ติดตั้ง71 ปี ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ ละเลงงบร้อยล.! สตง.จี้กรมอุตุฯทบทวนสถานีฝนอำเภอ
เปิดรายงานตรวจสอบงบพัฒนาบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจวัดพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับเต็ม สตง. พบปัญหาโครงการสถานีฝนอำเภอ จัดซื้อเครื่องมือติดตั้งกว่า 71 ปี ไม่ได้ใช้ประโยชน์ภารกิจคุ้มค่า ข้อมูลตรวจวัดที่จัดเก็บได้คลาดเคลื่อน ไม่น่าเชื่อถือ เพิ่งติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดฝนอัตโนมัติ 930 สถานี รวมวงเงิน 240.49 ล้านบาท หวั่นละเลงงบ ร่อนหนังสือจี้อธิบดีฯ ทบทวนแล้ว
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานตรวจสอบการดำเนินงานการพัฒนาและบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า นับตั้งแต่ปี 2555-2559 มีการจัดหาติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ระบบตรวจวัด ระบบเตือนภัยประเภทต่างๆ จำนวน 3,070.38 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.42 ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไปทั้งหมด 6,089.54 ล้านบาท
พบจุดอ่อนเกี่ยวกับระบบการซ่อมแซมดูแล บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์ที่อาจไม่เกิดความคุ้มค่า เครื่องมือไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 8 ประเภท 1,192 รายการ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1,055.29 ล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนได้ อาทิ แบตเตอรี่ที่เสาวัดลมของเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ ที่มีความเกี่ยวข้องและมีความสำคัญต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน เป็นต้น พร้อมระบุว่า เครื่องมือที่ตรวจสอบพบว่ามีปัญหาที่อยู่ในสภาพชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ ส่วนใหญ่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ขณะที่สถานีที่ดูแลไม่สามารถระบุระยะเวลาที่เกิดการชำรุดเสียหายที่ยังไม่ได้รับการซ่อมแซมแก้ไข เนื่องไม่มีระบบการจัดทำทะเบียนคุมการซ่อมแซมบำรุง รวมทั้งเครื่องมือมีสภาพเก่า อายุการใช้งานยาวนาน เกิดการชำรุดบ่อยครั้ง
(อ่านประกอบ : พบเครื่องตรวจอากาศกรมอุตุฯชำรุดใช้งานไม่คุ้มค่าพันล.! สตง.จี้อธิบดีแก้ไขปัญหาด่วน)
ล่าสุดผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลรายงานผลตรวจสอบฉบับเต็ม พบว่า สตง.ได้ระบุข้อมูลผลการตรวจสอบในเรื่องการบริหารการใช้ประโยชน์เครื่องมือตรวจวัดบางรายการที่อาจเกิดความไม่คุ้มค่าและเครื่องมือตรวจวัดบางรายการไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์
โดยพบว่า จากการสุ่มตรวจสอบรายการเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศเครื่องมือตรวจวัดบางรายการไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าในภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยา ประกอบกับเครื่องมือมีการติดตั้งและใช้งานมานานโดยต้องอาศัยบุคลากรในการตรวจวัดจัดเก็บข้อมูลเป็นประจำทุกวัน หรือเป็นแบบ Manual ในขณะที่ปัจจุบันได้มีการติดตั้งเครื่องมือที่ทันสมัยแบบอัตโนมัติที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้อย่างเป็นปัจจุบันมากกว่า หรือสถานีตรวจวัดอากาศบางสถานีไม่สามารถใช้งานเครื่องมือตรวจวัดที่เป็น วัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งสถานีได้ เช่น สถานีอุตุนิยมวิทยาอุทก หรือสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร เป็นต้น รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 7.18 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมถึงรายการเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เนื่องจากเหตุชำรุดเสียหายและรอการซ่อมแซมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปประเด็นปัญหาได้ดังนี้
1. เครื่องมือตรวจวัดสถานีฝนอำเภอจำนวนทั้งสิ้น 1,197แห่ง รวมมูลค่าประมาณ 22.45 ล้านบาท ติดตั้งมานานไม่น้อยกว่า 71 ปีไม่ได้ใช้ประโยชน์ในภารกิจอย่างคุ้มค่า และข้อมูลการตรวจวัดที่จัดเก็บได้โดยอาศัยเจ้าหน้าที่ตรวจวัดฝนที่แต่งตั้งขึ้นอาจมีความคลาดเคลื่อน ไม่ครบถ้วน และไม่น่าเชื่อถือ ในขณะที่มีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดฝนอัตโนมัติ (930 สถานี) รวมมูลค่า 240.49 ล้านบาท กระจายทั่วประเทศ รวมถึงอาจเกิดความไม่คุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินปีละประมาณ 2.00 ล้านบาท สำหรับค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจวัดฝน ทั้งนี้ไม่รวมมูลค่าอุปกรณ์ที่ต้องใช้ทดแทนกรณีชำรุดเสียหาย
ทั้งนี้ สตง.ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาให้ทบทวนผลการดำเนินงานตามโครงการสถานีฝนอำเภอ และรายการค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานให้ราชการโครงการสถานีฝนอำเภอ ตามหนังสือที่ ตผ 0015/3283 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2558 เนื่องจากพบประเด็นปัญหาความเสี่ยง ดังนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลการตรวจวัดของสถานีฝนอำเภออย่างคุ้มค่า การรายงานข้อมูลผลตรวจวัดของสถานีฝนอำเภอไม่ครบถ้วนและข้อมูลที่จัดเก็บมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดความคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง และไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าสถานีฝนอำเภอส่วนใหญ่ไม่มีการรายงานข้อมูลจากการตรวจวัดตามแนวทางที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วนและข้อมูลปริมาณน้ำฝนที่ได้จากการตรวจวัดของสถานีฝนอำเภอส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดความคลาดเคลื่อน ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องการติดตั้งเครื่องมือส่วนใหญ่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เครื่องมือตรวจวัดอยู่ในสภาพชำรุด ไม่พร้อมสำหรับการใช้งาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตรวจวัดฝนที่ได้รับแต่งตั้งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกอบรมการตรวจวัดฝน การเก็บข้อมูล และการรายงาน ประกอบกับขาดการติดตามตรวจเยี่ยม สอบทานข้อมูลอย่างเคร่งครัดจากกรมอุตุนิยมวิทยา อาจทำให้ส่งผลกระทบต่อความถูกต้อง เชื่อถือได้ของข้อมูล
2. สถานีอุตุนิยมวิทยาอุทก จากการตรวจสอบ จำนวน 9 สถานี พบว่า แต่ละสถานีมีการตรวจอากาศทั่วไปโดยมีเครื่องมือติดตั้งที่สนามอุตุนิยมวิทยาเช่นเดียวกับสถานีตรวจอากาศผิวพื้น และมีเครื่องมือตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาอุทกโดยเฉพาะสำหรับวัดระดับน้ำและความเร็วกระแสน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์รวมมูลค่าไม่น้อยกว่า 5.17 ล้านบาท ทั้งนี้บางรายการไม่เคยมีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ในการวัดระดับน้ำและกระแสน้ำแต่อย่างใด ได้แก่ เครื่องวัดระดับน้ำ แบบจดบันทึก (อัตโนมัติ) รวมมูลค่า 1.99ล้านบาท และเครื่องวัดกระแสน้ำพร้อมอุปกรณ์ รวมมูลค่า 2.58 ล้านบาท
3. สถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร จากการที่เครื่องมือตรวจวัดมีสภาพชำรุดไม่ได้รับการซ่อมแซมแก้ไข ส่งผลให้การดำเนินงานไม่สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร อีกทั้งส่วนใหญ่มีลักษณะการตรวจวัดเช่นเดียวกับสถานีตรวจอากาศผิวพื้น หรือเป็นการตรวจอากาศทั่วไปเป็นหลักประกอบกับบางสถานีไม่สามารถใช้งานเครื่องมือตรวจวัดที่มีวัตถุประสงค์โดยตรงในการใช้ข้อมูลสำหรับการเกษตรได้ ในขณะที่อุปกรณ์ที่ติดตั้งส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานนาน การบริหารจัดการมีต้นทุนค่อนข้างสูง ประกอบกับเครื่องมือการตรวจวัดด้านการเกษตรปัจจุบันมีการติดตั้งที่สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดในบางจังหวัด ทั้งนี้หากการดำเนินงานไม่สอดคล้องตามวัตถุประสงค์หลักอย่างแท้จริงจะทำให้การใช้ทรัพยากรโดยไม่เกิดความคุ้มค่า และไม่เกิดการพัฒนาบุคลากรที่ต้องปฏิบัติงานประจำเฉพาะสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร
เบื้องต้น สตง.มีข้อเสนอแนะ ให้อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. ให้มีการสำรวจ ประเมินผลการใช้ประโยชน์ หรือสถานะการใช้งาน ณ ปัจจุบันของเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศทุกประเภทที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักในส่วนกลางศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคและสถานีอุตุนิยมวิทยาทุกแห่ง เพื่อทราบถึงรายการ จำนวนการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ สภาพความพร้อมของเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อวางแผนการบริหารจัดการด้านเครื่องมืออุปกรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาให้เป็นไปในทิศทางที่จะเกิดประโยชน์ในภารกิจของหน่วยงานอย่างคุ้มค่าเหมาะสม รวมถึงกรณีเครื่องมือที่ชำรุดเสื่อมสภาพที่อาจต้องมีการจำหน่ายต่อไป
2. ให้พิจารณาทบทวน ความจำเป็น ของเครื่องมือตรวจวัดทั้งสถานีฝนอำเภอ เครื่องมือตรวจวัดของสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร และสถานีอุตุนิยมวิทยาอุทก เพื่อทราบว่ามีความสอดคล้องเหมาะสมของการดำเนินงานสามารถตอบสนองภารกิจของหน่วยงานได้เพียงใด เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของแต่ละสถานีเพียงใด หรือยังมีความจำเป็นต่อการใช้งานต่อไปหรือไม่ในขณะที่มีเครื่องมือรายการอื่นที่อาจมีความทันสมัย และสามารถใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเพื่อกำหนดแนวทางและวางแผนการบริหารจัดการเครื่องมือตรวจวัดของแต่ละสถานีให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสม ไม่เป็นภาระด้านบุคลากร ตลอดจนการดูแล บำรุงรักษา และเพื่อสามารถใช้ในการปฏิบัติงานในภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยาได้อย่างคุ้มค่าต่อไป