เลขาธิการ EEC เร่งกรมชลฯ วางแผนจัดการน้ำ-ยันช่วงขยายตัว 5 ปีแรก ไม่กระทบ
เลขาธิการ EEC เผยระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกใช้ที่ดินแค่ 5 หมื่นไร่ ส่วนใหญ่เป็นของกลุ่มทุน เวนคืนเกษตรกรน้อย ขณะที่กรมชลฯ เร่งวางแผนจัดการน้ำพื้นที่-ก.พลังงาน เสนอสร้างเขื่อนในกัมพูชา ยัน 5 ปีแรก น้ำ-ไฟ มีเพียงพอ
วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor :EEC) เปิดเผยกับสื่อมวลชนถึงทิศทางการดำเนินยุทธศาสตร์ EEC โดยขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ...ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เเล้ว แต่ยังมีข้อปรับปรุงบางประการ ปัจจุบันจึงอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขเพิ่มเติมของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งยืนยันการขับเคลื่อนภายใต้กฎหมายจะทำให้นโยบายลุล่วง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้
ทั้งนี้ เบื้องต้น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอให้เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. บนเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็น ก่อนรวบรวมเสนอปรับปรุงแก้ไข เลขาธิการ EEC กล่าว และว่า "การทำของใหม่ยากเสมอ เพราะมีคนคัดค้าน แต่หากไปถามคนจีน เวลาทำของใหม่ คนจีนจะถามว่า ทำอย่างไรให้สำเร็จ แต่เมื่อถามคนไทย คนไทยกลับตอบว่า จะทำได้หรือไม่”
ส่วนข้อกังวลว่า EEC ที่ดำเนินการใน 3 จังหวัด ภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จะทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำกับเกษตรกร นายคณิศ ระบุว่า ขณะนี้กรมชลประทานกำลังวางแผนการจัดการทรัพยากรน้ำ ส่วนกระทรวงพลังงานกำลังวางแผนการจัดการพลังงาน ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานยืนยันในระยะเวลา 5 ปี ช่วงการขยายตัวไม่รวดเร็วนักจะไม่ประสบปัญหาขาดแคลน
“ไม่ทำก็เละ กรณีเศรษฐกิจมีการขยายตัวไประยะหนึ่ง แล้วไม่มีการขวนขวาย แต่จะบริหารจัดการแหล่งน้ำอย่างไรนั้น ยังตอบได้ไม่ชัด” เลขาธิการ EEC กล่าว และว่า กรมชลประทานรายงานปัจจุบันมีแหล่งน้ำให้ทดเข้ามาได้ โดยชาวบ้านไม่ได้รับความเดือดร้อน หรือกระทรวงพลังงานเสนอจะสร้างเขื่อนในกัมพูชา อย่างไรก็ตาม บทสรุปของแผนทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 2560
นายคณิศ กล่าวต่อถึงการบริหารจัดการพลังงาน EEC อยากได้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม แต่ในพื้นที่กลับมีจำกัด โดยเฉพาะพลังงานลม ซึ่งมีศักยภาพต่ำ แตกต่างจากเยอรมัน จึงต้องวางแผนอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังอยากเห็นเมืองใหม่ในอนาคต ยกตัวอย่าง พัทยา ถนนริมชายหาดพัทยาต้องเปิดให้สัญจรเฉพาะรถไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งเขตนวัตกรรมภาคตะวันออก (EECi-ระยอง) ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ จะสร้างโดยใช้รถไฟฟ้าทั้งหมด
ทั้งนี้ EEC มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นฐานสะสมการลงทุนและฐานสะสมเทคโนโลยีเพื่อเยาวชนไทย โดยกำหนดเป้าหมายระยะยาว 10 ปี ให้คนไทยทุกระดับมีรายได้สูงขึ้น มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการคิดเป็น และใช้เทคโนโลยีเป็นในการหารายได้ โดยประมาณความต้องการที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม ทั้งสิ้น 5 หมื่นไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.6 ของพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งที่ดินส่วนใหญ่เป็นของกลุ่มทุน ไม่ใช่ของเกษตรกรอย่างที่ปรากฎเป็นข่าว .
อ่านประกอบ:ฟังมุมมอง ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ให้ต่างชาติ “เช่ายาว 99 ปี” ขณะคนในชาติไม่มีที่ดินทำกิน