- Home
- South
- สถิติย้อนหลัง
- ระงมเสียงระเบิดยุคคสช. กลิ่นขัดแย้ง-ควันไฟใต้โชย
ระงมเสียงระเบิดยุคคสช. กลิ่นขัดแย้ง-ควันไฟใต้โชย
เหตุระเบิด 2 ครั้งหลังใกล้ท้องสนามหลวง พื้นที่อ่อนไหวสูงสุดกลางกรุงเทพฯ มีความเหมือนกันอยู่ 2-3 อย่าง คือ เป็นระเบิดขนาดเล็กแรงต่ำแบบตั้งเวลา และมีลักษณะคล้ายไปป์บอมบ์
อุปกรณ์ที่ใช้และรูปแบบการประกอบ มีความใกล้เคียงกับระเบิดที่เคยใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้วันนี้จะยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นฝีมือของฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้าม หรือกลุ่มเคลื่อนไหวจากชายแดนใต้ขยายพื้นที่ปฏิบัติการกันแน่ แต่สัญญาณที่ส่งชัดๆ ตีแสกหน้า คสช.ก็คือ งานนี้เป็นการท้าทายอำนาจรัฐ และโจมตีไปที่ผลงานเด่นที่สุดของรัฐบาลทหาร ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อย
หากพิจารณาในแง่ของความถี่ จะพบว่าความเชื่อมั่นของ คสช.ในด้านการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินนั้น แท้ที่จริงแล้วอาจเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา เพราะตั้งแต่ คสช.เข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อปี 2557 พวกเขาก็โดนลูบคมด้วยระเบิดมาโดยตลอด
เริ่มจากครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ก.พ.58 เกิดระเบิดบริเวณทางเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม กับห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน
ครั้งที่ 2 วันที่ 7 มี.ค.58 คนร้ายปาระเบิดเข้าไปในบริเวณศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก
ครั้งที่ 3 วันที่ 11 เม.ย.58 เกิดระเบิดที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล บนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยคนร้ายซุกระเบิดไว้ในรถยนต์ หรือที่เรียกว่า "คาร์บอมบ์"
ครั้งที่ 4 วันที่ 17 ส.ค.ปีเดียวกัน เกิดระเบิดครั้งรุนแรงบริเวณสี่แยกราชประสงค์ กลางกรุงเทพฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 11 ถึง 13 ส.ค.59 เกิดระเบิดเกือบ 20 จุดกระจายใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน
ครั้งที่ 6 วันที่ 5 เม.ย.60 ระเบิดหน้าอาคารกองสลากเก่า ถนนราชดำเนิน
และครั้งที่ 7 ล่าสุด วันที่ 15 พ.ค.ระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ
ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ ระเบิดที่ทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม กับห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนนั้น เป็นระเบิดการเมืองแน่นอน และรูปแบบระเบิดที่คนร้ายใช้เป็น "ไปป์บอมบ์แรงสูง" รูปแบบเดียวกันกับเหตุระเบิดย่านมีนบุรีเมื่อวันที่ 29 มี.ค.57 ช่วงที่กลุ่ม กปปส.กำลังชุมนุมทางการเมือง ซึ่งตำรวจเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มการเมืองสีเสื้อแนวฮาร์ดคอร์
แต่เหตุระเบิดในถังขยะหน้ากองสลากเก่าและหน้าโรงละครแห่งชาติ แม้จะมีร่องรอยเป็น "ไปป์บอมบ์" เช่นกัน แต่เป็นระเบิดแรงต่ำ เพราะใช้ดินระเบิดค่อนข้างน้อย และอุปกรณ์ที่ใช้ถูกชี้ไปยังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะยังมีข้อสงสัยอยู่บ้างก็ตาม
จริงๆ แล้วเหตุระเบิด 2 ครั้งหลังสุดใกล้ท้องสนามหลวง ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีข้อสงสัยว่าเกี่ยวโยงกับกลุ่มจากชายแดนใต้ เพราะเมื่อพิจารณาย้อนกลับไป เหตุระเบิดหลายๆ ครั้งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลก็มีหลักฐานบ่งชี้ไปยังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนำซ้ำยังมีกลิ่นอายทางการเมืองเจือปนอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเหตุระเบิด 9 จุดช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เมื่อปี 49 หลังรัฐประหารได้ไม่นาน, ระเบิดที่สมานเมตตาแมนชั่น ย่านบางบัวทอง ช่วงการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 53 และล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ยังพบแผนก่อวินาศกรรมในกรุงเทพฯด้วยคาร์บอมบ์ ช่วงการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือเอซีดี อีกด้วย แต่ตำรวจอ้างว่าสกัดแผนได้ทัน และจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 13 คน
ความเชื่อมโยงระหว่างผู้ก่อเหตุจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับเสียงระเบิดนอกพื้นที่ปลายด้ามขวาน ยังมีให้เห็นบ่อยครั้งขึ้นในระยะหลัง เมื่อพบว่าผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับในคดีคาร์บอมบ์ห้างลีการ์เด้นส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อปี 55 คดีคาร์บอมบ์ที่ห้างเซ็นทรัล เฟสติวัล เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี 58 และเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เมื่อปี 59 บางส่วนเป็นผู้ต้องหาคนเดียวกัน หรือชุดเดียวกัน
ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ เหตุคาร์บอมบ์พื้นที่เศรษฐกิจที่ จ.ปัตตานี 2 ครั้งหลังสุด คือ หน้าโรงแรมเซาท์เทิร์นวิว เมื่อวันที่ 23 ส.ค.59 และห้างบิ๊กซี ปัตตานี เมื่อวันที่ 9 พ.ค.60 (สองจุดนี้ห่างกันราว 2 กิโลเมตรเท่านั้น) ก็มีผู้ต้องหาบางส่วนเป็นชุดเดียวกัน ทั้งยังทับซ้อนกับผู้ต้องหาคดีคาร์บอมบ์หาดใหญ่ คาร์บอมบ์สมุย และระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนด้วย
ทั้งหมดสะท้อนว่าฝุ่นควันระเบิดที่อบอวลในยุคคสช.นั้น เจือไปด้วยกลิ่นการเมืองและไฟใต้ และนั่นจึงเป็นเครื่องการันตีผลงานของ คสช.ในด้านรักษาความสงบเรียบร้อยและดับไฟใต้ว่า พวกเขาน่าจะสอบตก!
-----------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกทั้งหมดจากสถานีโทรทัศน์ NOW26
อ่านประกอบ :
เสียงดังคล้ายระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ เจ็บ 2