บุญเก่าใกล้หมด ‘กอบศักดิ์’ เผยรัฐดัน EEC สร้างบุญใหม่-ทุกโครงการต้องผ่านอีไอเอ
ส่องอีสเทิร์นซีบอร์ด เฟส 2 ‘กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ เผยนำดอกผลจัดตั้ง ‘กองทุนพัฒนาชนบท’ เร่งหาแหล่งน้ำรองรับ เล็งผันน้ำจากเขื่อนกัมพูชา ยันทุกโครงการต้องผ่านอีไอเอ ด้านนักวิชาการ มก. ให้จับตา ร่าง กม.มียกเลิก มาตรา 5 หรือไม่ แนะ รบ.ต้องประกาศเขตอนุรักษ์ สวล.-วัฒนธรรม
วันที่ 6 พฤษภาคม 2560 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา ‘ส่องโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก’ ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ด้านการเงินและตลาดทุน กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกติดลบ 2% ตั้งคำถามเกิดอะไรขึ้นกับประเทศที่เคยส่งออกโต 20-30% นั่นแสดงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังเป็นสัญญาณอันตราย เพราะ ‘บุญเก่า’ กำลังจะหมด ฉะนั้น จำเป็นต้องสร้าง ‘บุญใหม่’ ขึ้นมา จากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor:EEC) หรือรู้จักกันดีว่า เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) เฟส 2 ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศต่างให้ความสนใจ โดยเฉพาะความร่วมมือพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบิน และขยายรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ส่วนประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไรจากโครงการ EEC ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ...จะกำหนดให้จัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาชนบท เพื่อนำดอกผลที่ได้รับจากการส่งเสริมมาเข้ากองทุนฯ และนำไปพัฒนาพื้นที่โดยรอบ หลังจากประชาชนต้องประสบปัญหาสารพัด เช่น มลพิษ รถติด แย่งอาหาร เป็นต้น จากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เฟสแรก
“ร่าง พ.ร.บ.กำลังอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งยืนยันว่า ทุกโครงการที่จะลงทุนต้องผ่านการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ( Environmental Impact Assessment:EIA) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเช่นเดิม แต่รัฐบาลขอให้ศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี มิฉะนั้นประเทศคู่แข่งจะวิ่งแซงไทยไปข้างหน้า”
นายกอบศักดิ์ กล่าวถึงการขยายให้สิทธินักลงทุนต่างชาติเช่าที่ดินนาน 99 ปีว่า ไม่เป็นความจริง เรายังยึดหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 กำหนดระยะเวลาให้เช่าได้ไม่เกิน 50 ปี เมื่อครบกำหนดให้ต่อได้ไม่เกิน 49 ปี และจะเร่งหาแหล่งน้ำ โดยผันน้ำมาจากเขื่อนในกัมพูชา
ด้านดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวถึงข้อกังวลกรณีกำหนดระยะเวลาให้เช่าที่ดินได้ไม่เกิน 50 ปี ขยายระยะเวลาไม่เกิน 49 ปี ต้องจับตาว่า ในร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาแก้ไขของคณะกรรมการกฤษฎีกา จะเขียนให้ยกเลิก มาตรา 5 พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 หรือไม่ ซึ่งบัญญัติว่า ในการที่จะได้รับการเช่าที่ดินในเนื้อที่เกิน 100 ไร่ ต้องได้รับการอนุมัติจากอธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ หากยกเลิกจริง เนื้อหาใหม่จะเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการเป็นอันดับแรก คือ ต้องประกาศเขตอนุรักษ์คุ้มครองพิเศษสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ทำสำเร็จเชื่อว่าจะลดกระแสต่อต้านโครงการ EEC ให้เบาลงได้ และไม่เห็นด้วยว่า การจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาชนบทจะเพียงพอต่อการทำให้ประชาชนในเขตพัฒนาดังกล่าวได้รับประโยชน์จากการลงทุน แต่สิ่งควรดำเนินการควบคู่ไปด้วย คือ การพัฒนาโอกาส ไม่ว่าจะเป็น การศึกษา สำหรับคน GEN C (ยุคมิลเลนเนียม) เคลื่อนย้ายคนไทยที่มีขีดความสามารถพิเศษ ในวิชาชีพต่าง ๆ ให้ได้รับประโยชน์ พัฒนาเมืองเป็นเขตวัฒนธรรมที่มีความพิเศษ ผลักดันให้เกิดฐานการวิจัย และต้องสร้างวันสต๊อปเซอร์วิสให้แก่ประชาชนที่อาจห่วงใยโครงการเหล่านี้ด้วย
นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.ชลบุรี กล่าวว่า EEC เป็นโครงการที่ดี และจะไม่กระทบกับแหล่งน้ำในพื้นที่ เพราะภาคตะวันออกมีแหล่งน้ำเพียงพอ แต่สิ่งที่น่าห่วง คือ เมื่อมีโครงการเกิดขึ้น เมืองจะหนาแน่น ทำให้ระบบสาธารณูปโภคที่มีอยู่ไม่รองรับ โดยเฉพาะระบบการขนส่งทางบก แม้จะมีมอเตอร์เวย์ แต่ต้องยอมรับ ถนนตามซอยต่าง ๆ ไม่ถูกพัฒนาเพิ่มขึ้น
ขณะที่มีประชาชนเข้ามาอยู่ร่วมมากขึ้น เกิดการใช้เส้นทางทับซ้อนกันระหว่างรถเทนเลอร์ รถบรรทุก รถยนต์ ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยของคนในพื้นที่ จึงอยากให้มีการพัฒนาโครงการถนนสายบูรพาวิถีช่วงต่อขยาย มิฉะนั้น การคมนาคมในพื้นที่ 3 จังหวัด จะวิกฤติ และต้องเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมผลักดันโครงการอย่างเป็นรูปธรรมและบูรณาการ
ขณะที่นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ กล่าวว่า โครงการ EEC ควรผลักดันให้สำเร็จตั้งนานแล้ว และเชื่อว่า ระบบราง จะตอบโจทย์ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมโยงระบบรางให้มากที่สุด ระหว่างสนามบินอู่ตะเภา ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ทำให้เกิดทางเลือกให้นักลงทุน อย่างไรก็ตาม มองว่า ภาคตะวันออกเป็นทำเลที่ดีในการดำเนินโครงการ จึงไม่เห็นว่า เราจะคัดค้านกันเรื่องอะไร เพราะนักลงทุนชาวต่างชาติให้ความสนใจ .
อ่านประกอบ:โชติช่วงชัชวาล EEC : ยุทธศาสตร์ 1.5 ล้านล้าน ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก
ก.อุตฯ เตรียมตั้ง คกก.เฉพาะกิจ EEC ศึกษาความเป็นไปได้ ถมทะเล-เวนคืนที่ดิน
เลขาธิการ EEC เร่งกรมชลฯ วางแผนจัดการน้ำ-ยันช่วงขยายตัว 5 ปีแรก ไม่กระทบ
ฟังมุมมอง ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ให้ต่างชาติ “เช่ายาว 99 ปี” ขณะคนในชาติไม่มีที่ดินทำกิน