- Home
- Isranews
- เวทีทัศน์
- หลักนิติธรรมยาศักดิ์สิทธิ์ปราบโกง! ‘วิษณุ’ชี้ต่อไปไทยมี 3 เส้นทางสู่ปฏิรูป-ปรองดอง
หลักนิติธรรมยาศักดิ์สิทธิ์ปราบโกง! ‘วิษณุ’ชี้ต่อไปไทยมี 3 เส้นทางสู่ปฏิรูป-ปรองดอง
‘วิษณุ เครืองาม’ ปาฐกถาเปิดงานครบ 19 ปี ศาล รธน. เปรียบยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่อดทนเสียงวิจารณ์มาตลอด ยกหลักนิติธรรมคือยาศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในการใช้ปราบโกง เผยอนาคตไทยเหลือ 3 เส้นทางเดิน รบ.หน้า-หน่วยงานรัฐต้องทำตามแนวทาง ป.ย.ป. ‘ปฏิรูป-ยุทธศาสตร์ชาติ-ปรองดอง’
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2560 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถา หัวข้อ ‘หลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่’ ในงานสัมมนาเนื่องในวาระศาลรัฐธรรมนูญครบรอบ 19 ปี สรุปได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นผู้เยาว์ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังต้องเรียนรู้อะไรอีกหลายอย่าง เป็นธรรมดาของผู้มีปัญญาที่ต้องเรียนรู้ รับฟังความเห็น เสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะคำวินิจฉัย หรือผลงาน อาจกระทบกับฝ่ายใด หรือคนใด ย่อมนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นธรรมดา หากใครดูย้อนหลังไปจะเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่ายุคใด สมัยใด ตลอด 19 ปี ท่านมีความอดทนอดกลั้น มีความสงบเพื่อใช้สยบความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้อย่างงดงาม จนเป็นที่กล่าวถึงในวงการต่าง ๆ ว่า สงบเงียบได้ด้วยความอดทนไม่ใช่เล่น
นายวิษณุ กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยอยู่กับคำว่าหลักนิติธรรมค่อนข้างบ่อย ถึงจะบอกว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ปรากฏมาก่อนในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ สิ่งใดที่รู้จัก และเข้าใจกันในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ มันจะไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ กับที่จะพูดหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ความต่างหากพึงมี คือความเข้มข้น ยิ่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญบอกมาหลายเดือนแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับปราบโกง เป็นฉบับที่ใช้ยาแรง คำว่ายาแรง หรือปราบโกง คงไม่ได้หมายถึงจับผิดผู้ทุจริตคิดร้าย เพราะถ้าย้อนถามว่า จะปราบโกงหรือจะยาแรง ยาคืออะไร อาวุธอะไรที่จะไปปราบโกง อาวุธอะไรที่ทำให้บ้านเมืองสะอาดราบเรียบ อาวุธอะไรสร้างปรองดอง อาวุธอะไรที่ใช้ปฏิรูป คำตอบอาจมีหลายอย่าง แต่ตัวยาอย่างหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นตัวยาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดสำหรับใช้ในการปราบโกง สำหรับใช้เป็นตัวยาที่แรง และจัดระเบียบประเทศ
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ต่อไปนี้เส้นทางของประเทศมี 3 เส้นทางเท่านั้น คือการปฏิรูป การเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคี ปรองดอง นายกฯ ถึงรู้อย่างนี้ เลยตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ขึ้น ป. แรกคือปฏิรูป ย. คือยุทธศาสตร์ชาติ และ ป. สุดท้ายคือปรองดอง คณะกรรมการถูกตั้งขึ้นแล้วเพื่อเตรียมการผ่องถ่ายภารกิจนี้ต่อไปให้รัฐบาลหน้าก็ดี องค์กร กรรมการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นเพื่อทำภารกิจของรัฐสำคัญ 3 ประการนี้
“เครื่องมือที่จะเอาไปใช้ในการทำภารกิจ 3 ประการ คือเครื่องมือเดียวที่ กรธ. (คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) บอกว่าเป็นยาแรง และปราบโกง ยามีหลายตัว แต่ตัวสำคัญตัวหนึ่งคือหลักนิติธรรม หลักนิติธรรม จะทำให้บ้านเมืองปรองดองได้ ปฏิรูปเดินได้ การก้าวไปสู่เป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติบรรลุผลได้ หลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นเรื่องดีกรี หรือความเข้มข้นได้นำมาใช้” นายวิษณุ กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เขียนคำว่าหลักนิติธรรมไว้ 2 แห่ง คือ มาตรา 3 วรรคสอง พูดถึงหลักนิติธรรมว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และตามหลักนิติธรรม แค่นี้ก็หมดประเทศแล้ว นึกไม่ออกมีใครเล็ดลอดไม่ต้องใช้หลักนิติธรรม ที่รอดคือคนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ คือประชาชน แต่ความจริงประชาชนก็ต้องมีหลักนิติธรรม ส่วนมาตรา 26 ระบุว่า กฎหมายอาจจะตราขึ้นมาเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพได้ ถ้ารัฐธรรมนูญอนุญาต แต่ต้องตราให้ถูกต้องตามเงื่อนไข เข้าตามตรอกออกตามประตู รัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพนั้น แต่มีข้อยกเว้น ถ้าจะออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพูด เขียน พิมพ์ โฆษณา ต้องออกให้ตรงเงื่อนไข อย่านึกว่าจะออกกฎหมายอะไรได้ตามใจชอบ แต่ให้ออกกฎหมายอย่างสอดคล้อง หรือเป็นไปตามหลักนิติธรรม
“มาถึงบัดนี้ต้องเข้าใจว่า หลักนิติธรรมใช้กับฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ใช้อย่างไร ในเวลาทำงาน คิด พูด แสดงผลงานอะไรออกมา ผลงานของรัฐบาลคือการบริหารราชการแผ่นดิน ผลงานออกกฎหมายคือนิติบัญญัติ และผลงานของศาลคือวินิจฉัยคดี และการออกกฎหมายต้องสอดคล้องกับหลักนิติธรรมทั้งนั้น ถ้าไม่สอดคล้องจะเกิดผลร้าย เกิดสภาพบังคับต่าง ๆ บางเรื่องนำไปสู่การถูกวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ใช้ไม่ได้ บางเรื่องอาจเกิดเป็นฐานฟ้องร้องอย่างอื่นต่อไป เหตุไม่ปฏิบัติตามหลักนิติธรรม” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว