นายกฯปัดขึ้นบัญชี BRN "ก่อการร้าย" เมินดึงอาเซียนร่วมดับไฟใต้
นายกรัฐมนตรีตอบคำถาม 2 ประเด็นสำคัญที่ "ทีมข่าวอิศรา" ส่งไปยังทีมงานของทำเนียบรัฐบาล ทั้งข้อเสนอจากบางฝ่ายที่ต้องการให้ขึ้นบัญชีบีอาร์เอ็นเป็น "องค์กรก่อการร้าย" และการดึงชาติอาเซียนเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังสถานการณ์โดยรวมยังไม่ดีขึ้น ทั้งๆ ที่ผ่านมานานกว่า 13 ปีแล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตอบคำถามทั้ง 2 ข้อนี้ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 16 พ.ค.60
"การประกาศให้เป็นอะไรอย่างที่เสนอมา (ให้บีอาร์เอ็นเป็นองค์กรก่อการร้าย) ถ้าประกาศมากเกินไป จะมีผลดีผลเสียต่อการทำงานของเราหรือเปล่า เราบังคบใช้กฎหมายของเราในเรื่องของการกระทำผิด ในลักษณะการใช้ยุทธวิธีต่างๆ ที่ทำให้เกิดความรุนแรง ก็ผิดกฎหมายอาญาของเราอยู่แล้ว การที่เราจะเอาองค์กรต่างๆ เข้ามาในประเทศไทยมันไม่สมควรกับการแก้ไขปัญหา เพราะเขาอาจจะไม่เข้าใจปัญหาของเราไม่เพียงพอ เขาก็จะใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบที่แก้ในภูมิภาคอื่นๆ ประเทศอื่นๆ เราเห็นตัวอย่างหรือไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นตามมา"
"วันนี้เราแก้ปัญหาของเรา หลายอย่างมีปัญหาซับซ้อน ไม่ใช่เฉพาะการก่อเหตุรุนแรงอย่างเดียว มีผลประโยชน์ทางธุรกิจบ้าง ยาเสพติด ของหนีภาษีต่างๆ ถ้าเหตุการณ์วุ่นวาย คนเหล่านี้ก็เคลื่่อนไหวได้สะดวก มีหลายปัญหาซ้อนกันอยู่ เราก็แก้ปัญหามาตามลำดับ ขณะนี้ได้เพิ่มความเข้มงวดลงไป"
"สิ่งสำคัญคือประชาชนในพื้นที่เข้าใจปัญหา และให้ความร่วมมือกับภาครัฐมากขึ้น ถ้าเราไปให้เครดิตกับฝ่ายโน้นมากขึ้น ถามว่าอะไรจะกลับมา แรงกดดันด้านนี้จะมากขึ้นไหม การใช้กำลังกดดันฝ่ายรัฐจะมากขึ้นหรือไม่ องค์กรที่กล่าวมาแล้วเป็นองค์กรที่มีรายชื่ออยู่แล้ว ไม่ต้องเสนอ เพียงแต่เราไม่ต้องไปยกระดับเขาขึ้นมา มันเป็นการเปลี่ยนแปลงคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ขององค์กรต่างๆ เหล่านี้ มันเป็นความละเอียดอ่อน"
"สำหรับอาเซียนมีหลักการอยู่แล้วว่า ปัญหาของประเทศใดก็ให้ประเทศนั้นแก้ปัญหาไป โดยอาเซียนพร้อมให้การสนับสนุน วันนี้ก็มีการอำนวยความสะดวกอยู่แล้วในการพูดคุยเวทีต่างๆ ที่ทำในประเทศเพื่อนบ้านของเรา ต้องแก้กันไปทุกระบบ สิ่งสำคัญอยากให้มองงานด้านการพัฒนา จะทำให้ประชาชนไม่ไปหลงเชื่อในคำบิดเบือน วันนี้ผมคิดว่าเขาไม่เชื่อแล้ว แต่ประชาชนยังหวาดกลัว ฉะนั้้นมาตรการทางทหารและการบังคับใช้กฎหมายก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง และเน้นการพัฒนามากขึ้นยิ่งขึ้น"
"ผมได้อนุมัติโครงการต่างๆ ในการให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น การจัดตั้งโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือโรงไฟฟ้าชีวมวล เราจะส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ให้ประชาชนเป็นเจ้าของ เพราะเมื่อมีความเป็นเจ้าของ ประชาชนก็จะรักและปกป้องพื้นที่ให้ปลอดภัย"
"ผมไม่อยากให้นักวิชาการหรือใครต่างๆ เสนอในแง่มุมเดียว เห็นแล้วว่าการแก้ปัญหาในหลายๆ ประเทศที่มีหน่วยงานภายนอกหรือต่างประเทศเข้ามามันไม่จบ เพราะ stakeholder (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ทั้งหมดของเราไม่เหมือนที่อื่น เรามีหลายส่วน หลายปัญซับซ้อน การเมืองท้องถิ่นอะไรก็มี บ้านเราแยกไม่ออก ต้องคิดว่าจะทำประชาธิปไตยอย่างไรให้เป็นประชาธิปไตยที่ถูกต้อง"
---------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพนายกฯ จากเว็บไซต์รัฐบาลไทย
อ่านประกอบ :
ได้เวลาตีตรา "บีอาร์เอ็น" องค์กรก่อการร้าย...หรือยัง?
ดร.นิชานท์ : พลังอาเซียนดับไฟใต้ หาจุดเชื่อมต่อรัฐ-ผู้ก่อเหตุรุนแรง