รองปธ.ศาลปค.สับ รธน.ใหม่ ตั้งแต่เรียนมาไม่เคยเจอระบบ ลต.แบบนี้-คุณสมบัติ รมต.ไม่ชัด
‘วรพจน์ วิศรุตพิชญ์’ รอง ปธ. ศาลปกครองสูงสุด สับ รธน.ฉบับใหม่ ตั้งแต่เรียนหนังสือมายังไม่เคยเจอระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วน แต่เชื่อคงมีสักแห่งที่ใช้ระบบนี้ กรธ. คงไม่ได้จินตนาการเอาเองโดยไม่มีตัวอย่าง ชี้คุณสมบัติ รมต. ไม่ชัดเจน คำว่าซื่อสัตย์-สุจริตโดยประจักษ์เอาอะไรมาวัด
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2560 ศาลรัฐธรรมนูญจัดงานสัมมนาในวาระครบรอบ 19 ปี เรื่อง ‘มิติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่’ โดยเชิญ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายนพดล เฮงเจริญ รองประธานศาลปกครองสูงสุด นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด นายสุทิน นาคพงษ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ เป็นผู้สัมมนา มีนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายวรพจน์ กล่าวตอนหนึ่งสรุปได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบเลือกตั้ง โดยใช้ระบบจัดสรรปันส่วนซึ่งตนอาจจะโง่ก็ได้ที่ตั้งแต่เรียนหนังสือมายังไม่เคยเจอระบบการเลือกตั้งแบบนี้ แต่มันคงจะมีที่ไหนสักแห่งที่ใช้ระบบนี้ กรธ. คงไม่ได้จินตนาการเอาเองโดยไม่มีตัวอย่าง เพราะระบบนี้คงสามารถคำนวณได้
นายวรพจน์ กล่าวอีกว่า ส่วนในมาตรา 77 กำหนดว่า การออกกฎหมายต้องรับฟังความเห็นในทุกขั้นตอน คือการทำประชาพิจารณ์ อาจจะทำให้เป็นอุปสรรค เพราะไม่มีการจำกัดความคำว่า ผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากการออกกฏหมายฉบับหนึ่งย่อมกระทบประชาชนทุกคน จึงถือว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องด้วย ทำให้การออกกฏหมายจะล่าช้า และอาจมีการทำแบบผักชีโรยหน้าเต็มไปหมด ขณะที่มาตรา 26 กำหนดว่า การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กรณีรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดหลักนิติธรรม ควรมีการระบุเหตุผลในการจำกัดสิทธิไว้ในกฎหมายด้วย หรือเขียนไว้ในหมายเหตุของกฎหมายลูก หรือใน พ.ร.บ.
รองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า การกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยเฉพาะมาตรา 160 (4) ที่ระบุว่า ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ไม่รู้ว่าหมายถึงคนชนิดไหนกันแน่ เพราะทุกคนถ้าไม่เคยโดนลงโทษทางวินัย หรืออาญา ตามมาตรา 157 ก็ไม่มีเหตุบอกว่า บุคคลดังกล่าวไม่มีความซื่อสัตย์ สุจริต และที่กำหนดว่าต้องเป็นที่ประจักษ์นั้น ถ้าคน ๆ นั้นไม่เคยไปพูดโม้หรือโฆษณาตัวเอง จะถือว่าเขาไม่มีความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ เอาอะไรมาวัด รวมถึงมาตรา 160 (5) ระบุว่า ต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ขอฝากไปยังศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ร่างมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ต้องกำหนดให้ชัดว่า พฤติการณ์ลักษณะใดเข้าข่ายฝ่าผิดจริยธรรม และผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง เช่น กรณีการกินของหวานที่แม่ฮ่องสอน ถือว่าผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่
อ่านประกอบ : หลักนิติธรรมยาศักดิ์สิทธิ์ปราบโกง! ‘วิษณุ’ชี้ต่อไปไทยมี 3 เส้นทางสู่ปฏิรูป-ปรองดอง