ฉบับเต็ม! ผลสอบสตง.ชำแหละเครื่องตรวจอากาศกรมอุตุฯชำรุดใช้งานไม่คุ้มค่าพันล. (1)
"...จากการตรวจสอบพบว่า เครื่องมือการตรวจวัดจำนวนมากชำรุดเสียหายและไม่ได้รับการซ่อมแซมโดยเร็ว ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือใช้เวลานานมากในการดำเนินการ ตลอดจนพบปัญหาเกี่ยวกับการควบคุม ดูแล บำรุงรักษาเครื่องมือไม่เป็นระบบและขาดความต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือ และจะส่งผลเสียหายต่อการปฏิบัติงานในภารกิจหลักของกรมอุตุนิยมวิทยา..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายละเอียดรายงานตรวจสอบการดำเนินงานการพัฒนาและบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่า นับตั้งแต่ปี 2555-2559 มีการจัดหาติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ระบบตรวจวัด ระบบเตือนภัยประเภทต่างๆ จำนวน 3,070.38 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.42 ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไปทั้งหมด 6,089.54 ล้านบาท พบจุดอ่อนเกี่ยวกับระบบการซ่อมแซมดูแล บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์ที่อาจไม่เกิดความคุ้มค่า เครื่องมือไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 8 ประเภท 1,192 รายการ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1,055.29 ล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนได้ อาทิ แบตเตอรี่ที่เสาวัดลมของเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ ที่มีความเกี่ยวข้องและมีความสำคัญต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน เป็นต้น พร้อมระบุว่า เครื่องมือที่ตรวจสอบพบว่ามีปัญหาที่อยู่ในสภาพชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ ส่วนใหญ่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ขณะที่สถานีที่ดูแลไม่สามารถระบุระยะเวลาที่เกิดการชำรุดเสียหายที่ยังไม่ได้รับการซ่อมแซมแก้ไข เนื่องไม่มีระบบการจัดทำทะเบียนคุมการซ่อมแซมบำรุง รวมทั้งเครื่องมือมีสภาพเก่า อายุการใช้งานยาวนาน เกิดการชำรุดบ่อยครั้ง และได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รับทราบแล้ว
(อ่านประกอบ: พบเครื่องตรวจอากาศกรมอุตุฯชำรุดใช้งานไม่คุ้มค่าพันล.! สตง.จี้อธิบดีแก้ไขปัญหาด่วน, ติดตั้ง71 ปี ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ ละเลงงบร้อยล.! สตง.จี้กรมอุตุฯทบทวนสถานีฝนอำเภอ, หวั่นมาตรฐานการบินไม่ผ่านไอซีเอโอ!สตง.ชงบิ๊กตู่สางปัญหาเครื่องตรวจอากาศกรมอุตุฯ)
-------------------------
ภายใต้แผนงานจัดการภัยพิบัติ กรมอุตุนิยมวิทยา ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 ทำการตรวจอากาศและตรวจวัดสารประกอบอุตุนิยมวิทยาและแผ่นดินไหว กิจกรรมที่ 2 จัดทำแผนที่อากาศและวิเคราะห์เพื่อออกคำพยากรณ์อากาศ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 – 2559 ได้รับจัดสรรงบประมาณตามแผนงานดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 6,089.54 ล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินงานในภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยาได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีประเภทงบลงทุนเกี่ยวกับการพัฒนาและบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ เป็นกิจกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา ติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ระบบตรวจวัด ระบบเตือนภัยประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและมีราคาแพง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 – 2559 เป็นเงินทั้งสิ้น 3,070.38 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 50.42 ของเงินงบประมาณทั้งหมด อนึ่ง โดยภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบด้านการตรวจวัดและพยากรณ์อากาศเพื่อให้ข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาแก่ประชาชนได้อย่างถูกต้อง ทันการณ์ สามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ ลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจวัดและพยากรณ์อากาศที่ต้องเป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำ และเครื่องมือดังกล่าวต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา ที่ต้องให้ความสำคัญต่อการดูแล บำรุงรักษาเป็นอย่างดี เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การตรวจสอบการดำเนินงานการพัฒนาและบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ทำการสุ่มตรวจสอบเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ จำนวน 11 ประเภท ได้แก่ เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติระบบวินด์เชียร์ (LLWAS) เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศ เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) เครื่องมือตรวจอากาศผิวพื้น เครื่องมือสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร เครื่องมือสถานีอุตุนิยมวิทยาอุทก เครื่องมือตรวจวัดฝนอัตโนมัติ (930 สถานี) เครื่องมือสถานีฝนอำเภอ เครื่องมือตรวจอากาศชั้นบน และเครื่องมือตรวจอากาศทางทะเล พบประเด็นปัญหาที่สำคัญเกี่ยวกับการซ่อมแซมและการบำรุงรักษา ปัญหาการใช้ประโยชน์เครื่องมือตรวจวัดที่อาจไม่เกิดความคุ้มค่าหรือบางรายการไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตลอดจนปัญหาการดูแลควบคุมเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ (ดูรายละเอียดในตารางประกอบ)
เครื่องมือตรวจวัดและ พยากรณ์อากาศ |
จำนวนทั้งหมด |
สุ่มตรวจสอบ |
ความสำคัญ |
||||
สถานี |
มูลค่า (ล้านบาท) |
สถานี |
มูลค่า (ล้านบาท) |
||||
1. เครื่องมือสถานีตรวจอากาศผิวพื้น |
74 |
N/A |
55 |
N/A |
ตรวจอากาศผิวพื้นตามสถานีตรวจอากาศในเกือบทุกจังหวัด โดยโยงกันเป็นโครงข่าย ตรวจวัดสารประกอบอุตุนิยมวิทยา ได้แก่ ความกดอากาศ อุณหภูมิ ฝนความชื้นสัมพัทธ์ ลม น้ำระเหย และทัศนวิสัย |
||
|
|
|
|
|
|
||
|
|
|
|
|
|
||
|
|
|
|
|
|
||
|
|
|
|
|
|
||
2. เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) |
90 |
174.73 |
90 |
174.73 |
ตรวจสารประกอบอุตุนิยมวิทยาผิวพื้นด้วยระบบอัตโนมัติ และรายงานผลเข้าระบบของกรมอุตุนิยมวิทยา ประกอบด้วย ความเร็วและทิศทางลม อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ หยาดน้ำฟ้า |
||
3. เครื่องมือตรวจวัดฝนอัตโนมัติ (930 สถานี) |
930 |
240.49 |
930 |
240.49 |
ตรวจวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ต่างๆจำนวน 930 สถานี ส่งข้อมูลปริมาณน้ำฝนมายังกรมอุตุนิยมวิทยาอัตโนมัติ เพื่อใช้ประกอบการพยากรณ์และแจ้งเตือนภัยให้แก่ประชาชน |
||
4. เครื่องมือสถานีฝนอำเภอ |
1,197 |
22.45 |
500 |
9.38 |
ตรวจวัดข้อมูลปริมาณน้ำฝนของพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อการพยากรณ์และแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนรวมถึงให้ข้อมูลกับประชาชนที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่ต้องใช้ข้อมูลปริมาณฝนและอุณหภูมิ |
||
5. เครื่องมือตรวจอากาศทางทะเล |
20 |
200.00 |
20 |
200.00 |
เป็นระบบเตือนภัยพิบัติอุตุนิยม วิทยาทะเล โดยจัดตั้งสถานีตรวจ อากาศอัตโนมัติ และสถานีตรวจ วัดคลื่นทะเล และกระแสน้ำ ด้วยเรดาร์คลื่นวิทยุความถี่สูง ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อจัดเก็บรวบรวม และจัดทำฐานข้อมูลอุตุนิยมวิทยาทะเล สร้างและจัดหาแบบ จำลองการพยากรณ์อากาศรายละเอียดสูง โมเดลคลื่นในน้ำตื้น โมเดลมลพิษในทะเล โมเดลการไหลเวียนกระแสน้ำและโมเดล คลื่นพายุซัดฝั่ง เพื่อใช้ในการพยากรณ์หรือคาดการณ์ภัยพิบัติทางทะเล |
||
6. เครื่องมือตรวจอากาศชั้นบน |
11 |
161.00 |
9 |
145.59 |
ตรวจสภาพอากาศ โดยอาศัยการ ลอยตัวของบอลลูนนำเครื่องมือ ขึ้นไปตรวจ โดยเริ่มการตรวจตั้งแต่ผิวพื้นในอากาศที่ระดับความสูงต่าง ๆ ประมาณ 30 กม. จากพื้นดิน ข้อมูลที่ได้คืออุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิจุดน้ำค้าง ความกดอากาศ ทิศทางและความเร็วลมชั้นบนในระดับต่าง ๆ |
||
7. เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) |
22 |
365.78 |
10 |
142.26 |
ตรวจและรายงานสภาพอากาศเพื่อการบินตามหลักเกณฑ์ที่องค์การบินระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนด โดยการตรวจวัดข้อมูลสภาพอากาศอัตโนมัติที่ทางวิ่งเพื่อการขึ้นลงของสนามบิน ประกอบด้วยข้อมูลลม อุณหภูมิ ความกดอากาศ ความสูงของฐานเมฆ ทัศนวิสัย ข้อมูลฝน อุณหภูมิทางวิ่ง |
||
8. เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติระบบวินด์เชียร์ (LLWAS) |
10 |
732.93 |
8 |
584.44 |
ตรวจและรายงานสภาพอากาศเพื่อการบิน ข้อมูลที่ได้จะใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจของหน่วยควบคุมจราจรทางอากาศและนักบินในการนำขึ้น–ลง สนามบิน ข้อมูลทางอุตุนิยม วิทยาที่ทำการตรวจวัด ได้แก่ ทิศทางลม ความเร็วลม อุณหภูมิเหนือทางวิ่ง อุณหภูมิ อากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ ความกดอากาศ และทัศนวิสัย |
||
9. เครื่องมือสถานีตรวจอากาศเกษตร |
33 |
24 |
N/A |
ตรวจวัดสารประกอบทางอุตุนิยม วิทยาเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางด้านการเกษตรเพิ่มเติมจากการตรวจอากาศผิวพื้นทั่วไป ได้แก่ อุณหภูมิใต้ดินระดับต่าง ๆ เครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้นระดับต่างๆ (บันไดไมโครไคลเมท) อุณหภูมิต่ำสุดยอดหญ้า การระเหยของน้ำ และปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ |
|||
10. เครื่องมือสถานีอุตุนิยมวิทยาอุทก |
16 |
N/A |
9 |
N/A |
ตรวจวัดและติดตามระดับน้ำเพิ่มเติมจากการตรวจอากาศ ผิวพื้นทั่วไป ได้แก่ ความเร็วกระแสน้ำ และระดับน้ำ |
||
11. เครื่องเรดาร์ ตรวจอากาศ * |
S-BAND |
27 |
2,136.84 |
27 |
2,136.84 |
ติดตามและเฝ้าระวังสภาวะฝน สามารถตรวจได้ทั้งระดับความรุนแรงและทิศทางการเคลื่อนตัวของกลุ่มฝน โดยเรดาร์จะทำการสแกนทุก 15 นาที เมื่อตรวจพบกลุ่มฝน จะทำการแจ้งไปยังหอ บังคับการบินเพื่อช่วยเหลือนักบินในการนำเครื่องลง และทำการส่งข่าวผลการตรวจอากาศด้วยเรดาร์ตรวจอากาศเข้าเครือข่าย อุตุนิยมวิทยาโลกทุก ๆ 1 ชั่วโมง |
|
C-BAND |
|
|
|
|
|||
X-BAND |
|
|
|
|
|||
รวมทั้งสิ้น |
2,430 |
4,034.22 |
1,682 |
3,633.73 |
|
||
คิดเป็นร้อยละของจำนวนทั้งหมด |
69.22 |
90.07 |
|
หมายเหตุ : * เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศที่ใช้งานในปัจจุบันมี 3 แบบ คือ
1) แบบ X-BAND เป็นเรดาร์ขนาดเล็กเหมาะสำหรับตรวจฝนกำลังอ่อนถึงกำลังปานกลาง มีรัศมีทำการประมาณ 100 กม. และรัศมีหวังผลประมาณ 60 กม. ข้อดี/ข้อเสียคือ ตัวเครื่องและจานสายอากาศมีขนาดเล็กเคลื่อนย้ายสะดวก ราคาจะถูกกว่าแบบอื่น อะไหล่มีราคาแพง
2) แบบ C-BAND เป็นเรดาร์ขนาดปานกลางเหมาะในการตรวจฝนกำลังปานกลาง – กำลังแรง รัศมีทำการประมาณ 440 กม. และรัศมีหวังผล 230 กม. มีข้อดี/ข้อเสียคือ เครื่องมีขนาดใหญ่และราคาแพง อะไหล่ราคาแพง การบำรุงรักษาค่อนข้างยุ่งยาก
3) แบบ S-BAND เป็นเรดาร์ขนาดใหญ่เหมาะในการตรวจฝนกำลังแรง – กำลังแรงมาก มีรัศมีทำการประมาณ 550 กม. และรัศมีหวังผล 230 กม. มีข้อดี/ข้อเสียคือ เครื่องและจานสายมีขนาดใหญ่จึงมีราคาแพง อะไหล่มีราคาแพง การบำรุงรักษาค่อนข้างยาก
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 กรมอุตุนิยมวิทยามีการจัดซื้อแบบ C-BAND มาใช้งานเท่านั้น
จากการตรวจสอบมีข้อตรวจพบประเด็นที่ 1 เครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศในภารกิจหลักสำคัญของกรมอุตุนิยม วิทยาจำนวนมากเกิดการชำรุดเสียหาย โดยมีจุดอ่อนอย่างมากเกี่ยวกับระบบการซ่อมแซม ดูแล บำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ มีรายละเอียดดังนี้
ภารกิจหลักสำคัญของกรมอุตุนิยมวิทยาคือการตรวจวัดและนำข้อมูลไปสู่การพยากรณ์อากาศ และรายงานสู่สาธารณชน ปัจจัยสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อภารกิจดังกล่าวคือเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ โดยกรมอุตุนิยมวิทยามีการลงทุนสำหรับรายการเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อใช้ในภารกิจของหน่วยงานในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 – 2559 เป็นเงิน 2,414.64 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.65 ของเงินงบประมาณทั้งหมดของกรมอุตุนิยมวิทยา อนึ่ง เครื่องมืออุปกรณ์ที่สุ่มตรวจสอบจำนวน 11 ประเภท ของกรมอุตุนิยมวิทยามีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 4,034.22 ล้านบาท
เครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเครื่องมือตรวจวัดทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง มีระบบการทำงานซับซ้อน และส่วนใหญ่มีการเปิดใช้งานตลอดเวลา ซึ่งจำเป็นต้องมีการบำรุง รักษาตามรอบระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้มีประสิทธิภาพสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม และเป็นการยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น ทั้งนี้ หากเกิดการชำรุดเสียหายต้องมีแผนสำหรับการซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว
กรมอุตุนิยมวิทยามีการจัดสรรงบประมาณในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ เฉลี่ยปีละประมาณ 131.15 ล้านบาท การซ่อมแซมและบำรุงรักษาเป็นหน้าที่ของหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง 3 หน่วย คือ
1) หน่วยงานในส่วนภูมิภาค คือศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคและสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัด ในฐานะผู้ใช้งานและรับผิดชอบสถานที่ติดตั้งเครื่องมือ มีหน้าที่ตรวจเช็ค ทำความสะอาด ตรวจสอบสภาพการทำงานของเครื่องมือ อุปกรณ์ที่อยู่ในห้องตรวจอากาศและสถานีภาคสนาม รวมถึงการซ่อมแซมเบื้องต้น และดำเนินการบำรุงรักษาบางประเภทเครื่องมือตามที่ได้รับมอบหมาย กรณีที่เกินศักยภาพหรือขีดความสามารถในการดำเนินการของสถานีฯ หรือศูนย์ฯ จะแจ้งไปยังสำนักเครื่องมือในส่วนกลางเพื่อดำเนินการต่อไป
2) หน่วยงานในส่วนกลาง คือสำนักเครื่องมืออุตุนิยมวิทยา มีหน้าที่ในการติดตั้งบำรุงรักษา ซ่อมแซม การสอบเทียบและตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์ทุกประเภท รวมทั้งปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของสถานีอุตุนิยมวิทยาและศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาค
3) บริษัทผู้รับจ้าง กรมอุตุนิยมวิทยามีการจ้างเหมาการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องมือที่สำคัญบางประเภท หรือเครื่องมือที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีความรู้ความชำนาญโดยเฉพาะ
จากการตรวจสอบพบว่า เครื่องมือการตรวจวัดจำนวนมากชำรุดเสียหายและไม่ได้รับการซ่อมแซมโดยเร็ว ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือใช้เวลานานมากในการดำเนินการ ตลอดจนพบปัญหาเกี่ยวกับการควบคุม ดูแล บำรุงรักษาเครื่องมือไม่เป็นระบบและขาดความต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือ และจะส่งผลเสียหายต่อการปฏิบัติงานในภารกิจหลักของกรมอุตุนิยมวิทยา
1. เครื่องมือการตรวจวัดจำนวนมากชำรุดเสียหาย และไม่ได้รับการซ่อมแซมโดยเร็ว ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์
จากการสุ่มตรวจสอบเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ จำนวน 11 ประเภท ตามวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลเครื่องมือที่กำหนด มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 3,633.73 ล้านบาท พบว่า เครื่องมือตรวจวัดจำนวนมากชำรุดเสียหายและไม่ได้รับการซ่อมแซมโดยเร็ว ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ จำนวน 8 ประเภท รวมจำนวน 1,192 รายการ รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1,055.29 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 72.46 และ 39.03 ของรายการและมูลค่าเครื่องมือที่สุ่มตรวจสอบ ตามลำดับ ซึ่งระยะเวลาที่เครื่องมืออยู่ในสภาพไม่สามารถใช้งานได้บางรายการนานมากกว่า 2 ปี หรือส่วนใหญ่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี (ดูรายละเอียดในตาราง)
หน่วย : เครื่อง/สถานี
ประเภทเครื่องมือ |
สุ่มตรวจสอบ |
ชำรุดเสียหาย |
ระยะเวลาที่ชำรุดเสียหาย (สถานี/รายการ) *** |
|||||||
จำนวน (สถานี) |
มูลค่า (ล้านบาท) |
จำนวน (สถานี) |
มูลค่า** (ล้านบาท) |
1–3 เดือน |
>3–6 เดือน |
>6–12 เดือน |
>1–2 ปี |
>2 ปี |
ระบุ ไม่ได้ |
|
1. เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศ |
27 |
2,136.84 |
6 |
566.56 |
2 |
- |
2 |
1 |
1 |
- |
2. เครื่องมือตรวจวัดฝนอัตโนมัติ (930 สถานี) |
930 |
240.49 |
930 |
240.49 |
- |
- |
930 |
- |
- |
- |
3. เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) |
90 |
174.73 |
84 |
162.96 |
84 |
- |
- |
- |
- |
- |
4. เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) |
10 |
142.26 |
7 |
83.40 |
1 |
- |
- |
1 |
2 |
3 |
5. เครื่องมือสถานีฝนอำเภอ |
500 |
9.38 |
144 |
1.37 |
14 |
8 |
9 |
12 |
31 |
132 |
6. เครื่องมือสถานีตรวจอากาศผิวพื้น |
55 |
N/A |
10 |
0.15 |
- |
- |
- |
1 |
1 |
15 |
7. เครื่องมือสถานีฯ เกษตร |
24 |
N/A |
9 |
0.33 |
3 |
- |
3 |
- |
4 |
7 |
8. เครื่องมืออุตุนิยมวิทยาอุทก |
9 |
N/A |
2 |
0.03 |
- |
- |
- |
- |
- |
4 |
รวมทั้งสิ้น |
1,645 |
2,703.70 |
1,192 |
1,055.29 |
102 |
8 |
946 |
16 |
36 |
165 |
คิดเป็นร้อยละ |
100.00 |
100.00 |
72.46 |
39.03 |
- |
- |
- |
- |
- |
- |
หมายเหตุ :* รายการเครื่องมือที่ชำรุดเสียหาย ไม่รวมถึงกรณีเครื่องมือที่สถานีมีอยู่แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และกรณีชำรุดเสียหายแต่มีการจัดซื้อเครื่องมือใหม่มาทดแทนแล้ว (รอการจำหน่าย) ** มูลค่า สามารถระบุได้เพียงบางสถานีเท่านั้น *** ระยะเวลาที่ชำรุดเสียหายได้จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่ดูแลรับผิดชอบ โดยนับเพียงวันที่เข้าตรวจสอบ สังเกตการณ์ โดยพบว่า
1) สถานีฝนอำเภอ จำนวน 144 แห่ง มีเครื่องมือที่ชำรุด จำนวนรวม 206 รายการ
2) สถานีตรวจอากาศผิวพื้น จำนวน 10 แห่ง มีเครื่องมือที่ชำรุด จำนวนรวม 17 รายการ
3) สถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร จำนวน 9 แห่ง มีเครื่องมือที่ชำรุด จำนวนรวม 17 รายการ
4) สถานีอุตุนิยมวิทยาอุทก จำนวน 2 แห่ง มีเครื่องมือที่ชำรุด จำนวนรวม 4 รายการ
จากรายละเอียดตามตาราง จะเห็นได้ว่าเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศประจำสถานีที่จำเป็นต้องใช้ในภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยาจำนวนมากอยู่ในสภาพชำรุดเสียหายไม่สามารถใช้งานตามวัตถุประสงค์ได้ ระยะเวลาที่ชำรุดเสียหายโดยไม่ได้รับการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพใช้งานได้บางรายการมากกว่า 2 ปี บางรายการมากกว่า 1 ปี หรือบางรายการประมาณ 1 ปี ทั้งนี้สถานีส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุระยะเวลาที่เกิดการชำรุดเสียหายที่ยังไม่ได้รับการซ่อมแซมแก้ไขได้ เนื่องจากไม่มีระบบการจัดทำทะเบียนคุมการซ่อมแซมและบำรุงรักษา สรุปได้ดังนี้
1.1. เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาเริ่มดำเนินโครงการจัดหาและติดตั้งเครื่องเรดาร์ตรวจอากาศตั้งแต่ปี 2535 ใช้ประโยชน์ในการพยากรณ์อากาศระยะสั้น การติดตามการเคลื่อนตัว/ความแรงของกลุ่มฝน และพายุเขตร้อน เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ รวมถึงแจ้งเตือนลักษณะอากาศร้ายที่ปกคลุมบริเวณสนามบิน เป็นต้น ทั้งนี้ จะมีการนำผลการตรวจวัดของทุกสถานีแสดงทางเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อเผยแพร่ต่อประชาชน จากการตรวจสอบพบว่าเครื่องเรดาร์ตรวจอากาศที่ติดตั้งที่สถานีอุตุนิยมวิทยาอยู่ในสภาพชำรุดเสียหายไม่พร้อมสำหรับการใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ จำนวน 6 สถานี รวมมูลค่าการติดตั้ง 566.56 ล้านบาท ส่วนใหญ่พบการชำรุดเสียหายของอุปกรณ์สำคัญ อาทิเช่น ชุดเครื่องส่ง เครื่องรับ ระบบขับจานสายอากาศ และเครื่องสำรองไฟ (UPS) ทำให้ไม่สามารถใช้งานเครื่องเรดาร์ตรวจอากาศได้ทั้งระบบ ระยะเวลาที่เกิดการชำรุดเสียหายนานที่สุดมากกว่า 2 ปี ทั้งนี้เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาส่วนใหญ่ มีอายุการใช้งานยาวนานมากกว่า 10 ปี จำนวน 15 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 55.56 ของจำนวนทั้งหมด (27 เครื่อง) โดยเป็นเครื่องที่ใช้งานมามากกว่า 18 ปี ถึง 12 เครื่อง อายุการใช้งานสูงสุด 23 ปี (รายละเอียดตามภาคผนวกที่ 1) ทำให้อะไหล่ต่าง ๆ เริ่มเสื่อมสภาพและมีการชำรุดบ่อยครั้ง โดยพบว่า
– บางสถานีเครื่องเรดาร์ตรวจอากาศติดตั้งและใช้งานมานานเครื่องมือไม่ทันสมัยและไม่คุ้มค่าในการซ่อมแซม กรมอุตุนิยมวิทยาอยู่ระหว่างการจัดซื้อและติดตั้งใหม่จำนวน 2 สถานี รวมมูลค่าของเครื่อง 45.20 ล้านบาท ได้แก่ เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศติดตั้งที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จังหวัดอุบลราชธานี และกรมอุตุนิยมวิทยา (ส่วนกลาง)
– บางสถานีรอการจัดหา/สั่งซื้ออะไหล่ของเครื่องเรดาร์ตรวจอากาศ โดยหน่วยงานในส่วนกลางกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงการตั้งงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายการซ่อมแซมดังกล่าว จำนวน 3 สถานี รวมมูลค่า 337.84 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการชำรุดเสียหายเกี่ยวกับจานสายอากาศ ระบบขับจาน สายอากาศ เครื่องส่ง เครื่องรับ ได้แก่ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก จังหวัดสงขลา (ติดตั้งที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่) สถานีอุตุนิยมวิทยาลำพูน และสถานีอุตุนิยมวิทยาสุราษฎร์ธานี (กลุ่มงานตรวจอากาศเกาะสมุย)
– บางสถานีอยู่ระหว่างดำเนินการซ่อมแซม คือ สถานีอุตุนิยมวิทยานครนายก (เขาเขียว)
รายละเอียดเครื่องเรดาร์ตรวจอากาศที่ชำรุด/ใช้งานไม่ได้ ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2558
สถานี |
ปีที่ติดตั้ง |
มูลค่า (ล้านบาท) |
ระยะเวลา ที่ชำรุด |
สภาพปัญหา |
สถานภาพการดำเนินการ |
1. ศล.อุบลราชธานี |
2536 |
29.97 |
3 เดือน |
อุปกรณ์เสื่อมสภาพ/ อายุการใช้งานนาน |
อยู่ระหว่างติดตั้ง เครื่องใหม่ทดแทน |
2. กรมอุตุนิยมวิทยา (กทม.) (Mobile X-Band) |
2539 |
15.23 |
10 เดือน |
เครื่องส่ง/เครื่องรับ/ รถเสื่อมสภาพ |
อยู่ระหว่างจัดซื้อ เครื่องใหม่ทดแทน |
3. ท่าอากาศยานหาดใหญ่ |
2547 |
96.99 |
1 ปี 5 เดือน |
จานสายอากาศ/ระบบขับจาน/สายอากาศ/เครื่องส่ง/เครื่องรับ |
รออะไหล่และงบประมาณ |
4. สอต.นครนายก (เขาเขียว) |
2550 |
183.52 |
2 เดือน |
เครื่องส่ง/เครื่องรับ/ power supply |
อยู่ระหว่างดำเนินการซ่อม |
5. สอต.ลำพูน |
2552 |
107.90 |
7 เดือน |
เครื่องส่ง/เครื่องรับ (EDRP-9 board) |
รออะไหล่และงบประมาณ |
6. เกาะสมุย |
2553 |
132.95 |
2 ปี 1 เดือน |
ระบบขับจานสายอากาศ/ ชุด Servo Amp |
รออะไหล่และงบประมาณ |
หมายเหตุ : 1) สอต. หมายถึง สถานีอุตุนิยมวิทยา 2) ศล. หมายถึง ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
1.2 เครื่องมือตรวจวัดฝนอัตโนมัติ (930 สถานี) ซึ่งมีการติดตั้งและดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยเครื่องมือตรวจวัดฝนอัตโนมัติแต่ละสถานีจะรายงานข้อมูลปริมาณน้ำฝนเข้าสู่ระบบโปรแกรมการแสดงผลและรายงานออนไลน์ ซึ่งจะประมวลและแสดงผลรายงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสมราย 15 นาที รายงานข้อมูลปริมาณน้ำฝนแบบรายวัน รายเดือน รายปี และข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสม จากการตรวจสอบข้อมูลการรายงานปริมาณน้ำฝนที่แสดงผลและรายงานออนไลน์ผ่านเว็บไซด์กรมอุตุนิยมวิทยา ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงวันที่ 11 กันยายน 2558 พบว่า เครือข่ายสถานีฝนอัตโนมัติประสบปัญหาขัดข้องไม่สามารถแสดงผลและรายงานออนไลน์ผ่านเว็บไซด์ได้ทั้ง 930 สถานี เป็นระยะเวลามากกว่า 7 เดือน สาเหตุเกิดจาก server ของระบบประมวลผลของศูนย์ปฏิบัติการตรวจวัดฝนอัตโนมัติมีการขัดข้อง
อนึ่ง จากการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลผ่านเว็บไซด์กรมอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นระยะเวลา 96 วัน พบว่ามีสถานีที่แสดงผลข้อมูลออฟไลน์หรือไม่สามารถรายงานผลข้อมูลปริมาณน้ำฝนทางเว็บไซด์ได้อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก กล่าวคือ ในช่วงระยะเวลา 96 วัน ที่มีการเก็บข้อมูล พบว่าไม่สามารถเข้าระบบทางเว็บไซด์ได้ถึง 14 วัน โดยในจำนวน 82 วันที่เหลือสามารถเข้าระบบทางเว็บไซด์ได้เป็นการแสดงผลข้อมูลออฟไลน์ทั้งหมดทุกสถานีเป็นจำนวนมากถึง 33 วัน สำหรับวันที่มีการรายงานผลข้อมูลปริมาณน้ำฝนทางเว็บไซด์ได้ จำนวน 49 วัน สามารถรายงานผลข้อมูลปริมาณน้ำฝนได้เฉลี่ยประมาณวันละ 715 สถานี จากทั้งหมด 930 สถานี
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็น ว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ล่าช้าดังกล่าวซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ไม่คุ้มค่าและการดำเนินงานที่จะไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ จึงได้มีการรายงานเบื้องต้นถึงอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2558 และวันที่ 24 มีนาคม 2558 จากการติดตามความคืบหน้าเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 พบว่ายังไม่ได้รับการแก้ไข และไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จเมื่อใด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2558 เพื่อให้พิจารณาเร่งรัดดำเนินการและแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับการใช้งานได้โดยเร็ว ซึ่งต่อมากรมอุตุนิยมวิทยาได้ดำเนินการซ่อมแซมคอมพิวเตอร์แม่ข่ายพร้อมโปรแกรมการใช้งานระบบฯ โดยจ้างเหมาบริษัทจากภายนอก ตามสัญญาเลขที่ สจ.95/2558 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ทำให้อุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์สามารถทำงานได้ปกติ สามารถประมวลผลข้อมูลปริมาณน้ำฝนและนำเข้าสู่เว็บไซต์เพื่อให้บริการข้อมูลปริมาณน้ำฝนผ่านระบบอินเตอร์เนตได้ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสังเกตการณ์ ณ สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 พบว่าเครื่องมือตรวจวัดเครือข่ายสถานีอัตโนมัติยังไม่สามารถแสดงผลรายงานปริมาณน้ำฝนได้ครบถ้วนทั้งหมด 930 สถานี โดยแสดงผลได้เพียง 544 สถานีเท่านั้น
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาอีกครั้ง เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงปัญหาข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น รวมถึงแผนการดำเนินงานและการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ ได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการควบคุม กำกับ ติดตามผลการดำเนินงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ตามหนังสือที่ ตผ 0015/7568 และ ที่ ตผ 0015/7569 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2558 ตามลำดับ ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ชี้แจงว่ากรณีข้อมูลที่เข้าสู่ระบบฯ ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้ง 930 สถานี เกิดจากสถานีฝนอัตโนมัติบางแห่งที่ติดตั้งตามพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลต่าง ๆ ขาดการบำรุงรักษาอุปกรณ์มาเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี อุปกรณ์ต่าง ๆ อาจชำรุด ระบบไฟฟ้าขัดข้อง เป็นต้น โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุง ดูแล และจัดทำแผนการดำเนินการซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องมือตรวจวัดฝนอัตโนมัติ 930 สถานี เพื่อให้สามารถรายงานปริมาณน้ำฝนผ่านระบบอินเตอร์เนตได้ครบถ้วนทุกสถานีแล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ
1.3 เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) มีการติดตั้งจำนวนทั้งหมด 90 สถานีทั่วประเทศ รวมมูลค่า 174.73 ล้านบาท เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับตรวจสารประกอบอุตุนิยมวิทยาผิวพื้นด้วยระบบอัตโนมัติ และรายงานผลเข้าระบบการแสดงผลข้อมูลทางเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา แบบ real time โดยสารประกอบอุตุนิยมวิทยาที่ได้คือ ความเร็วและทิศทางลม อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และหยาดน้ำฟ้า ทั้งนี้ เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) จะประกอบด้วยชุดอุปกรณ์ 2 ส่วน คือ ชุดอุปกรณ์ที่ติดตั้งภายในสนามอุตุนิยมวิทยาและที่ติดตั้งภายในห้องอุตุนิยมวิทยา โดยมีลักษณะการทำงาน ดังนี้
– ชุดอุปกรณ์ที่ติดตั้งภายในสนามอุตุนิยมวิทยา ประกอบด้วย Sensor ที่ใช้วัดสารประกอบอุตุนิยมวิทยาประเภทต่าง ๆ ข้างต้น ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกจัดเก็บและประมวลผลโดยชุด Data Logger และส่งข้อมูลดังกล่าวผ่านชุดรับ-ส่งข้อมูล (โมเดม) ที่ติดตั้งระหว่างสนามอุตุนิยมวิทยากับภายในห้องอุตุนิยมวิทยา
– ชุดอุปกรณ์ที่ติดตั้งภายในห้องอุตุนิยมวิทยา ประกอบด้วยชุดคอมพิวเตอร์ประมวลผลและชุดรับ-ส่งข้อมูล (โมเดม) ทำหน้าที่ประมวลผลและรับ-ส่งข้อมูลผลการตรวจวัดจากสนามอุตุนิยมวิทยา เพื่อนำมาแสดงผลในรูปแบบหน้าจอคอมพิวเตอร์และส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบการแสดงผลทางเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา (ส่วนกลาง) ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เนตขององค์การโทรศัพท์
จากการตรวจสอบข้อมูลการแสดงผลเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) ที่ปรากฏทางเว็บไซต์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่ามีเครื่องมือที่แสดงผลออฟไลน์ (Offline) จำนวนมากและต่อเนื่องกันอย่างมีนัยสำคัญ
จากการจัดเก็บข้อมูลการแสดงผลเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) ทางเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา ระหว่างวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2558 ในช่วงเวลาประมาณ 11.00 น. ของวัน รวมระยะเวลา 82 วัน พบว่ามีสถานีที่แสดงผลออฟไลน์จำนวน 84 สถานี โดยแสดงผลออฟไลน์ตั้งแต่ 1 วัน สูงสุดถึง 81 วัน แยกเป็น แสดงผลออฟไลน์ตั้งแต่ 1 – 10 วัน จำนวน 57 สถานี ตั้งแต่ 11 – 20 วัน จำนวน 21 สถานี ตั้งแต่ 21 วันขึ้นไป จำนวน 6 สถานี โดยในจำนวนนี้พบว่าระยะเวลาที่นานที่สุดสูงถึง 81 วัน จำนวน 1 สถานี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นเบื้องต้นถึงสาเหตุกรณีที่ไม่สามารถแสดงผลทางหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสถานะออฟไลน์ โดยอาจเกิดจากสาเหตุสำคัญหลายประการคือ ระบบ Server รับรายงานผล/สัญญานเข้าระบบแสดงผลในส่วนกลางขัดข้อง หรือระบบเครือข่ายสัญญานอินเตอร์เนตในพื้นที่มีปัญหา หรือระบบไฟฟ้าที่ใช้ภายในสถานีอุตุนิยมวิทยาที่ติดตั้ง AWS มีการขัดข้อง หรือชุดอุปกรณ์ของเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติมีการชำรุด เป็นต้น อย่างไรก็ตามระยะเวลาที่พบว่าอยู่ในสถานะออฟไลน์ของสถานีส่วนใหญ่มีระยะเวลาหลายวัน แสดงให้เห็นได้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการติดตามและซ่อมแซมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว
อนึ่ง สถานีที่พบว่าเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) ที่มีจำนวนวันออฟไลน์สูงสุดถึง 81 วัน ในช่วงที่เก็บข้อมูล คือเครื่องมือที่ติดตั้งที่เกาะเต่า เนื่องจากไม่มีสถานีอุตุนิยมวิทยาตั้งอยู่ การติดตั้ง AWS ได้ขอใช้พื้นที่ ไฟฟ้า และระบบอินเตอร์เนตของเทศบาล ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้รับการดูแลในการเชื่อมต่อไฟฟ้าหรือระบบอินเตอร์เนต ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาอยู่ระหว่างดำเนินการสร้างสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) ใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
1.4 เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) ใช้สำหรับตรวจและรายงานสภาพอากาศเพื่อการบินตามหลักเกณฑ์ที่องค์การบินระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนด โดยการตรวจวัดข้อมูลสภาพอากาศอัตโนมัติที่ทางวิ่งเพื่อการขึ้นลงของสนามบิน จากการตรวจสอบจำนวน 10 สถานี พบว่าสถานีส่วนใหญ่มีอุปกรณ์ตรวจวัดและชุดอุปกรณ์ประกอบอยู่ในสภาพชำรุด รวมทั้งหมด 7 สถานี มูลค่ารวม 83.40 ล้านบาท โดยพบว่า
(1) อุปกรณ์ตรวจวัดชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ทั้งระบบ รวมถึงอุปกรณ์ประกอบอื่น ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ (CPU) จอภาพ (Moniter) เครื่องพิมพ์ (Printer) ของท่าอากาศยานตรัง โดยชำรุดมาประมาณ 1 เดือน อยู่ระหว่างรอเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางมาซ่อม โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นว่าที่ผ่านมาอุปกรณ์มีการชำรุดบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่มีอายุการใช้งานยาวนานมากกว่า 17 ปี
(2) อุปกรณ์ตรวจวัดชำรุดบางส่วน จำนวน 4 สถานี ได้แก่ ท่าอากาศยานพิษณุโลก ท่าอากาศยานอุบลราชธานี (ท่าอากาศยานอุบลราชธานี มีอุปกรณ์ตรวจวัดชำรุดหลายรายการซึ่งเป็นอุปกรณ์เก่าที่รื้อถอนมาจากท่าอากาศยานอุดรธานี ทั้งนี้ ณ วันสังเกตการณ์อยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติระบบวินด์เชียร์ (LLWSAS) แต่ยังติดปัญหาเรื่องการใช้พื้นที่ในการติดตั้งเสาวินด์เชียร์เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่ของทหาร) ท่าอากาศยานนครราชสีมา และท่าอากาศยานสกลนคร รายการอุปกรณ์ที่ชำรุด ประกอบด้วย
– อุปกรณ์ตรวจวัดความสูงฐานเมฆ ได้แก่ ท่าอากาศยานพิษณุโลก (ชำรุดประมาณ 1 ปี) ท่าอากาศยานสกลนคร (ชำรุดประมาณ 3 ปี) ท่าอากาศยานอุบลราชธานี (ชำรุดประมาณ 2 ปี)
– อุปกรณ์ตรวจวัดทัศนวิสัย ได้แก่ ท่าอากาศยานอุบลราชธานี (ชำรุดประมาณ 2 ปี) ท่าอากาศยานนครราชสีมา (ระบุระยะเวลาชำรุดไม่ได้)
– อุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณและความแรงของฝน ได้แก่ ท่าอากาศยานอุบลราชธานี (ชำรุดประมาณ 2 ปี)
(3) อุปกรณ์ประกอบอื่น ๆ ที่สำคัญชำรุด อาทิ เครื่องปรับอากาศ ระบบไฟสำรอง (UPS) ได้แก่ สถานีอุตุนิยมวิทยาบุรีรัมย์ ท่าอากาศยานพิษณุโลก ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานนครราชสีมา และศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จังหวัดขอนแก่น
1.5 เครื่องมือสถานีฝนอำเภอ โครงการสถานีฝนอำเภอเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลามากกว่า 71 ปี วัตถุประสงค์เพื่อตรวจวัดข้อมูลปริมาณน้ำฝนของพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อการพยากรณ์และแจ้งเตือนภัยให้แก่ประชาชนทั้งภัยแล้ง–อุทกภัย รวมถึงการบริการข้อมูลแก่ประชาชนที่นำไปใช้ในการประกอบอาชีพด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเกษตร อุตสาหกรรม ขนส่ง และก่อสร้าง ติดตั้งกระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 1,197 สถานี มูลค่าเครื่องมือที่ติดตั้งรวมทั้งสิ้นประมาณ 22.45 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานราชการ ได้แก่ ที่ว่าการอำเภอ นิคมสร้างตนเอง และสถานีเกษตร โดยมีบุคลากรของหน่วยงานนั้น ๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจวัดฝน เช่น เจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน (อส.) นักการภารโรง ทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณน้ำฝนหรือข้อมูลอุตุนิยมวิทยาอื่น ๆ ตามประเภทของเครื่องมืออุทกที่ติดตั้ง พร้อมทั้งทำการจดบันทึกและรายงานให้กับกรมอุตุนิยมวิทยาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงการรายงานให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่ทำการปกครองจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัด ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจวัดฝนจะได้รับค่าตอบแทนเป็นอัตรารายเดือนประมาณเดือนละ 200 – 750 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนหรือประเภทของเครื่องมือที่ทำการตรวจวัดในแต่ละสถานี
จากการตรวจสอบสังเกตการณ์และจัดเก็บข้อมูลรวมทั้งสิ้น 500 สถานี พบว่า เครื่องมือตรวจวัดอยู่ในสภาพชำรุด และไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับการใช้งานได้อย่างเหมาะสม (ไม่รวมกรณีที่พบว่าจุดติดตั้งไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด) จำนวน 144 สถานี คิดเป็นร้อยละ 28.80 ของจำนวนสถานีที่ตรวจสอบ โดยเป็นอุปกรณ์ตรวจวัด 8 ประเภท จำนวน 206 รายการ มูลค่ารวมประมาณ 1.37 ล้านบาท ได้แก่ แก้วตวงวัดฝน 73 สถานี เทอร์โมมิเตอร์สูงสุด – ต่ำสุด 52 สถานี ถังวัดฝน 48 สถานี ตู้สกรีนขนาดเล็กและขนาดกลาง 18 สถานี ไซโครมิเตอร์ (ตุ้มแห้ง – ตุ้มเปียก) 5 สถานี เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน แบบไซฟอน 4 สถานี และแผ่นไม้วัดระดับน้ำ 4 สถานี และชุดเครื่องวัดน้ำระเหยพร้อมถาด 2 สถานี โดยมีระยะเวลาชำรุดตั้งแต่ 1 – 3 เดือน ส่วนใหญ่มากกว่า 2 ปี สูงสุดมากกว่า 10 ปี กรณีที่มีเครื่องมือชำรุดเจ้าหน้าที่ตรวจวัดฝนส่วนใหญ่จะใช้วิธีโทรศัพท์ไปแจ้งยังสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัด และกรมอุตุนิยมวิทยาในส่วนกลางตามลำดับ นอกจากนี้ พบว่าเครื่องมือมีอายุการใช้งานยาวนาน สภาพเก่า ปัญหาความล่าช้าในการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนเครื่องมือที่ชำรุด ซึ่งไม่มีสำรองไว้ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัด จะต้องรอเบิกจากหน่วยงานในส่วนกลางของกรมอุตุนิยมวิทยา และจากการจัดเก็บข้อมูลประวัติการตรวจเยี่ยมจากสถานีฝนอำเภอจำนวน 371 แห่ง พบว่าจำนวน 126 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 33.96 ของสถานีฝนอำเภอที่สุ่มตรวจสอบ ไม่เคยมีการตรวจเยี่ยมจากเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยาแต่อย่างใด
1.6 เครื่องมือสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร กรมอุตุนิยมวิทยามีการตั้งสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร จำนวนทั้งหมด 33 สถานีทั่วประเทศ วัตถุประสงค์หลักคือตรวจวัดสารประกอบทางอุตุนิยมวิทยาเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางด้านการเกษตร อาทิ อุณหภูมิใต้ดินระดับต่าง ๆ เครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้นระดับต่าง ๆ (บันไดไมโครไคลเมท) อุณหภูมิต่ำสุดยอดหญ้า การระเหยของน้ำ และปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งทั้งอุปกรณ์สำหรับการตรวจอากาศผิวพื้นทั่วไปเช่นเดียวกันกับสถานีตรวจอากาศผิวพื้น เช่น อุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิ ตรวจวัดปริมาณฝน ตรวจวัดความเร็วลมและทิศทางลม เป็นต้น
จากการตรวจสอบข้อมูลผลการดำเนินงานจำนวน 24 สถานี พบว่ามีจำนวน 9 สถานี ที่มีอุปกรณ์ตรวจวัดอยู่ในสภาพชำรุดและไม่มีอุปกรณ์อื่นทดแทน รวมจำนวน 17 รายการ มูลค่ารวม 0.33 ล้านบาท ระยะเวลาที่ชำรุดบางสถานีนานถึง 3 ปี หรือบางสถานีประมาณ 1 ปี เนื่องจากเป็นอุปกรณ์รุ่นเก่าที่มีการจัดซื้อมานานยังไม่สามารถจัดหาอะไหล่สำหรับการซ่อมแซมได้ ทั้งนี้ ในจำนวนรายการอุปกรณ์ที่ชำรุดนี้ พบว่าบางสถานีเป็นรายการอุปกรณ์การตรวจวัดหลักสำคัญทางด้านการเกษตรโดยเฉพาะ ได้แก่ อุปกรณ์การตรวจวัดอุณหภูมิใต้ดินที่ระดับความลึกต่าง ๆ เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตของรากพืชในระดับต่าง ๆ อุปกรณ์การตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ เพื่อศึกษาการคายน้ำและการเก็บความชื้นของต้นไม้และใบพืชในระดับต่าง ๆ เครื่องวัดลมที่ใช้ในการพยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร เป็นต้น
1.7 เครื่องมือสถานีตรวจอากาศผิวพื้น ซึ่งติดตั้งในสนามอุตุนิยมวิทยา เช่น บาโรมิเตอร์แบบปรอท (วัดค่าความกดอากาศ) เทอร์โมมิเตอร์ตุ้มแห้ง – ตุ้มเปียก (วัดค่าอุณหภูมิอากาศและความชื้นสัมพัทธ์) เทอร์โมมิเตอร์สูงสุด – ต่ำสุด (วัดค่าอุณหภูมิสูงสุด – ต่ำสุดในแต่ละวัน) ซึ่งลักษณะการใช้งานเป็นแบบ Manual โดยอาศัยเจ้าหน้าที่ประจำสถานีในการตรวจวัดและจัดเก็บข้อมูล ทำการตรวจอากาศผิวพื้นทุกวัน วันละ 8 เวลา ทุก 3 ชั่วโมง และการตรวจอากาศตามคำสั่งของกรมอุตุนิยมวิทยาในกรณีพิเศษ สถานีตรวจอากาศผิวพื้นทั่วประเทศมีจำนวน 74 แห่ง (ไม่รวมสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร จำนวน 33 แห่ง และสถานีอุตุนิยมวิทยาอุทก จำนวน 16 แห่ง ที่มีเครื่องมือตรวจอากาศผิวพื้นติดตั้งอยู่ด้วยเช่นกัน)
จากการจัดเก็บข้อมูลและสังเกตการณ์เครื่องมือที่ติดตั้งในสนามอุตุนิยมวิทยา รวมจำนวน 55 สถานี พบว่ามีสถานีอุตุนิยมวิทยาที่มีเครื่องมือชำรุด อยู่ระหว่างรอการซ่อมและยังไม่มีเครื่องมือใหม่ทดแทน จำนวน 10 แห่ง โดยมีเครื่องมือที่ชำรุด รวมจำนวน 17 รายการ มูลค่าประมาณ 0.15 ล้านบาท ได้แก่
– เทอร์โมไฮโกรกราฟ ของสถานีอุตุนิยมวิทยา ลำพูน สุโขทัย หนองคาย อุดรธานี ลพบุรี อรัญประเทศ (ปราจีนบุรี) และชลบุรี
– บาโรกราฟ/ไมโครบาโรกราฟ ของสถานีอุตุนิยมวิทยา หนองคาย อุดรธานี และลพบุรี
– เทอร์โมมิเตอร์ลอยน้ำ ของสถานีอุตุนิยมวิทยาสุโขทัย
– เทอร์โมมิเตอร์ต่ำสุดยอดหญ้า ของสถานีอุตุนิยมวิทยาหนองคาย
– เทอร์โมมิเตอร์สูงสุด ของสถานีอุตุนิยมวิทยาปราจีนบุรี
– เครื่องวัดลมถาดน้ำละเหย ของสถานีอุตุนิยมวิทยาลพบุรี
– เครื่องวัดปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติ แบบไซฟ่อน ของสถานีอุตุนิยมวิทยา สุโขทัย เชียงใหม่
– เครื่องวัดปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติ แบบชั่งน้ำหนัก ของสถานีอุตุนิยมวิทยาสงขลา
1.8 เครื่องมือสถานีอุตุนิยมวิทยาอุทก ซึ่งจะมีที่ตั้งใกล้แม่น้ำสำหรับการตรวจวัดและติดตามระดับน้ำ อาทิ ความเร็วกระแสน้ำ และระดับน้ำ เป็นต้น ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 16 สถานีทั่วประเทศ โดยเครื่องมือที่ใช้ อาทิ เสาบรรทัดวัดระดับน้ำ เครื่องวัดกระแสน้ำพร้อมอุปกรณ์ เครื่องวัดระดับน้ำอัตโนมัติ เครื่องวัดระดับน้ำแบบจดบันทึก เรือวัดน้ำไฟเบอร์พร้อมอุปกรณ์ จากการตรวจสอบจำนวน 9 สถานี พบข้อมูลว่าเครื่องมือหลักสำคัญของสถานีอุตุนิยมวิทยาอุทกส่วนใหญ่ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์แต่อย่างใด (รายละเอียดดังแสดงในประเด็นข้อตรวจพบที่ 2) ในขณะที่เครื่องมือบางรายการที่ยังคงใช้งานประจำสถานีตรวจวัด ปรากฏว่าเครื่องมือจำนวน 4 รายการ มูลค่า 0.03 ล้านบาท ของสถานีตรวจวัดจำนวน 2 แห่ง อยู่ในสภาพชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ โดยจากการตรวจสอบไม่สามารถระบุข้อมูลระยะเวลาที่ชำรุดเสียหายได้ เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาไม่มีการจัดทำทะเบียนคุมการซ่อมแซมบำรุงรักษาไว้ ได้แก่
– เครื่องวัดลมปากถาด จำนวน 2 รายการ ของท่าสถานีฯ ท่าตูม (สุรินทร์)
– เทอร์โมไฮโกรกราฟ (วัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์) ของสถานีฯ สระแก้ว
– เสาบรรทัดวัดระดับน้ำ ของท่าสถานีฯ ท่าตูม (สุรินทร์)
จากการสัมภาษณ์และสอบถามข้อมูลผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาทั้ง 3 ประเภท จำนวน 47 แห่ง ถึงสภาพปัญหา อุปสรรคของการใช้งานเครื่องมือและอุปกรณ์ของสถานีอุตุนิยมวิทยาที่ใช้งานในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องเครื่องมือฯ มีสภาพเก่า อายุการใช้งานยาวนาน เกิดการชำรุดบ่อยครั้ง และเครื่องมือฯ ส่วนใหญ่ยังเป็นระบบ Manaul ไม่ทันสมัย ซึ่งอาจทำให้การรายงานผลการตรวจมีความล่าช้าและอาจเกิดความคลาดเคลื่อน รวมถึงปัญหาการดำเนินการซ่อมแซมเครื่องมือฯ ที่ชำรุดมีความล่าช้า เนื่องจากไม่มีอะไหล่ทดแทน
(ตอนหน้าว่าด้วยประเด็น การควบคุม ดูแล บำรุงรักษาเครื่องมือไม่เป็นระบบและขาดความต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือ และจะส่งผลเสียหายต่อการปฏิบัติงานในภารกิจหลักของกรมอุตุนิยมวิทยา)