ดร.คณิศร์ แสงโชติ : กรุงเทพฯเมือง(ไม่)ทั่วถึง
"เมืองที่ทั่วถึงในมุมของผมคือ เมืองที่ผู้คนสามารถเข้าถึงปัจจัยต่างๆ ที่สามารถนำเอาปัจจัยเหล่านั้นมาก่อให้เกิดประโยชน์ โดยสามารถทำให้การดำรงชีวิตมีความสุขได้ และก่อให้เกิดความรู้สึกต่อเมืองที่ดี"
เมื่อเร็วๆ นี้ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส สถาบันวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัย สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง โรงเรียนสถาปัตยกรรมแห่งชาติเบลล์วิลล์ จัดงานเสวนา “Grand Bangkok – Grand Paris: Inclusive Cities” ณ สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ (Alliance Francaise) ดร.คณิศร์ แสงโชติ อาจารย์ประจำ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงมุมมองของเศรษฐศาสตร์ กับการพัฒนาเมืองตามแนวคิด "เมืองทั่วถึง"
ดร.คณิศร์ ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันสังคมเมืองมีโอกาสโตมากขึ้น เพราะกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกอยู่ในเมือง และกว่า 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของโลก ผลิตจากพื้นที่เมือง เมื่อมองมาที่ประเทศไทย พบว่า กว่า 30% ของ GDP ไทยมาจากกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นเรื่องของเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญกับทุกคน
ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ คำว่า"เมืองทั่วถึง"หมายความว่าอย่างไร
เมืองทั่วถึงคือ การเข้าถึงทรัพยกรทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม การเข้าถึงทรัพยกรเหล่านี้ ที่ประกอบไปด้วย ที่ดิน(Land) แรงงาน (Labour) และ ต้นทุน (Capital) 3 อย่างนี้ เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เป็นปัจจัยที่กำหนดศักยภาพของเมืองว่าจะมีศักยภาพทางเศรษฐกิจเท่าไร แน่นอนว่า การเข้าถึงทรัพยกรต้องประกอบกับโอกาส โอกาสที่สามารถยกระดับฐานะของตนเองได้ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ได้ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ เป็นในสิ่งที่เราอยากจะเป็น
"แน่นอนคนเราเกิดมา มีทุนชีวิตที่แตกต่างกัน เกิดมามีความเลื่อมล้ำทางฐานะ ความไม่เท่าเทียมกันเป็นสิ่งที่เรามักได้ยินบ่อยๆ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่าเรื่องดังกล่าวทั้งหมดคือโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงฐานะของตนเอง ฐานะทางสังคม ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกคำนี้ว่า Economic mobility โอกาสที่จะได้เปลี่ยนแปลงได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น"
ความเท่าเทียม และการเข้าถึงโอกาส
ความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาส ถือว่า เป็นความยุติธรรมอย่างหนึ่ง ความยุติธรรมในด้านโอกาส ทุนกับโอกาสเป็นของคู่กัน เรามักสงสัยว่า คนที่มีโอกาสนั้นเป็นใคร ก็จะพบว่ามักจะเป็นคนที่มีทุนมาก แต่ส่วนหนึ่งที่เราไม่สามารถปฎิเสธได้เลยคือ โอกาสนั้นสามารถปรับได้ โดยการมีโครงสร้างสาธารณะพื้นที่ฐาน และบริการต่างๆ เช่น การศึกษา การเข้าถึงหรือรัฐสวัสดิการต่างๆ เป็นต้น
การที่เมืองมีการเข้าถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ง่าย และเท่าเทียมจะช่วยเพิ่มการสร้างทุนทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปต่อยอดต่อไปได้
ในด้านสังคม เมืองเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของผู้คน โดยทั่วไปแล้วคนที่เข้ามาอยู่ในเมือง ล้วนแต่เป็นคนพลัดถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่คนเหล่านี้จะกลายเป็นประชากรชายขอบ ทั้งทางด้านมิติกายภาพของเมือง และในมิติสังคม
มีบทความของ world Economic forum ที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง โดยบทความนี้ได้กล่าวถึงประเด็นของคนชายขอบสองประเด็นคือ
1. ความรู้สึกของการไม่ใช่คนในเมืองนั้นๆ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ผูกพันและไม่มีส่วนร่วมในการออกสิทธิ์ ออกเสียง ซึ่งเป็นปัญหาแรกของคนที่เข้ามาอาศัยในเมือง
2. ความรู้สึกของความไม่มั่นคงในชีวิตของตนเอง อันเกิดจากความรู้สึกเป็นคนนอกนั้นเอง ทั้งสองปัจจัยนี้เป็นปัญหาในการที่จะก่อให้เกิดแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงทุนของตัวเองเพื่อยกระดับให้ดีขึ้น และยังเป็นอุปสรรคในด้านทุนทางสังคมอีกด้วย
มีงานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวไว้ว่า ทุนที่สำคัญนอกจากทุนทางเศรษฐกิจแล้ว ทุนทางสังคมก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหากเมืองของเราไม่เอื้ออำนวยต่อการสะสมทุนทางสังคมเหล่านี้ เราก็ไม่สามารถพูดได้ว่า เมืองของเราเป็นเมืองทั่วถึงอย่างแท้จริง
สังคมทั่วถึง
มีแนวคิดหนึ่งบอกว่า การที่มนุษยย์เราได้อยู่ในพื้นที่ที่พบปะผู้คนแปลกหน้า เราจะมีการเคารพสิทธิกันมากขึ้น
ยกตัวอย่าง หากเรามาวิ่งที่สวนลุมบ่อยๆ เราจะเริ่มคุ้นหน้าคุ้นตาว่า มีใครบ้างที่วิ่งร่วมกับเรา เราจะเริ่มมีการทักทายกัน มีการทำความรู้จักกัน และนำไปสู่การในเกียรติซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เพราะมีพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
แต่ถ้าหากไม่มีพื้นที่เหล่านี้เลย เราก็จะไม่มีจิตสำนึกทางสังคม
มีสิ่งหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์กังวลอยู่ตลอดเวลานั่นคือ การกระทำของเราที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่น โดยที่ผู้กระทำไม่ได้ให้ความสนใจกับผลกระทบนั้น เช่น การทิ้งขยะลงคลองสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งการกระทำอันสิ่งผลกระทบต่อสังคมเหล่านี้ หากคนในสังคมไม่ได้รู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการกระทำเหล่านั้น แน่นอนสังคมนั้นๆ ก็มีแต่จะพังลงเรื่อยๆ
ดังนั้น เมืองที่ทั่วถึงในมุมของผมคือ เมืองที่ผู้คนสามารถเข้าถึงปัจจัยต่างๆ ที่สามารถนำเอาปัจจัยเหล่านั้นมาก่อให้เกิดประโยชน์ โดยสามารถทำให้การดำรงชีวิตมีความสุขได้ และก่อให้เกิดความรู้สึกต่อเมืองที่ดี
วันนี้กรุงเทพฯ เป็นเมืองทั่วถึงแล้วหรือยัง
หลายคนที่ทำงานในกรุงเทพฯ ก็จะเห็นแล้วว่า กรุงเทพฯ มีสถาพของงานกระจุกตัวอยู่ในกลางเมือง ถามว่า การเข้าถึงงานเหล่านี้นั้นเป็นไปอย่างไร ก็พบว่า ส่วนใหญ่การเข้าถึงงานเหล่านี้เกิดจากการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล ในขณะเดียวกันขนส่งสาธารณะนั้นยังไม่สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ โอกาสการทำงานไม่ได้กระจายตัว การเดินทางเข้ามาจากภายนอกยังคงลำบาก
กรุงเทพฯ มีรถเฉลี่ย 660 คันต่อประชากร 1,000 คน เทียบกับเมืองใหญ่อย่าง ซิดนีย์ ที่มีรถเฉลี่ยอยู่ที่ 500 คัน หรือ ลอนดอน ที่ 300 คัน ต่อประชากร 1,000 คน กรุงเทพฯ ของเรามีอัตราที่สูงกว่าเมืองใหญ่อื่นหลายเท่า ซ้ำร้ายเมื่อปริมาณพื้นที่ถนนของกรุงเทพฯ มีเพียง10% ของพื้นที่เมือง ในขณะที่โตเกียวมี 23% นิวยอร์กมี 38%
เมื่อรถในเมืองเรามีเยอะแต่ถนนเรามีน้อย และยังขาดการขนส่งสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้สะดวก คนทำงานต้องหาวิธีไปถึงด้วยตนเอง ต่อให้เรามีบีทีเอสหรือรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่คนยังเลือกนำรถส่วนตัวมาทำงานอยู่ดี พบว่า 97% ของคนกรุงเทพฯ เลือกเดินทางโดยไม่ใช้รถไฟฟ้า
เพราะหากลองมาดูว่าค่าบริการในการใช้รถไฟฟ้าในแต่ละเที่ยวนั้น หากนำมาหารกับค่าแรงขั้นต่ำ ก็จะพบว่า หากคุณเดินทางไปกลับบีทีเอส เท่ากับว่าต้องสูญเสียรายจ่าย 30% ของค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว นั่นเท่ากับว่า หาเงินมาเท่าไร ก็หมดไปกับค่าเดินทางไปทำงาน
และเมื่อมามองค่าที่พักอาศัย ก็พบว่าอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ มีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% ทุกปี แต่รายได้ของคนทำงานขึ้นเฉลี่ยแค่ 4% นั่นหมายความว่า หากต้องอยู่กรุงเทพฯ เราต้องออกไปอาศัยชานเมืองมากขึ้น หรือไม่ก็ไม่สามารถอยู่ในกรุงเทพฯ ได้อีกต่อไป เพราะหากจะอยู่กรุงเทพฯ แบบสบายๆ ไม่ต้องเดินทางไปทำงานไกล ต้องอยู่คอนโดกลางเมือง แต่คอนโดในกรุงเทพฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 4 ล้านบาท รายได้ทั่วไปของคนกรุง อยู่ที่ 24,000 บาท คำนวนแล้วดอกเบี้ย 6% ผ่อนได้แค่ 1.5ล้านกว่าบาท ถามว่าแบบนี้ก็ไม่สามารถอยู่ได้
ถามว่าเเล้วจะไปอยู่ที่ไหน หากนำเอารายได้มาลองเทียบ เฉลี่ยดูจะเห็นว่าต้องใช้เวลากว่า 22 ปี ถึงจะสามารถอยู่ได้ แต่เทียบกับเมืองอย่างปารีส ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 18 ปี เท่านั้น
กรุงเทพฯ ของเรา เดินทางก็แพง บ้านก็แพง งานก็เข้าถึงยาก รวมไปถึงจะไปหาพื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงได้โดยไม่เสียตังค์ก็ยังไม่ทั่วถึง ทำให้คนกรุงอยู่กับหน้าจอมากขึ้น อยู่ในพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น
งานวิจัยคนกรุงอยู่กับหน้าจอมากที่สุดติดอันดับโลก เพราะว่าเราไม่มีพื้นที่สาธารณะอื่นให้ไปใช้ชีวิต ทำให้เราเลือกใช้ชีวิตสาธารณะบนหน้าจอแทน
ดร.คณิศร์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าเมืองของเราเป็นยังไง ต้นทุนการใช้ชีวิตสูงขึ้นเรื่องๆ เรื่องความอยู่ยากของกรุงเทพฯ นั้นล้วนมาจาก ปัญหาทางกายภาพทั้งสิ้น แน่นอนเมืองจะโตไปอีกและประชากรจะเพิ่มขึ้นอีก และแน่นอนเราต่างอยากเลือกที่จะอยู่ในเมืองที่มีความสุข ถามว่าแล้วเราในฐานะคนเมืองจะสามารถทำอะไรได้บ้างให้เมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองลักษณะ exclusive ให้กลายเป็นเมือง inclusive ให้ได้