จากทางเลียบเจ้าพระยา ถึง 3 ปีคสช. รัฐเข้าใจการมีส่วนร่วม = “ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม”
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของสิทธิชุมชน สิทธิที่จะพัฒนาให้มั่นคงและยั่งยืน สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 เราไม่ได้ต้องการแค่ความมั่งคั่ง เราต้องการความมั่นคง ความยั่งยืนในการพัฒนา ไม่ใช่ทำเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
ย้อนกลับไปวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แถลงว่า คสช. มุ่งดำเนินการปฏิรูปประเทศในทุกด้านก่อนมีการเลือกตั้ง โดยหนึ่งในแผนพัฒนาประเทศที่จะดำเนินการคือ คือ โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง เพื่อบริหารจัดการน้ำ และแก้ไขปัญหาจราจรอย่างเป็นระบบ
จากวันนั้นมาถึงวันนี้ 23 พ.ค.2560 กว่าสามปีแล้วสำหรับโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะโดนภาคประชาสังคมต่อต้านมาโดยตลอดทั้งประเด็นเรื่องแบบ การรับจ้างออกแบบของสถาบันการศึกษา การขาดการมีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความเห็น และอื่นๆ อีกมากมาย
จนปัจจุบัน ภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานครเปิดเผยว่า ทาง กทม.ได้ดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จ และนำเสนอรูปแบบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงอยู่ระหว่างคณะกรรมการราคากลางจัดทำราคากลาง
ช่วงหนึ่งของงานเสวนา "สายนำ้ไม่ไหลกลับ"จะหยุดยั้งทางเลียบแม่นำ้เจ้าพระยาได้อย่างไร นพ.นิรันดร์ พิทักษ์ วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วิพากษ์โครงการนี้เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 คสช. โดยระบุประการแรกว่า ทางเลียบเจ้าพระยาเป็นโครงการขนาดใหญ่ แค่นำร่อง 14 กิโลเมตร เฟสแรกใช้เงินประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท กระทบต่อชุมชนประมาณ 30 ชุมชน เพราะฉะนั้นประเด็นที่มีความสำคัญที่เราตกลงว่าจะเป็นหลักประกันในเรื่องประโยชน์ของสาธารณะ คือประชาชน คืออะไร
“ลำน้ำเจ้าพระยา เป็นผลประโยชน์ของคนไทยทั้งชาติ เมืองไทยเป็นเวนิสตะวันออก เป็นเมืองลุ่มน้ำ การจะทำอะไรก็ตาม ต้องนึกถึงสิทธิการมีส่วนของประชาชน” นพ.นิรันดร์ ระบุ และมองว่า พูดภาษาชาวบ้านคือ ต้องฟังเสียงประชาชน เพราะประชาชนเท่านั้นจะเป็นหลักประกันอยู่สองเรื่อง
ประการแรก หลักประกันว่าโครงการ 1.4 หมื่นล้านบาทประชาชนจะได้ ต้องฟังเสียงชุมชน ต้องฟังเสียงนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ
“เราไม่ได้ลุกขึ้นมาด่าท่าน ไม่ได้ลุกขึ้นมาล้มท่าน แต่ท่านต้องนึกถึงการมีส่วนร่วม และการมีส่วนร่วม ของประชาชนจะเป็นหลักประกันว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้น พวกเขาจะได้รับ”
ประการที่สอง การมีส่วนร่วมของประชาชน จะเป็นหลักประกันไม่ใช่คนที่อยู่รอบข้างๆ คนที่กำลังเกาะท่านนายกฯในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐ หรือธุรกิจ มาโกงบ้านโกงเมือง เพราะที่ผ่านมาคนที่โกงบ้านเมืองก็มาเกาะคนที่มีอำนาจ
"ขณะนี้ท่านเองเป็นอำนสจรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจสูงสุด ใช้ ม.44 แล้วจะมีใครที่จะมาเกาะท่าน นักวิชาการอย่างผม ชาวบ้านหรือ
ดังนั้นถ้าท่านไม่รับฟังเสียงของชาวบ้านที่นึกถึงประโยชน์ของสาธารณะ ไปฟังเสียงของผู้รับเหมาก่อสร้าง ฟังเสียงนายทุน ที่ประกอบธุรกิจบนผลประโยชน์ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา"
นพ.นิรันดร์ ชี้ว่าตอนนี้บ้านเมืองอยู่ในลักษณะของอำนาจ การโกงจะเกิดขึ้น สองลักษณะ
(1) เมื่อมีอำนาจสูงสุด เพราะอำนาจผูกขาด คือการทุจรติสมบูรณ์แบบ
(2) ใช้ดุลพินิจ คือการพิจารณาความเหมาะสม ความถูกต้อง ความเป็นธรรมไม่คดโกง
"ถ้าเราเชื่อนายกฯประยุทธ์ ดุลพินิจท่านอยู่ไหน ท่านเคยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาไหม ท่านเคยใช้แม่น้ำบ้างไหม ท่านเคยนั่งเรือข้ามฝากไหม ไม่เคย
ฉะนั้นดุลพินิจจึงควรได้มาจากชุมชน จากนักวิชาการ ท่านจึงสามารถตัดสินใจได้ถูก ท่านผู้ว่ากรุงเทพฯเช่นเดียวกัน ต้องฟังชุมชน สิ่งเหล่านี้อำนาจที่ได้รับมอบจากประชาชน จะใช้อำนาจที่ถูกต้องเป็นธรรม ไม่ปล่อยให้คดโกง
วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นจึงมาจากอำนาจที่ผูกขาด บวกกับการใช้ดุลพินิจที่คลาดเคลื่อนไม่เห็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เมืองไทยเรามีจุดอ่อนในเรื่องนี้”
นพ.นิรันดร์ ยืนยัน สิ่งที่เป็นความเป็นผิดพลาดของรัฐในวันนี้คือการไม่เข้าใจการมีส่วนร่วม คิดว่าการมีส่วนร่วมคือ “ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม”
"ชอบพูดว่า ผมจะสร้างสิ่งนี้ ใครไม่เห็นด้วยคัดค้าน ยิ่งตอนนี้หากไปคัดค้านจะโดนกล่าวหาว่า กระทบต่อความมั่นคง นี่คือจุดที่เป็นอันตราย
เรื่องทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่มีเรื่องความมั่นคงเลย เป็นเรื่องของชีวิต จิตวิญญาณของคนลุ่มน้ำ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ธุรกิจ แต่ถ้าท่านจัดการปัญหานี้ไม่ได้ ความเดือดร้อน จะกระทบต่อความมุ่นคงของรัฐบาล ความเชื่อมั่น ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องทำคือ เปิดข้อมูลข่าวสาร ต้องทำให้เกิดการแสดงความเห็น มีส่วนร่วมในการตัดสนใจ
นี่คือกระบวนการสำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าท่านพยายามบอกว่า เลือกตั้งเสร็จเเล้วค่อยเป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าท่านไม่ทำตอนนี้บ้านเมืองก็เหมือนย้อนกลับไป 30 ที่เเล้ว ที่เต็มไปด้วยการทุจริต คอร์รัปชั่น เพราะฉะนั้นท่านต้องยอมรับสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน"
ประการที่สองที่ นพ.นิรันดร์ ชี้ให้เห็นคือ สิ่งที่นายกฯประยุทธ์ ไปเซ็นไว้ที่ องค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือนธันวาคม 2558 คือต้องการการพัฒนาที่มั่นคงยั่งยืน มาผูกกับเรื่องของสิ่งที่เรียกว่า ไทยเเลนด์ 4.0
"ท่านตระหนักดีว่า ต้องการทำให้ประเทศไทย พ้นจากกับดักสามเรื่อง(1) กับดักเรื่อง ความเหลื่อมล้ำ (2)กับดักรายได้ปานกลาง (3)กับดักเรื่องของความไม่สมดุล"
โครงการทางเลียบฯ 1.4 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ประชาชาติพบวิกฤติทางเศรษฐกิจ มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ
นพ.นิรันดร์ ได้พยายามสะท้อนความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยโดยเปรียบเทียบอย่างเห็นภาพด้วยว่า ปัจจุบันเรามีคนรวย 20%แรก ใน100 คน มีสินทรัพย์รวมประมาณ 55% ขณะที่ คนจน20% ท้ายสุด มีสินทรัพย์รวมกันแค่ 4% มหาเศรษฐีของไทยอันดับหนึ่งมีที่ดิน 6 แสนไร่ ขณะที่ประชาชนเกษตรกร ไม่มีที่ดินทำกิน 2 ล้านครอบครัว
ไม่แปลกเลย การทำโครงการตัวนี้ราคา 1.4 หมื่นล้านบาทนอกจากไม่เกิดผลดีต่อชุมชนแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว เฉกเช่นเดียวกับ เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา
“การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน คือการพัฒนาที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเหลือให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานเอาไปใช้ต่อได้”
ถ้าทางเลียบเจ้าพระยาเกิดขึ้น นพ.นิรันดร์ มองว่า จังหวัดอุบลราชธานี อุทัยธานี และอีกหลายจังหวัดสร้างมาแล้ว ปรากฏว่าน้ำท่วมในตัวเมือง จนประชาชนทนไม่ได้ จังหวัดต้องทำทางตัดถนน ให้น้ำไหลออกไป เพราะอะไร อุบลฯก็เหมือนกรุงเทพฯคือเป็นจังหวัดรับน้ำปลายน้ำ ถ้ายิ่งไปสร้างเขื่อนริมตลิ่ง ไปสร้างถนนตลอดชายฝั่งแม่น้ำ ก็คือการกั้นน้ำ น้ำท่วมเพราะหาทางออกไม่ได้ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่า ถ้าจะไม่ให้น้ำท่วมเมืองอุบลฯ ต้องห้ามไม่ให้มีการก่อสร้างถนนเลียบลำน้ำมูล
และกรุงเทพฯก็เช่นเดียวกัน
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของสิทธิชุมชน สิทธิที่จะพัฒนาให้มั่นคงและยั่งยืน สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0
“เราไม่ได้ต้องการแค่ความมั่งคั่ง เราต้องการความมั่นคง ความยั่งยืนในการพัฒนา ไม่ใช่ทำเพียงชั่วครั้งชั่วคราว”
สิ่งที่เป็นหลักประกัน คือต้องมีการศึกษาวิจัย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสุขภาพของชุมชน ขณะนี้หมอ กระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวนำในการวิเคราะห์ ผลกระทบของสุขภาพ และเราไปไกลถึงขั้นว่า เราต้องวิเคราะห์ต่อสิ่งเรียกว่า Public scoping คือการกำหนดยุทธศาสร์การพัฒนาที่ร่วมกับชุมชน
"ถ้าทำอย่างนี้ได้ โครงการนี้ ผมไม่ได้หมายความว่าต้องล้มทั้งหมด แต่อาจต้องมีการปรับเป็นบางจุด จุดไหนทำได้ แบบไหน ตรงนี้เองคือสิ่งที่จะสะท้อนว่าเป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับมิติของชุมชน ไม่ได้มองแค่เพียงวัตถุต้องมองว่านั่นคือลุ่มน้ำเจ้าพระยาสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงจะเป็นหลักมั่นคง” นพ.นิรันดร์ กล่าวทิ้งท้าย.
อ่านประกอบ
สมัชชาแม่น้ำยันค้านสุดตัว ยุติโครงการทางเลียบเจ้าพระยา
คุณค่าวัฒนธรรมสูญหาย โจทย์ใหญ่ “ทางเลียบเจ้าพระยา” ไม่เชื่อมโยงชุมชน
มท.1 ยันทางเลียบเจ้าพระยา งบฯ ไม่ถึง 1.4 หมื่นล้าน โครงสร้างสูงน้อยกว่าเขื่อนริมฝั่ง
กลุ่มสมัชชาแม่น้ำ เดินหน้ายับยั้ง โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
เหล่านักวิชาการรวมตัว ค้านทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จี้สจล.ถอนตัว
2 ศิลปินดังร่วมค้านโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
คนดังร่วมค้าน "หยุดทางเลียบก่อนที่จะสาย"
พื้นที่ริมเจ้าพระยาพัฒนาได้ 'ไกรศักดิ์' แนะต้องดูบริบทให้เข้ากับชุมชน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก facebook pageFriends of the River