ไขเบื้องหลัง พนง.ธอส.vs.ฝ่ายบริหาร ปมปล่อยสินเชื่อ พี่สาวนักร้องดัง&พิธีกรชาย "ว."
"..ประเด็นกรณีที่ นางเพ็ญศรี ผู้อนุมัติสินเชื่อเข้าไปถือหุ้นในบริษัท ของ น.ส. "ว." (ตัวย่อ) พี่สาวนักร้องดัง ว่า เป็นเหตุความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือไม่ รวมทั้งการอนุมัติให้กับลูกหนี้รายนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ด้วยหรือไม่ (เข้าไปถือหลังจากปล่อยสินเชื่อมา 1 ปีแล้ว) ซึ่งน่าจะเป็นจุดสำคัญของเรื่องนี้ และเป็นประเด็นเดียวที่ในผลการสอบสวนชุดเดิม ระบุว่า ไม่มีพยานหลักฐานที่เพียงพอจะพิสูจน์ได้ กลับไม่ปรากฎข้อมูลอยู่ในคำสั่งสอบสวนความผิดทางวินัยแต่อย่างใด? .."
นับจนถึงเวลานี้ สาธารณชน คงได้รับข้อมูลกันไปแล้วว่า นางเพ็ญศรี โปร่งเมฆ พนักงานระดับสูงธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2560 ที่ผ่านมา เพื่อร้องขอความเป็นธรรม กรณีถูกผู้บริหารระดับสูงของ ธอส. ออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดทางวินัย จากกรณีการปล่อยสินเชื่อให้กับ พี่สาวนักร้องดังรายหนึ่ง และถูกโยกย้ายตำแหน่ง ทั้งที่เรื่องนี้เคยมีการสอบสวนมาแล้วในช่วงปี 2553-2554 และผลการสอบสวนไม่พบความผิดปกติในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อแต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : พนง.ธอส.ขอความเป็นธรรม'บิ๊กตู่' ถูกผู้บริหารสั่งสอบซ้ำปมปล่อยกู้ 'พี่สาวนักร้องดัง')
ขณะที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงนี้ต่อสื่อมวลชน ระบุว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่แจ้งให้ธนาคารดำเนินการ ส่วนกรณีที่ นางเพ็ญศรี มีหนังสือร้องเรียนการปฏิบัติงานของกรรมการผู้จัดการ ถึงประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อให้พิธีกรชายชื่อดัง ว่า มีกระบวนการเหมือนกันแต่ไม่ถูกสอบสวนนั้น ประธานกรรมการธนาคารได้มอบหมายให้กลุ่มงานตรวจสอบของธนาคารพิจารณาดำเนินการ และได้มีการสรุปผลการตรวจสอบแจ้งให้กับนางเพ็ญศรี ทราบแล้วว่า การสรุปวิเคราะห์ที่มาของรายได้ผู้กู้เป็นไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และคู่มือปฏิบัติงานที่บังคับใช้ในขณะยื่นกู้แล้ว และทั้ง 2 กรณีก็ยังมีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับรายได้ของผู้กู้ และพฤติกรรมอื่นๆ ที่แตกต่างกัน
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.สั่งมาต้องทำ!ธอส.แจงเหตุสอบซ้ำปล่อยกู้'พี่สาวนักร้องดัง'-กรณีพิธีกรทำตามระเบียบ)
ส่วน นางเพ็ญศรี โปร่งเมฆ ให้ข้อมูลยืนยันกับสำนักข่าวอิศราอีกครั้ง ว่า ในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยตนเองซ้ำครั้งที่สอง ในช่วงเดือน พ.ย.2559 ที่ผ่านมา เป็นการสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนซ้ำในประเด็นเดิมที่เคยถูกสอบสวนไปแล้ว เมื่อปี 2554 และผลการสอบสวนที่ออกมาก็ไม่พบความผิดแต่อย่างใด และเคยทำหนังสือถึง สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อขอให้แจ้ง ธอส. ยกเลิกคำสั่งสอบสวนฉบับใหม่ดังกล่าว ซึ่งทางสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือแจ้งตอบกลับว่า กรณีที่ส่งเรื่องให้ ธอส. สอบสวน มิใช่กรณีการชี้มูลความผิดวินัย เมื่อผู้บังคับบัญชาได้รับเรื่องมีหน้าที่ต้องดำเนินการทางวินัยให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือระเบียบ ที่ใช้บังคับสำหรับการดำเนินการทางวินัยของหน่วยงาน ซึ่งหากเห็นว่า ธอส. เคยดำเนินการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว ไม่สามารถดำเนินการสอบสวนทางวินัยได้อีก ตนสามารถโต้แย้งคำสั่งต่อธนาคาร และดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป แต่ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจที่จะแจ้งให้กรรมการผู้จัดการ ธอส. ยกเลิกคำสั่งได้
" ประเด็นการสอบสวนเรื่องสัดส่วนหุ้น เป็นหนึ่งในประเด็นที่เคยถูกสอบสวนไปแล้วอย่างละเอียด และผลสรุปก็ออกมาว่าไม่ผิด แต่ทางฝ่ายบริหาร ก็ยังคงยืนยันที่จะให้สอบสวนความผิดทางวินัยดิฉันต่อไปให้ได้ ไม่เข้าใจว่าเหมือนกันว่า ทำไมจะต้องทำอะไรแบบนี้ด้วย ถ้าดิฉันผิด ยอมรับผิดอยู่แล้ว แต่เมื่อมันไม่ผิด ทำไมยังคงยืนยันที่จะสอบสวนอีก"
(อ่านประกอบ : ทำเกินป.ป.ช.สั่ง! พนง.ธอส.งัดหลักฐานโต้ฝ่ายบริหารหาเหตุสอบซ้ำปล่อยกู้'พี่สาวนักร้อง')
ล่าสุด ในช่วงหัวค่ำวันที่ 23 พ.ค.2560 ที่ผ่านมา ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ส่งคำชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้มาให้สำนักข่าวอิศรารับทราบอีกครั้ง
โดยระบุว่า
1. กรณีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แสวงหาข้อเท็จจริงแล้วฟังได้ว่า การอนุมัติสินเชื่อของ นางเพ็ญศรี โปร่งเมฆ ให้แก่ลูกค้ารายหนึ่งไม่ถูกต้องและไม่เป็นไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือวิธีปฏิบัติของธนาคารที่กำหนดไว้ และมีมติส่งเรื่องให้ธนาคารดำเนินการทางวินัยกับนางเพ็ญศรี โปร่งเมฆ ดังนั้น การที่ธนาคารมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย จึงเป็นการทำตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. มิใช่การทำเกินกว่ามติคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่อย่างใด
2. ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย หากผลสรุปการสอบสวนเป็นประการใด ธนาคารจะรายงานผลการสอบสวน และการดำเนินการให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา พร้อมทั้งแจ้งผลการสอบสวนทางวินัยให้นางเพ็ญศรี โปร่งเมฆ รับทราบต่อไป
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย นางเพ็ญศรี โปร่งเมฆ ของ ธอส.ในช่วงเดือน พ.ย.2559 ที่นางเพ็ญศรี ยืนยันว่าเป็นการสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนซ้ำในประเด็นเดิมที่เคยสอบสวนไปแล้วเมื่อปี 2554 และผลการสอบสวนที่ออกมาก็ไม่พบความผิดแต่อย่างใด
พบว่า ธอส. ได้ระบุว่าเหตุผลในการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย ที่ ว.84 /2559 ลงวันที่ 11 พ.ย.2559 ว่า ป.ป.ช. ได้ส่งเรื่องให้ธนาคารดำเนินการทางวินัยตามมาตรา 89/2 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2554 ระบุว่า นางเพ็ญศรี ซึ่งมีตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อบุคคล และได้รับมอบหมายจากผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานสินเชื่อ ให้ปฎิบัติหน้าที่แทนในช่วงที่ลาพักร้อนประจำปี (ตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานสินเชื่อ มีอำนาจอนุมัติวงเงินสินเชื่อรายย่อยไม่เกิน 5 ล้านบาท ขณะที่ตำแหน่ง นางเพ็ญศรี มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อรายย่อยไม่เกิน 3 ล้านบาท) ซึ่งในช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่แทน นางเพ็ญศรี ได้อนุมัติสินเชื่อวงเงิน 5 ล้านบาท ระยะเวลา 24 ปี เงินงวด 36,700 บาท ให้กับ น.ส. "ว." (ตัวย่อ) พี่สาวนักร้องดัง เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคาร ในช่วงต้นเดือนก.ย.2549 แต่ต่อมาผู้ขายไม่สามารถโอนหลักประกันได้ พี่สาวนักร้องดัง จึงยกเลิกขอสินเชื่อดังกล่าว
จากนั้นพี่สาวนักร้องดัง ได้มายื่นขอสินเชื่อเป็นครั้งที่ 2 ช่วงกลางเดือนธ.ค.2549 เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคาร วงเงิน 5,000,000 บาท ระยะเวลา 23 ปี เงินงวด 36,500 บาท ซึ่งนางเพ็ญศรี ได้อนุมัติสินเชื่อวงเงินดังกล่าวไป ในช่วงปลายเดือนม.ค.2550
ธอส. ระบุว่า ตามพยานหลักฐานของสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แก่ สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท "อ." ปรากฎข้อเท็จจริงว่า ก่อนที่ พี่สาวนักร้องดัง จะมายื่นกู้กับธนาคารในครั้งแรกนั้น พี่สาวนักร้องดัง มีส้ดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 30 มาตลอด แต่ตั้งในช่วงปี 2547 จนก่อนที่จะยื่นกู้ 8 วัน พี่สาวนักร้องดัง ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 80 รวมทั้งได้นำบัญชีเงินฝากของ บริษัท "อ." (ตัวย่อ) ที่ พี่สาวนักร้องดัง ถือหุ้นอยู่มาประกอบการยื่นกู้ หลังจากนั้น พี่สาวนักร้องดัง ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือร้อยละ 30 ซึ่งเป็นการลดสัดส่วนการถือหุ้นก่อนที่นางเพ็ญศรี จะทำการอนุมัติสินเชื่อ ครั้งแรก
ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ นางเพ็ญศรี ได้พิจารณาสัดส่วนการถือหุ้นของ พี่สาวนักร้องดัง ในสัดส่วนหุ้นร้อยละ 80 และพิจารณารายได้ของ พี่สาวนักร้องดัง ว่า ถือหุ้นอยู่จำนวน 24,000 หุ้น จาก 30,000 หุ้น แจ้งยอดขายเฉลี่ยเดือนละ 1,500,000 บาท และได้พิจารณาจากรายได้จากการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝาก บริษัท "อ." โดยที่ไม่มีหลักฐานบัญชีเงินฝากส่วนตัวของลูกค้า ราย พี่สาวนักร้องดัง มาประกอบการพิจารณา จึงไม่มีหลักฐานแสดงถึงการเชื่อมโยงรายได้ว่าลูกค้า ราย พี่สาวนักร้องดัง มีรายได้จริงตามที่แจ้ง และสอดคล้องกับกระแสเงินที่ได้จากกิจการตามที่วิเคราะห์หรือไม่ อย่างไร รวมทั้งไม่มีสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท หนังสือรับรองบริษัท ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญแสดงสัดส่วนการถือหุ้นที่นำมาคำนวณที่มาของรายได้มาใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้า
และในการอนุมัติสินเชื่อครั้งที่สอง ช่วงปลายเดือนม.ค. 2550 นางเพ็ญศรี ได้ใช้ข้อมูลเดิม และเอกสารหลักฐานเดิมที่ใช้ในการยื่นกู้ครั้งแรกมาประกอบการพิจารณาอนุมัติ ทั้งในส่วนของยอดขาย ผลกำไรของบริษัท การคำนวณรายได้ของลูกค้ารายนี้ ซึ่งมีการถือหุ้นเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงในเรื่องของจำนวนหุ้น และมิได้นำบัญชีเงินฝากส่วนตัวของลูกค้ารายนี้ มาประกอบการพิจารณาด้วย ส่งผลให้มีการวิเคราะห์รายได้สูงเกินความเป็นจริง
การกระทำดังกล่าวของ นางเพ็ญศรี โปร่งเมฆ เป็นการไม่เอาใจใส่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของธนาคาร ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบคำสั่ง แบบแผน และวิธีปฏิบัติของธนาคาร อันเป็นความผิดทางวินัยตามข้อบังคับธนาคารฉบับที่ 17 เรื่อง ระเบียบปฏิบัติของพนักงานธนาคารว่าด้วย วินัย การสอบสวน การลงโทษพนักงานและลูกจ้าง พ.ศ.2520 ข้อ 5 (7) และ (9)
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ก่อนหน้าที่ ธอส.จะออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยฉบับนี้ ป.ป.ช. ได้มีการส่งหนังสือ ที่ ปช.0019/2671 ลงวันที่ 18 ต.ค.2559 ถึง ธอส. แจ้งว่า ตามที่ได้รับการร้องเรียนเรื่องนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า จากการแสวงหาข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในการยื่นขอสินเชื่อของ พี่สาวนักร้องดัง กับธอส. พี่สาวนักร้องดัง ได้นำบัญชีเงินฝากของบริษัทฯ ที่ตนถือหุ้นอยู่มาใช้เป็นหลักฐานประกอบรายได้ในการขอสินเชื่อ โดยมิได้นำบัญชีเงินฝากส่วนตัวมาแสดง การที่นางเพ็ญศรีวิเคราะห์รายได้ตามเอกสารบัญชีเงินฝากของบริษัทฯ ที่ยื่นประกอบการขอกู้ดังกล่าว แล้วอนุมัติสินเชื่อบุคคลให้แก่ พี่สาวนักร้องดัง เป็นการอนุมัติสินเชื่อโดยไม่ถูกต้อง และไม่เป็นไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์หรือวิธีปฏิบัติของธอส.ที่กำหนดไว้ และมีมติให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัย ตามมาตรา 89/2 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2554
หากพิจารณาจากข้อมูลที่ปรากฎจะพบว่าในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย นางเพ็ญศรี โปร่งเมฆ กรณีการปล่อยสินเชื่อให้กับพี่สาวนักร้องดัง รอบสอง จะพบว่าเป็นไปตามหนังสือที่ได้รับแจ้งจาก ป.ป.ช. ตามที่ ธอส. ชี้แจง
แต่มีเงื่อนปมที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม 2 ประเด็น คือ
1. ในหนังสือ ป.ป.ช. ที่ ปช.0019/2671 ลงวันที่ 18 ต.ค.2559 ที่แจ้งถึง ธอส. (นำมาใช้เป็นเหตุผลหลักออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนรอบสอง) มีการระบุมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า มีมติให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัย ตามมาตรา 89/2 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นผลมาจากการแสวงหาข้อเท็จจริง
ขณะที่หนังสือ ป.ป.ช. ฉบับที่สอง ที่ส่งถึง นางเพ็ญศรี ที่ ปช. 0019/3407 ลงวันที่ 29 ธ.ค.2559 ระบุว่า กรณีที่ส่งเรื่องให้ ธอส. สอบสวน มิใช่กรณีการชี้มูลความผิดวินัย เมื่อผู้บังคับบัญชาได้รับเรื่องมีหน้าที่ต้องดำเนินการทางวินัยให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือระเบียบ ที่ใช้บังคับสำหรับการดำเนินการทางวินัยของหน่วยงาน ซึ่งหากเห็นว่า ธอส. เคยดำเนินการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว ไม่สามารถดำเนินการสอบสวนทางวินัยได้อีก สามารถโต้แย้งคำสั่งต่อธนาคาร และดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจที่จะแจ้งให้กรรมการผู้จัดการ ธอส. ยกเลิกคำสั่งได้
สรุปแล้ว จุดยืนของป.ป.ช. ในเรื่องนี้คืออะไร?
2. นางเพ็ญศรี ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยตนเองซ้ำครั้งที่สอง ในช่วงเดือน พ.ย.2559 ที่ผ่านมา เป็นการสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนซ้ำในประเด็นเดิมที่เคยสอบสวนไปแล้ว เมื่อปี 2554 และผลการสอบสวนที่ออกมาก็ไม่พบความผิดแต่อย่างใด
เมื่อพิจารณารายละเอียดในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย ที่ ว.84 /2559 ลงวันที่ 11 พ.ย.2559 กับนางเพ็ญศรี ครั้งที่สอง สาระสำคัญ คือ
1. สัดส่วนการถือครองหุ้นในบริษัทที่พี่สาวนักร้องดัง นำมาใช้ประกอบการยื่นขออนุมัติสินเชื่อ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เป็น 80 และลดกลับไปเหลือร้อยละ 30 ในภายหลัง
2. ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว นางเพ็ญศรี ได้พิจารณาสัดส่วนการถือหุ้นของพี่สาวนักร้องดัง ในสัดส่วนหุ้นร้อยละ 80 และพิจารณารายได้ของพี่สาวนักร้องดัง ว่าถือหุ้นอยู่จำนวน 24,000 หุ้น จาก 30,000 หุ้น แจ้งยอดขายเฉลี่ยเดือนละ 1,500,000 บาท และได้พิจารณาจากรายได้จากการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝาก บริษัท "อ." โดยที่ไม่มีหลักฐานบัญชีเงินฝากส่วนตัวของลูกค้ารายพี่สาวนักร้องดัง มาประกอบการพิจารณา จึงไม่มีหลักฐานแสดงถึงการเชื่อมโยงรายได้ว่าลูกค้ารายพี่สาวนักร้องดัง มีรายได้จริงตามที่แจ้ง และสอดคล้องกับกระแสเงินที่ได้จากกิจการตามที่วิเคราะห์หรือไม่ อย่างไร รวมทั้งไม่มีสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทหนังสือรับรองบริษัท ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญแสดงสัดส่วนการถือหุ้นที่นำมาคำนวณที่มาของรายได้ มาใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้า และในการอนุมัติสินเชื่อครั้งที่สอง ช่วงปลายเดือนม.ค. 2550 นางเพ็ญศรี ได้ใช้ข้อมูลเดิม และเอกสารหลักฐานเดิมที่ใช้ในการยื่นกู้ครั้งแรกมาประกอบการพิจารณาอนุมัติ ทั้งในส่วนของยอดขาย ผลกำไรของบริษัท การคำนวณรายได้ของลูกค้ารายนี้ ซึ่งมีการถือหุ้นเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงในเรื่องของจำนวนหุ้น และมิได้นำบัญชีเงินฝากส่วนตัวของลูกค้ารายนี้ มาประกอบการพิจารณาด้วย ส่งผลให้มีการวิเคราะห์รายได้สูงเกินความเป็นจริง
ประเด็นนี้ นางเพ็ญศรี ยืนยันกับสำนักข่าวอิศราเช่นกันว่า "ประเด็นการสอบสวนสัดส่วนหุ้น เป็นหนึ่งในประเด็นที่เคยถูกสอบสวนไปแล้วอย่างละเอียด และผลสรุปก็ออกมาว่าไม่ผิด"
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงใน ธอส. ว่า ในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง (ไม่ได้ใช่คำว่าความผิดทางวินัย) นางเพ็ญศรี ที่มีการสรุปผลเป็นทางการใน ปี 2554 มีการระบุถึงประเด็นเกี่ยวกับการเพิ่มลดสัดส่วนการถือครองหุ้น ของพี่สาวนักร้องดังไว้ด้วย และยังมีการสอบลึกไปถึงข้อมูล กรณีที่ นางเพ็ญศรี ผู้อนุมัติสินเชื่อเข้าไปถือหุ้นในบริษัท ของพี่สาวนักร้องดัง หลังการปล่อยสินเชื่อประมาณ1 ปีว่า เป็นเหตุความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือไม่ รวมทั้งการอนุมัติให้กับลูกหนี้รายนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ด้วยหรือไม่
โดยในการสอบสวนข้อเท็จจริงในช่วงปี 2554 คณะกรรมการสอบสวนฯ กำหนดไว้ 3 ประเด็นหลัก คือ 1. การอนุมัติสินเชื่อของ นางเพ็ญศรี เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ คำสั่งแบบแผนหรือไม่ 2. กรณีที่ นางเพ็ญศรี ผู้อนุมัติสินเชื่อเข้าไปถือหุ้นในบริษัท ของ พี่สาวนักร้องดัง ว่าเป็นเหตุความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือไม่ รวมทั้งการอนุมัติให้กับลูกหนี้รายนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ด้วยหรือไม่ และ 3.กรณีดังกล่าว มีมูลความรับผิดทางละเมิดหรือไม่
เบื้องต้นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสรุปว่า ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่า นางเพ็ญศรี ได้หุ้นมาโดยมิชอบหรือได้เอื้อประโยชน์ให้กับลูกหนี้รายนี้ อีกทั้งกรณีที่นางเพ็ญศรี ได้พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้ลูกหนี้ ไม่ขัดต่อระเบียบวิธีปฏิบัติ แบบแผนข้อบังคับของธนาคารแต่อย่างใด และไม่มีมูลความรับผิดทางละเมิด จึงเห็นควรให้ยุติการดำเนินการทางแพ่ง และมีมติเป็นเอกฉันท์ เสนอให้กรรมการผู้จัดการพิจารณา ทั้งเรื่องยุติการดำเนินการทางวินัย และไม่มีมูลความผิดทางอาญา เพราะการปฏิบัติหน้าที่ไม่ส่อไปในทางทุจริต
อย่างไรก็ตาม ในการสอบสวนเรื่องนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองผลสอบสวนมีความเห็นว่า หากธนาคารมีข้อมูลหรือพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งทำให้ข้อเท็จจริงที่ธนาคารฟังเป็นข้อยุติหรือเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญต่อการวินิจฉัย ธนาคารสามารถหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้
และที่น่าสนใจ ก็คือ นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. ที่ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย กับ นางเพ็ญศรี รอบสองนี้เคยปรากฎ ชื่อเป็นหนึ่ง คณะกรรมการกลั่นกรองสำนวนการสอบสวนกรณีนี้ในช่วงปี 2554 ซึ่งผลการสอบสวนก็ออกมาว่าไม่พบความผิดแต่อย่างใดด้วย
ดังนั้น ประเด็นนี้ จึงมีความน่าสนใจอยู่ที่ การมุ่งประเด็นตรวจสอบไปที่เรื่องของการเพิ่มลดสัดส่วนการถือครองหุ้น บริษัท อ. ของ พี่สาวนักร้องดัง ที่นำมาใช้ประกอบการถือหุ้น มีข้อมูลเชิงลึกที่แตกต่างไปจากผลการสอบสวนที่เคยดำเนินการไปแล้วหรือไม่? ถึงทำให้ธนาคารเมื่อรับเรื่องจาก ป.ป.ช. มา ก็ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย นางเพ็ญศรี ทันที และเมื่อนางเพ็ญศรี ทำการโต้แย้ง ก็ยังยืนยันที่จะสอบสวนต่อไป
ขณะที่ประเด็นกรณีที่ นางเพ็ญศรี ผู้อนุมัติสินเชื่อเข้าไปถือหุ้นในบริษัท ของ พี่สาวนักร้องดัง ว่า เป็นเหตุความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือไม่ รวมทั้งการอนุมัติให้กับลูกหนี้รายนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ด้วยหรือไม่ (เข้าไปถือหลังจากปล่อยสินเชื่อมา 1 ปีแล้ว) ซึ่งน่าจะเป็นจุดสำคัญของเรื่องนี้ และเป็นประเด็นเดียวที่ในผลการสอบสวนชุดเดิม ระบุว่า ไม่มีพยานหลักฐานที่เพียงพอจะพิสูจน์ได้
กลับไม่ปรากฎข้อมูลอยู่ในคำสั่งสอบสวนความผิดทางวินัยแต่อย่างใด?
และนั้นน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ นางเพ็ญศรี ต้องออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมด้วยการยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอความเป็นธรรม
พร้อมระบุว่า สาเหตุที่ตนถูกผู้บริหารระดับสูงของ ธอส. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงซ้ำจากเรื่องเดิมที่เคยถูกสอบสวนไปแล้ว ดังกล่าวน่าจะมีสาเหตุจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันกับผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่ง เกี่ยวกับการตรวจรับงานจัดซื้อระบบคอมพิวเตอร์ของ ธอส.ในอดีต และได้เข้ายืนหนังสือต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลการปล่อยสินเชื่อให้กับ พิธีกรชื่อดังรายหนึ่ง อักษาย่อ "ว" วงเงินหลักสิบล้านบาทเช่นกัน
นางเพ็ญศรี ย้ำว่า" ในขั้นตอนการดำเนินงานมีลักษณะเดียวกับกรณีการปล่อยสินเชื่อให้พี่สาวนักร้องดัง แต่มีจุดต่างอยู่ที่เอกสารหลักฐานที่นำมาใช้ในการปล่อยกู้อาจจะมีปัญหาเรื่องความไม่ถูกต้อง ซึ่งกรณีนี้ ผู้บริหารของ ธอส. กลับไม่ได้มีการสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหมือนกับกรณีของดิฉันแต่อย่างใด"
ส่วน "ข้อมูล-เหตุผล-หลักฐาน" ฝ่ายไหน จะเป็นจริง และมีน้ำหนักมากกว่ากัน
สาธารณชนโปรดจับตามองต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด!