พบเครื่องตรวจอากาศกรมอุตุฯชำรุดใช้งานไม่คุ้มค่าพันล.! สตง.จี้อธิบดีแก้ไขปัญหาด่วน
สตง.ชำแหละงบพัฒนาบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจวัดพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ตั้งแต่ปี 55-59 วงเงินกว่า 3 พันล้าน พบจุดอ่อนเกี่ยวกับระบบซ่อมแซมดูแล บำรุงรักษา ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า 8 ประเภท 1,192 รายการ มูลค่า 1,055.29 ล้าน จี้อธิบดีปรับปรุงแก้ไขปัญหาแล้ว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานตรวจสอบการดำเนินงานการพัฒนาและบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า นับตั้งแต่ปี 2555-2559 มีการจัดหาติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ระบบตรวจวัด ระบบเตือนภัยประเภทต่างๆ จำนวน 3,070.38 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.42 ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไปทั้งหมด 6,089.54 ล้านบาท
พบจุดอ่อนเกี่ยวกับระบบการซ่อมแซมดูแล บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์ที่อาจไม่เกิดความคุ้มค่า เครื่องมือไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 8 ประเภท 1,192 รายการ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1,055.29 ล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนได้ อาทิ แบตเตอรี่ที่เสาวัดลมของเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ ที่มีความเกี่ยวข้องและมีความสำคัญต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน เป็นต้น
สตง.ระบุว่า เครื่องมือที่ตรวจสอบพบว่ามีปัญหาที่อยู่ในสภาพชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ ส่วนใหญ่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ขณะที่สถานีที่ดูแลไม่สามารถระบุระยะเวลาที่เกิดการชำรุดเสียหายที่ยังไม่ได้รับการซ่อมแซมแก้ไข เนื่องไม่มีระบบการจัดทำทะเบียนคุมการซ่อมแซมบำรุง รวมทั้งเครื่องมือมีสภาพเก่า อายุการใช้งานยาวนาน เกิดการชำรุดบ่อยครั้ง
สำหรับเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศที่ชำรุดจำนวน 8 ประเภท ได้แก่
1.เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศ จำนวน 6 สถานี รวมมูลค่าการติดตั้ง 566.56 ล้านบาท ระยะเวลาที่ชำรุดประมาณ 1 – 2 ปี โดยพบว่าเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศส่วนใหญ่มีอายุ การใช้งานยาวนาน สภาพเก่า หาอะไหล่ทดแทนยาก ไม่คุ้มค่าในการซ่อมแซม หรืออะไหล่บางรายการ ต้องจัดซื้อจากต่างประเทศ ในขณะที่ขั้นตอนการจัดซื้อมีหลายขั้นตอนและต้องใช้ระยะเวลานาน
2. เครื่องมือตรวจวัดฝนอัตโนมัติ(930 สถานี) เครือข่ายสถานีฝนอัตโนมัติประสบ ปัญหาขัดข้องไม่สามารถแสดงผลและรายงานออนไลน์ผ่านเว็บไซด์ได้ทั้ง 930 สถานี เป็นระยะเวลามากกว่า 7 เดือน โดยไม่สามารถเข้าระบบทางเว็บไซด์ได้ สาเหตุเกิดจาก server ของระบบประมวลผล ของศูนย์ปฏิบัติการตรวจวัดฝนอัตโนมัติมีการขัดข้อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการใช้จ่ายเงิน งบประมาณที่ไม่คุ้มค่าและการดำเนินงานที่จะไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์
3. เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ(AWS) จากการจัดเก็บข้อมูลการแสดงผล เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) ทางเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา จำนวน 82 วัน พบว่ามีสถานีที่ แสดงผลออฟไลน์จำนวนมาก เกิดจากหลายสาเหตุเบื้องต้น เช่น ระบบ Server รับรายงานผล/สัญญาณ เข้าระบบแสดงผลในส่วนกลางขัดข้อง ระบบเครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตในพื้นที่มีปัญหา ระบบไฟฟ้า ที่ใช้ภายในสถานีอุตุนิยมวิทยาที่ติดตั้ง AWS มีการขัดข้อง หรือชุดอุปกรณ์ของเครื่องมือตรวจอากาศ อัตโนมัติมีการชำรุด อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่อยู่ในสถานะออฟไลน์ของสถานีส่วนใหญ่มีระยะเวลา หลายวัน แสดงให้เห็นได้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการติดตามและซ่อมแซมแก้ไข ปัญหาที่เกิดขึ้นให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว
4. เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) อุปกรณ์ตรวจวัดและชุดอุปกรณ์ประกอบ ชำรุดทั้งหมด 7สถานี จากจำนวน 10สถานี ที่สุ่มตรวจสอบ ได้แก่เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) ที่ติดตั้งท่าอากาศยานตรัง พิษณุโลก อุบลราชธานี นครราชสีมา สกลนคร สถานีอุตุนิยมวิทยาบุรีรัมย์ และศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จังหวัดขอนแก่น มูลค่ารวมทั้งสิ้น 83.40 ล้านบาทโดยอุปกรณ์ที่ชำรุดบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่มีอายุการใช้งานมานาน
5. เครื่องมือสถานีฝนอำเภอ จากการตรวจสอบข้อมูลจำนวน 500 สถานี พบว่า เครื่องมือตรวจวัดอยู่ในสภาพชำรุด และไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับการใช้งานได้อย่างเหมาะสม จำนวน 144สถานี คิดเป็นร้อยละ 28.80 ของจำนวนสถานีที่ตรวจสอบ มูลค่ารวมประมาณ 1.37 ล้านบาท โดยอุปกรณ์ ตรวจวัดที่ชำรุด ได้แก่ แก้วตวงวัดฝน เทอร์โมมิเตอร์สูงสุด -ต่ำสุดถังวัดฝน ไซโครมิเตอร์ (ตุ้มแห้ง –ตุ้มเปียก) ตู้สกรีน เครื่องวัดปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติ แบบไซฟอน แผ่นไม้วัดระดับน้ำ และชุดเครื่องวัดน้ำระเหย พร้อมถาด ระยะเวลาการชำรุดตั้งแต่ 1 – 3 เดือน ส่วนใหญ่มากกว่า 2 ปี และสูงสุดมากกว่า 10 ปี
นอกจากนี้ ยังพบประเด็นปัญหาอื่น ๆ ได้แก่ สถานีฝนอำเภอที่สุ่มตรวจสอบ ร้อยละ 33.96 ไม่เคยมีการตรวจเยี่ยมจากเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา เครื่องมือมีอายุการใช้งานนาน สภาพเก่า ปัญหาความล่าช้า ในการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนเครื่องมือที่ชำรุด
6. เครื่องมือสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร จากการตรวจสอบข้อมูลผลการดำเนินงาน จำนวน 24 สถานีพบว่าอุปกรณ์ตรวจวัดอยู่ในสภาพชำรุด จำนวน 17 รายการ ใน 9 สถานีระยะเวลา ที่ชำรุดตั้งแต่ 1 – 3 ปี ปัญหาสำคัญคือเป็นอุปกรณ์รุ่นเก่าที่มีการจัดซื้อมานานยังไม่สามารถจัดหา อะไหล่สำหรับการซ่อมแซมได้ และในจำนวนรายการอุปกรณ์ที่ชำรุดบางสถานีถือเป็นรายการอุปกรณ์ การตรวจวัดหลักสำคัญทางด้านการเกษตรโดยเฉพาะ ได้แก่ อุปกรณ์การตรวจวัดอุณหภูมิใต้ดินที่ระดับ ความลึกต่าง ๆ อุปกรณ์การตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ เครื่องวัดลมที่ใช้ในการพยากรณ์อากาศ เพื่อการเกษตร เป็นต้น
7. เครื่องมือสถานีตรวจอากาศผิวพื้น ชำรุดจำนวน 10 แห่ง รวมจำนวน 17 รายการ มูลค่าประมาณ 0.15 ล้านบาท ซึ่งอุปกรณ์เครื่องมือที่ชำ รุด ได้แก่ เทอร์โมไฮโกรกราฟ บาโรกราฟ ไมโครบาโรกราฟ เทอร์โมมิเตอร์ลอยน้ำ เทอร์โมมิเตอร์ต่ำสุดยอดหญ้า เทอร์โมมิเตอร์สูงสุด เครื่องวัดลม ถาดน้ำละเหยเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติ แบบไซฟ่อน และเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติ แบบชั่งน้ำหนัก
8. เครื่องมือสถานีอุตุนิยมวิทยาอุทก มีจำนวนทั้งหมด 16 สถานีทั่วประเทศ จากการตรวจสอบ จำนวน 9 สถานี พบว่าเครื่องมือหลักสำคัญของสถานีอุตุนิยมวิทยาอุทกส่วนใหญ่ไม่มีการใช้ ประโยชน์ และเครื่องมือบางรายการมีการชำรุด จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ เครื่องวัดลมปากถาด เสาบรรทัดวัดระดับน้ำ เทอร์โมไฮโกรกราฟ (สถานี อุตุนิยมวิทยาท่าตูม (สุรินทร์)) และเทอร์โมไฮโกรกราฟ (สถานีฯ สระแก้ว)
เบื้องต้น สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งถึงให้อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา พิจารณาดำเนินการจัดทำแผนการปฏิบัติงานประจำปีสำหรับการซ่อมแซม ดูแลบำรุงรักษาเครื่องมือ ที่ใช้ในการปฏิบัติงานตามภารกิจหลักของกรมอุตุนิยมวิทยา ให้มีความชัดเจน ครอบคลุมรายการ เครื่องมือและอุปกรณ์ และถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด รวมถึงการวางแผนด้านการจัดหาอะไหล่สำรองตาม ความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความพร้อมต่อการซ่อมแซม หรืออาจวางแผนการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีเครื่องมืออุปกรณ์ที่จัดซื้อจากต่างประเทศ หรือไม่มีอะไหล่ที่ผลิตได้ภายในประเทศ เพื่อลด ความเสี่ยงกรณีที่เครื่องมืออาจเกิดการชำรุดเสียหาย