10 เทรนด์อนาคต ผ่านนักออกแบบ ย้ำเมืองทั่วถึงได้ ทุกคนต้องมีส่วนร่วม
ดู 10 เทรนด์ชีวิตอนาคต ผ่านสายตา นักออกแบบเมือง ชี้การพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะกับทุกคน (Inclusive) ต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วม ขณะที่กรุงเทพฯ ยังคงติดปัญหาโครงสร้างราชการ ฉุดการพัฒนาจากฐานราก
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ Growth cafe& co, สยามสแควร์ บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จัดบรรยายพิเศษเรื่อง แผนจำลองสถาณการณ์กับการพัฒนาเมือง (Scenario Envisioning in Urban Development)
นายแทนศร พรปัญญาภัทร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ UddC กล่าวถึงการออกแบบเมืองจำเป็นต้องศึกษาแนวโน้มของอนาคตผ่านชีวิตของคนในเมืองนั้น เช่นโครงการ กรุงเทพ 250 ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักผังเมือง เบื้องต้น ให้ศึกษาผังการฟื้นฟูเมืองในกรุงเทพฯ ชั้นใน 17 เขต และผังฟื้นฟูพื้นที่นำร่องอีกอันหนึ่ง ในส่วนของการสร้างการฟื้นฟู 17 เมืองชั้นใน ปกติเวลาตั้งต้นในการทำงาน เราตั้งจากว่าขอบเขตงานทั้งหมดมีอะไรบ้าง เรารู้จักกับสำนักนวัตกรรมแหง่ชาติ มีความเชี่ยวชาญในการทำภาพอนาคต เราเอาเทคนิคมาใช้ว่า ถ้าเรารู้ภาพอนาคตได้ชัดเจน เราจะสามารถวางแผนได้ดีขึ้น ในกระบวนการทำภาพอนาคต มีกระบวนการร่วมหารือ คือเชิญคนหลายๆ กลุ่มมาร่วมหารือเพื่อร่วมวางแผน แล้วนำเอาเรื่องเทคนิคทางการทำภาพ ซึ่งทำให้เห็นชัดมากขึ้น
นายแทนศร กล่าวถึงตัวกระบวนการที่เรียกว่า "Foresight" มีการคำนวนโดยใช้วิทยศาสตร์มาช่วย ค่อนข้างเป็นภาพที่น่าจะเกิดขึ้นได้แน่ๆ ในอนาคต กระทั่งสามารถสรุปออกมาเป็นเทรนด์นี้เป็นรูปแบบที่จะเกิดขึ้น ในมุมของนักออกแบบเมือง โดยออกแบบผ่านเทรนด์เหล่านี้ เป็นเงื่อนไขว่า ถ้าต่อไปในอนาคตยกตัวอย่าง คนสามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา การออกแบบเมืองจะเป็นอย่างไร ต้องมีพื้นที่ในการทำงานแบบไหนสำหรับคนที่ไม่ไปทำงานที่ออฟฟิศ พื้นที่แบบไหนที่จะรองรับคนที่ไม่ได้ทำงานภาคเช้า แต่ทำงานในช่วงกลางคืนแทน
สำหรับเทรนด์หลักของการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ของคนกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาสำรวจอย่างเข้มข้น มีด้วยกัน 10 ประการได้แก่
1. ชีวิตเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Ubiquitous life)
2. รางเชื่อมเมือง (Connected track)
3. อิสระแห่งการทำงาน (Freedom of Work)
4. การบริการสาธารณะที่สะดวก (Convenient Public service)
5. บูรณะการของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Integrated Cultural Tourism)
6. อุตสาหกรรมใหม่กลางเมือง (New urban industries)
7. แหล่งพลังงานหลากหลายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Diversified environmental-friendly energy sources)
8. โครงสร้างประชากรใหม่ (New Bangkokian)
9. ความปกติใหม่ของชีวิตคนเมือง (Urbanite’s New Normal)
และ 10. การพัฒนาอย่างทั่วถึง (Inclusive development)
ผู้ช่วยผอ.UddC กล่าวอีกว่า การพัฒนาเมือง ฟื้นฟูเมืองเพื่อทำให้เมืองเป็นของทุกคน (Inclusive) มากขึ้น มีหลายมิติในมุมของนักออกแบบ ก่อนการมีเมืองเพื่อทุกคน เมืองต้องมีลักษณะของกระบวนการที่มาที่ทุกคนมีส่วนร่วมก่อน เช่นที่มาของแบบในการพัฒนาเมือง ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง อย่างโครงการกรุงเทพฯ 250 ไม่ได้มาจากความคิดของหน่วยงานกลาง แต่เกิดจากกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ร่วมกันออกแบบเมืองที่เราอยากอยู่ เราพยายามให้ทุกวิชาชีพมาคุยกันว่า ย่านตัวเอง เมืองตัวเองอยากเป็นอย่างไร เมื่อกระบวนการวางแผนทุกคนได้มีส่วนร่วมแล้ว เราจึงได้เมืองในทุกมิติทั้งจากฝ่ายบริหาร คนธรรมดา เพราะฉะนั้นสิ่งที่นักออกแบบนำไปทำต่อ คือเอาผลของสิ่งเหล่านี้ไปออแบบเมืองต่อไป
“ตอนนี้งานสภาปัตยกรรมผังเมือง ยังไม่เป็นที่รู้จักมากแม้ในกรุงเทพฯ ยิ่งต่างจังหวัดยิ่งไม่ต้องพูดถึง ฉะนั้นส่วนตัวมองคือ เกิดพื้นที่นำร่อง ประชาชนเข้าใจการฟื้นฟูเมือง ประชาชนมีสิทธิ์ มีเสียงที่จะออกแบบเมืองตัวเอง อยากอยู่ในเมืองแบบไหนก็ร่วมกันออกแบบ” นายแทนศร กล่าว และว่า ถ้ามองไปมากกว่านั้นอีกขั้นคืออยากให้เกิดพื้นที่นำร่อง ซึ่งในโครงการของเรากำหนดให้ย่าน กะดีจีน-คลองสานเป็นพื้นที่นำร่อง เรามีการออกแบบรายละเอียด ไปจนถึงการก่อสร้าง แต่ยังติดเรื่องหน่วยงานรัฐบางส่วนที่ทำให้โครงการยังไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ก็มีแนวโน้มว่าโครงการยังไปต่อ
นายแทนศร กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาเมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยว่า คือ โครงสร้างของระบบราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพฯ ถ้าเอากันจริงๆ แล้วในเชิงเมืองกรุงเทพฯใหญ่มาก แต่ในเชิงการบริหารกลับเล็กมาก คือมีผู้ว่าราชการแค่คนเดียว ดูเเลกรุงเทพฯทั้งหมด ขณะที่ผุ้อำนวยการ57 เขต ฟังผู้ว่าฯ เป็นหลัก โครงสร้างการบริหารที่เล็กแบบนี้ เมื่อเทียบกับพื้นที่ของเมือง นี่จึงเป็นปัญหาในเชิงการพัฒนาเมือง เช่น เขตยานนาวา อยากพัฒนาโครงการริมน้ำ หากเป็นต่างประเทศในเขตที่มีผู้อำนวยการเขต มีเทศมนตรีเขต เขตนั้นๆ มีงบประมาณที่สามารถจัดการได้เลย เป็นงบของเขต แต่ในกรณีของกรุงเทพสำนักงานเขตไม่ได้มีฟังก์ชั่นในการทำงานแบบนั้น แม้ว่าจะมีหน้าที่ในแง่ผังเมืองแต่ก็ยังไม่ได้มีกระบวนการที่เกิดผล เพราะ ในมุมของชาวบ้านในเขตที่มีปัญหาก็ยากที่จะรวมกลุ่มกันแล้วดำเนินเรื่องไปถึงผู้ว่าฯ เลยทำให้ช่องว่างระหว่างชาวเมืองกับผู้บริหารเมืองห่างกันมาก กลไกระบบราชการแบบนี้ทำให้กลไกการฟื้นฟูเมืองที่อาศัยคนจากข้างล่างขึ้นไปเป็นไปได้ยาก
อ่านประกอบ
ดร.คณิศร์ แสงโชติ : กรุงเทพฯเมือง(ไม่)ทั่วถึง
‘เมืองเดินได้ เมืองเดินดี’ ก้าวแรกเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เดินได้จริง