในการประชุม
พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการตอนหนึ่งมอบหมายให้ ศอตช. ประสานงานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลที่ใช้ในการประเมินขององค์การต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Group on Money : APG) ของประเทศไทยในขณะนี้
โดยให้พิจารณาว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ประเทศไทยผ่านการประเมินและให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกรรมในระบบเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศได้ และในระยะต่อไปควรพิจารณาความพร้อมและผลประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย หากจะเข้าเป็นสมาชิกความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ช่วงเดือน พ.ค. 2560 เว็บไซต์รัฐบาลไทย (ThaiGov) สรุปผลการประชุม ศอตช. เกี่ยวกับกรณีนี้ ระบุว่า เรื่องการบูรณาการเพื่อการป้องกันปัญหาสินบนข้ามชาติ ศอตช. รายงานความคืบหน้ากรณีสินบนข้ามชาติโรลส์-รอยซ์ นั้นได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานเพื่อป้องกันปัญหาสินบนข้ามชาติ ศึกษาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ออกมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก เนื่องจากขณะนี้ APG ซึ่งเป็นองค์กรอิสระกำลังประเมินประเทศไทยเกี่ยวกับการฟอกเงิน โดยที่ประชุมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินทั้งหมดให้ข้อมูลตอบคำถามหน่วยงานดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการประเมิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางปี 2559 สำนักงาน ปปง. เคยเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ และเห็นชอบ กรณีไทยเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมาแล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจากไทยเป็นสมาชิกของ APG ตั้งแต่ปี 2544 และมีพันธกรณีต้องเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยเข้ารับการประเมินแล้ว 2 รอบ ในปี 2545 และ 2550
ทั้งนี้หากประเทศไทยไม่เข้ารับการประเมินดังกล่าว จะส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน และการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายทันที ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อภาพลักษณะความโปร่งใส และหลักธรรมาภิบาลของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลกด้วย
อนึ่ง คดีสินบนโรลส์-รอยซ์ ปัจจุบันคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนไปแล้วในส่วนของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการรับสินบนกรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดซื้อเครื่องยนต์ ส่วนกรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. นั้น อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงใน 3 โครงการ จากทั้งหมด 6 โครงการ
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ได้หลักฐานเอกชน-คนดีลงานคดีสินบนโรลส์รอยซ์‘บินไทย’แล้ว-รอSFOคอนเฟิร์ม
หนักใจสาวเส้นทางเงิน! ป.ป.ช.ขอเวลาสอบเชิงลึกคนพันคดีโรลส์รอยซ์‘บินไทย’
ขมวดข้อมูล-พฤติการณ์คดีสินบนโรลส์รอยซ์ช่วง 3 ก่อน ป.ป.ช.ดาหน้าลุยหาคนผิด?
‘สุริยะ-วิเชษฐ์-ทนง-กนก’โดน ป.ป.ช.สอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์-‘บวรศักดิ์-วิโรจน์’ติดโผด้วย
ประมวลชัดๆ 'ข้อมูลจัดซื้อ-เส้นทางสินบน' คดีโรลส์รอยซ์-บินไทย 1.2 พันล.