ไปป์บอมบ์ "ชุด 2" โผล่ซ้ำ ตอกย้ำลูบคม คสช.
คนกรุงยังคงต้องลุ้นต่อเนื่อง เพราะคดีระเบิดถึงในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าผ่านมาร่วม 10 วันแล้วแต่ยังคลี่คลายไม่ได้ ล่าสุดยังพบระเบิดแสวงเครื่องแบบ "ไปป์บอมบ์" ซ้ำอีก
แม้ "ไปป์บอมบ์" ลูกนี้จะมีสภาพเก่า แต่ก็ต่อสายชนวนพร้อมใช้ และจุดที่พบก็เป็นย่านถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นถนนสายเศรษฐกิจ มีที่ทำการตลาดหลักทรัพย์ มีอาคารสำนักงานของค่ายเพลงชื่อดัง และยังไม่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินอีกด้วย ย่อมสร้างความตื่นตระหนกได้ไม่น้อย
ขณะที่อีกจุดหนึ่ง ใกล้ห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านถนนพระราม 2 ก็พบวัตถุต้องสงสัยจนต้องปิดถนนตรวจสอบ แต่สุดท้ายเป็นแค่กล่องเปล่า
มุมวิเคราะห์เรื่อง "ไปป์บอมบ์" ลูกล่าสุดยังมีหลายฉากทัศน์ (scenario) ฝ่ายนครบาลนำทีมโดย พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร เจ้าของรหัส น.1 บอกว่าเป็นระเบิดที่มีผู้นำไปทิ้งไว้นานแล้ว ฉะนั้นประชาชนไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก
แต่ข้อมูลของ ผบช.น.ต้องกรองก่อนว่าเป็นการ "สับขาหลอก" อีกหรือไม่ เพราะระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ เมื่อค่ำวันที่ 15 พ.ค. ก็เคยออกมา "สับขาหลอก" ว่าเป็นแค่ท่อแตกเพราะลมพัด ไม่ใช่ระเบิดจริงมาแล้ว
ข้อมูลล่าสุดจากเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด (อีโอดี) ระบุว่า ไปป์บอมบ์ที่พบ ใช้ดินเทาน้ำหนักกว่า 200 กรัมเป็นดินระเบิด มีสายชนวนจุดระเบิด วิธีประกอบเหมือนประทัดยักษ์มากกว่า เพียงแต่ใส่ในท่อเหล็ก คาดว่าคนประกอบไม่ใช่มืออาชีพ
เมื่อ "ท่อ" หรือ "ไปป์" ที่ใช้ห่อหุ้มดินระเบิดเป็น "ท่อเหล็ก" จึงไม่ตรงกับรูปแบบของระเบิดแสวงเครื่องไปป์บอมบ์ 3 ลูกที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯก่อนหน้านี้ ได้แก่ เหตุระเบิดหน้าอาคารกองสลากเก่า ริมถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 เม.ย. เหตุระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ ใกล้ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 15 พ.ค. และเหตุระเบิดที่ห้องวงษ์สุวรรณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งตรงกับวาระ 3 ปีการยึดอำนาจของ คสช.พอดิบพอดี
ระเบิดแสวงเครื่องที่คนร้ายใช้ก่อเหตุทั้ง 3 ครั้ง เป็นไปป์บอมบ์ก็จริง แต่เป็น "ท่อพีวีซี" ไม่ใช่ "ท่อเหล็ก"
ข้อมูลจากหน่วยข่าวตำรวจและทหารตรงกันว่า ไปป์บอมบ์ลูกล่าสุดมีรูปแบบและวิธีการประกอบแตกต่างจาก 3 ลูกแรกอย่างชัดเจน ชั้นเชิงการประกอบเป็นระดับ "ธรรมดา" ต่างจาก 3 ลูกแรกที่เป็นมืออาชีพ ฉะนั้นในชั้นนี้จึงสรุปว่ามือประกอบระเบิดเป็นคนละคนกัน
วิเคราะห์จากจุดที่พบระเบิด เหมือนนำไปทิ้งมากกว่านำไปวาง เพราะบริเวณนั้นมีลักษณะคล้ายเป็นที่ทิ้งขยะ และเป็นป่ารก ข้อมูลจากฝ่ายทหารเชื่อว่าคนร้ายนำระเบิดเก่าที่หัดประกอบไปโยนทิ้ง
แต่สมมติฐานนี้ยังถูกแย้งจากหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยที่ให้น้ำหนักการเป็น "ระเบิดพร้อมใช้งาน" จึงเป็นไปได้ที่อาจนำไปซุกซ่อนไว้เพื่อหยิบฉวยใช้ตอนปลอดคน หรือเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย
หากสมมติฐานนี้เป็นจริง ก็วิเคราะห์ต่อได้ 2 ฉากทัศน์ คือ
1.กลุ่มผู้ก่อเหตุ หรือผู้บงการ ต้องการสร้างความปั่นป่วนให้มากขึ้น ด้วยการสั่งให้มือระเบิดที่ฝ่ายการเมืองเคยใช้ในช่วงวิกฤติการเมืองก่อนหน้านี้ นำระเบิดออกมาใช้เพื่อเพิ่มการก่อกวน เพราะรูปแบบของไปป์บอมบ์ท่อเหล็กที่พบ คล้ายคลึงกับไปป์บอมบ์ที่เจ้าหน้าที่เคยยึดได้ในท้องที่ สน.มีนบุรี เมื่อปี 57 ช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และใกล้เคียงกับไปป์บอมบ์บริเวณทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม หน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อ 1 ก.พ.58 ซึ่งเชื่อว่าเป็น "ระเบิดการเมือง" ดิสเครดิต คสช.
2.ไปป์บอมบ์ที่พบล่าสุดมีลักษณะเหมือนไม่จงใจวางเพื่อให้เกิดระเบิด อาจทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องแบ่งกำลังในการสืบสวน รวมทั้งขยายพื้นที่เฝ้าระวังป้องกันสถานการณ์มากขึ้น จนอาจทำให้การคลี่คลายคดีระเบิด 3 คดีแรกอาจต้องล่าช้าออกไป หรือพบอุปสรรค
จากข้อมูลที่รวบรวมได้ขณะนี้ ไม่ว่าจะวิเคราะห์ให้น้ำหนักประเด็นที่ 1 หรือ 2 มากกว่ากัน เป้าประสงค์สุดท้ายย่อมหนีไม่พ้นการยกระดับการท้าทายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะหลังเกิดระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. รัฐบาลได้สั่งให้เพิ่มการระวังป้องกันอย่างเต็มที่แล้ว แต่กลุ่มที่กระทำการก็ยังกล้าก่อเหตุซ้ำอีก ส่อแสดงว่าผู้ก่อเหตุน่าจะมีวิธีการป้องกันตนเอง หรือ "คัทเอาท์" จนมั่นใจว่าถึงอย่างไรก็ไม่ถูกจับ หรือหากจับคนในเครือข่ายได้ ก็จะสาวไม่ถึงผู้สั่งการ
งานนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจึงฟันธงว่า เป็นความจงใจของผู้ก่อเหตุเพื่อ "ท้าทายอำนาจ คสช." โดยมีเป้าประสงค์ทางการเมืองค่อนข้างชัดเจน เพราะงานการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นภารกิจเดียวที่ คสช.ได้รับความชื่นชอบจากประชาชน ผ่านการสำรวจโพลล์ทุกครั้ง ฉะนั้นในช่วงปีสุดท้ายของโรดแมพคืนความสุขฯ จึงมีความเป็นไปได้ที่ต้องเตะตัดขา คสช. ไม่ให้มีความชอบธรรมในการหวนกลับมาสืบทอดอำนาจอีก
ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มความตื่นกลัวและวิตกกังวลในหมู่ประชาชนในยุคที่โซเชียลมีเดียเฟื่องฟู เพราะการส่งต่อข้อมูลกันของสื่อสังคมออนไลน์ ย่อมเป็นการเพิ่มอานุภาพของระเบิดลูกเล็กๆ ให้ใหญ่กว่าความเป็นจริง (ปรากฏการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้)
และจากไปป์บอมบ์ท่อเหล็กลูกล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า มือประกอบระเบิดน่าจะมีหลายคน เพราะแต่ละคนจะมีความถนัดไม่เหมือนกัน แต่ผู้บงการเลือกปล่อยระเบิดทีละลูก เพื่อสร้างความปั่นป่วน และสร้างความสับสนไปเรื่อยๆ
นี่คือชั้นเชิงและกลยุทธ์ของกลุ่มคนร้ายที่ต้องบอกว่า "ไม่ธรรมดา" และกำลังท้าทาย คสช.ตรงๆ ว่า จะจัดการกับพวกเขาได้จริงดังปากว่า...หรือไม่
------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
เสียงดังคล้ายระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ เจ็บ 2
ระเบิดจริง! บึ้มหน้าโรงละครฯ...ภัยเงียบไฟใต้ลามกรุง?
เทียบหลักฐานบึ้มกรุง "การเมือง" หรือ "ป่วนใต้ขยายวง"
ระงมเสียงระเบิดยุคคสช. กลิ่นขัดแย้ง-ควันไฟใต้โชย
บึ้ม รพ.พระมงกุฎฯโยง 2 เหตุป่วนกลางกรุง ชี้ระเบิดชุดเดียวกัน - ท้าทายอำนาจคสช.?
แกะรอยจดหมายเตือนบึ้มพระมงกุฎฯ สติไม่ดี-บีอาร์เอ็น-หรือสวมรอย?