ดร.อรรถจักร์ วิพากษ์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 รัฐกำลังถีบแรงงานกลุ่มหนึ่งตกเวที
ดร.อรรถจักร์ วิพากษ์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 รัฐกำลังถีบแรงงานกลุ่มหนึ่งตกเวที ทั้งที่สิ่งควรทำ คือ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน ด้านค่าแรงขั้นต่ำมองว่าควรเพิ่มสอดรับค่าครองชีพ
ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงทิศทางการพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ว่า สิ่งสำคัญมากกว่าคือ แรงงาน4.0 ไม่ใช่แค่การสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่ทำให้ระบบการจัดการทั้งหลายในประเทศนี้ ทำให้คนทำงานมีความสุข และมีโอกาสก้าวหน้าในงานของตัวเอง
"ถ้านิยามแรงงาน4.0 แบบรัฐนิยาม นั่นหมายความว่า คุณกำลังถีบคนกลุ่มหนึ่งในระบบแรงงานให้ตกเวทีไป ทำไมไม่คิดใหม่ว่า หากจะคิดเรื่องแรงงาน 4.0 หัวใจหลักคือทำให้แรงงานทุกระดับสามารถที่จะพัฒนาความสามารถไปให้สูงที่สุดและชีวิตมีความสุข ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานที่สมดุลกัน
นโยบายเรื่องการจัดการส่วนนี้ รัฐต้องคิดใหม่ อย่ามัวแต่จะคิดถึงเรื่องไปสู่ดิจิทัลอย่างเดียว เพราะนั่นหมายความว่าคุณไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่" ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าว และว่า เรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ เห็นด้วยที่มีการพยายามเรียกร้องค่าแรง 400 บาท ที่ควรเป็นขั้นต่ำ อย่างนายทุนภาคผลิตกลัวว่าหากเพิ่มค่าแรงจะทำให้การผลิตสะดุด
ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวอีกว่า นายทุนกำลังผลักภาระทั้งหลายให้ตกมาอยู่ในบ่าของแรงงาน ด้วยการกดค่าแรง ทั้งๆ ที่นายทุนเหล่านี้ หากคิดดูให้ดีว่าคนทำงานทั้งหลาย มีรายได้มากขึ้น เขาก็จะบริโภคมากขึ้น ผลผลิตก้จะขายดีมากขึ้น
"ผมคิดว่า 400 บาทอาจจะน้อยไปด้วยซ้ำ แต่อย่างไรก็ดี 400 บาทก็พอจะเลี้ยงตัวเองให้รอดได้ อย่างไปคิดถึงการมีลูกมีเต้า”
ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวด้วยว่า ก่อนจะคิดถึงการเพิ่มลูกช่วยชาติ ต้องคิดรวมไปถึงพี่น้องแรงงานต่างชาติ ที่เข้ามาทำงานในระดับล่าง เราต้องมีนโยบายที่มีเมตตา มองเห็นเขาเป็นเพื่อนมนุษย์ เพื่อให้พวกเขายังอยู่กับเรา ตอนนี้แรงงานข้ามชาติถูกมองว่าในสายตาที่ไม่ค่อยเป็นมนุษย์มากนัก หรือแม้กระทั่งพี่น้องชาวไทใหญ่ กลุ่มชาติพันธุ์ที่เขาก็อยากเป็นคนไทย ทำไมเราไม่ดูเเลเขาดีๆ ทำให้เขาเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสร้างชาติ
“อย่างโรงเรียนรอบนอกในเชียงใหม่ ที่มีเด็กจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทำไมเราไม่ดึงคนเหล่านี้เข้ามา สร้างชาติ ก่อนที่เราจะมีนโยบายเพิ่มลูกช่วยชาติ ไทยแลนด์ 4.0 ถ้าจะมีนโยบายนี้จริง ต้องมองเห็นแรงงานคนไทยและพี่น้องแรงงานข้ามชาติในฐานะมนุษย์”
อ่านประกอบ
นักธุรกิจเพื่อสังคม ห่วงคนไทยมีความสุขน้อยลง ส่งผลต่อฝีมือแรงงาน
นิด้าโพลเผย แรงงาน 50% อยากให้รัฐเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสอดรับค่าครองชีพที่สูง
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากhttp://th.aectourismthai.com/